5 ภัณฑารักษ์ แห่ง Bangkok Art Biennale 2018 ผู้คัดเลือกศิลปินเข้าร่วมสร้างสรรค์กรุงเทพฯเป็นเมืองศิลปะร่วมสมัย

“เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่” หรือ Bangkok Art Biennale 2018” (BAB 2018) ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงกุมภาพันธ์ 2562 มีการเผยรายละเอียดกันอีกระลอก หลังจากก่อนหน้านี้จัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วใน Venice Biennale และจัดแถลงข่าวในไทยไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่หอศิลปฯ กรุงเทพฯ (บรรยากาศในงานแถลงข่าว) ขณะที่คนในแวดวงศิลปะของไทยเฝ้ารองานนี้ด้วยความตื่นเต้น กลุ่มคนเบื้องหลังก็ตื่นตัวเริ่มต้นกระบวนการทำงานกันอย่างขะมักเขม้นเช่นกัน ซึ่งวันนี้ (18 สิงหาคม 2560) เป็นครั้งแรกของการแนะนำทีมภัณฑารักษ์ 5 คน ที่มาอยู่กันพร้อมหน้าเพื่อลงสำรวจพื้นที่ใช้จัดงานภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ หนึ่งในหลายหมุดหมายสำคัญของ BAB 2018

Bangkok Art Biennale 2018

คำว่า เบียนนาเล่ (Biennale) หรือ ไบแอนเนียล (Biennial) หมายถึง ทุกสองปี หมายความว่า เทศกาลแสดงผลงานศิลปะระดับนานาชาติทั่วโลกที่เรารู้จักกันดี เช่น Venice Biennale, Biennale de Paris, Berlin Biennale เป็นต้น ต่างจัดขึ้นเป็นประจำทุกสองปี และล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันไป สิ่งนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับการจัดงาน BAB ครั้งแรกในไทยโดยมีหมุดหมายของงานกระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพฯ อาทิ พื้นที่สำคัญทางมรดกทางวัฒนธรรมบริเวณเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และ อาคารอีสท์เอเชียติก รวมถึงพื้นที่ใจกลางเมือง เช่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี, ศูนย์การค้าสยามพารากอน, One Bangkok และสวนลุมพินี เป็นต้น โดยบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ตั้งใจจะจัดขึ้นทุกสองปีครั้งอย่างน้อย 3 หนหรือ 6 ปีต่อไปจากนี้

Beyond Bliss

ภายใต้กรอบแนวคิด “สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต” (Beyond Bliss) ภัณฑารักษ์เปิดโอกาสให้ศิลปินได้ตีความและบันทึกความหลากหลายทางวัฒนธรรมในมุมมองของตัวเอง ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานที่สอดผสานไปกับบริบทพื้นที่ในรูปแบบศิลปะนานาชนิด โดยมีเนื้อหาเชื่อมโยงกับความปรารถนา ความสุขกายและจิตใจ การแสวงหาวิธีกำจัดทุกข์ และการรับแรงบันดาลใจจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งยังสามารถแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการขาดความสุขอันเนื่องมาจากสภาพสังคม การเมือง และสภาวะการทำลายธรรมชาติ ทั้งนี้ทีมภัณฑารักษ์จะร่วมกันคัดเลือกผลงานจากศิลปินทั่วไปที่ส่งเข้ามาทางเว็บไซต์ www.bkkartbiennale.com ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นมาไปจรดวันสุดท้ายคือ 30 กันยายน 2560 นี้ มาจัดแสดงในเทศกาลพร้อมด้วยศิลปินรับเชิญ ซึ่งจะทำให้ BAB 2018 มีศิลปินรวมกว่า 70 ชีวิตโดยแบ่งเป็นศิลปินชาวไทย 35 คน และศิลปินต่างชาติ 35 คน

จากซ้าย: คุณลักขณา คุณาวิชยานนท์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรรเสริญ มิลินทสูต, ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์, คุณ Patrick D. Flores และคุณ Adele Tan ; Curatorial Team สำหรับงาน Bangkok Art Biennale 2018

Curatorial Team

ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆ ที่ผลงานศิลปะของใครจะฝ่าด่าน 5 ภัณฑารักษ์เหล่านี้ไปได้ นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์บางกอกอาร์ตเบียนนาเล่, คุณลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรรเสริญ มิลินทสูต คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และประธานกรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, คุณ Patrick D. Flores ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาศิลปะที่ The Department of Art Studies, University of the Philippines และคุณ Adele Tan ภัณฑารักษ์แห่ง National Gallery Singapore ซึ่งแต่ละคนจะนำประสบการณ์ที่ข้นคลักในวิชาชีพมาช่วยคัดเลือกศิลปินเข้าร่วมสร้างสรรค์กรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมืองศิลปะร่วมสมัย เพื่อสร้างหมุดหมายใหม่ของคนหัวศิลป์ทั่วโลกให้มารวมตัวกันที่ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งที่ 1 ร่วมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วุฒิกร คงคา หัวหน้าภาควิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการประสานงานกับศิลปิน สำหรับการขนย้ายและติดตั้งงานศิลปะซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความละเอียดอ่อนในงานนี้

ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ มองว่าแนวคิด สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต หรือ Beyond Bliss จะปลุกพลังให้งานศิลปะสามารถเยียวยาจิตใจและช่วยสื่อสารกับสังคมได้ “ความสุขมีหลากหลายมิติ ความรัก ความสบายใจ ความสงบ หรือแม้แต่ความสุขผ่านการเดินทาง การจะมีความสุขได้จะต้องมีสิ่งที่ทำให้ลดความทุกข์ในสังคม การเมือง หรือข่าวสารที่เข้ามาปะทะกับเราซึ่งเป็นข่าวที่เศร้าสลด ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศที่กำลังขาดความสุข เพราะฉะนั้นเราจึงเปิดโอกาสให้ศิลปินสามารถตีโจทย์ได้ด้วยว่าจะเอาศิลปะมาช่วยเยียวยาจิตใจและช่วยสื่อสารกับสังคมได้อย่างไร อีกทั้งเรามองว่า ฺBAB จะเป็นมิติใหม่ของการมาเยือนเมืองไทย และศิลปะร่วมสมัยจะเป็นอีกเรื่องที่ทำให้เกิดความน่าสนใจยิ่งขึ้น” หัวเรือใหญ่แห่งบางกอกอาร์ตเบียนนาเล่ กล่าว

เช่นเดียวกับคุณ Adele Tan ที่เห็นพ้องในทำนองเดียวกันว่า BAB เป็นโอกาสอันดีของกรุงเทพฯ และประเทศไทยที่จะเชื่อมโยงงานศิลปะให้เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายใหม่ของการท่องเที่ยว เธอกล่าวว่า “ดิฉันมีโอกาสมาเมืองไทยหลายครั้งในฐานะนั่งท่องเที่ยว รวมถึงได้คัดเลือกผลงานของศิลปินไทยหลายคนไปจัดแสดงที่ National Gallery Singapore แต่คราวนี้ดิฉันมาในฐานะภัณฑารักษ์ จึงต้องพยายามทำความเข้าใจกับสถานที่จัดแสดงผลงานมากขึ้น และมุ่งมั่นที่จะช่วยให้งานนี้บรรลุเป้าหมาย” 

ในขณะที่คุณ Patrick D. Flores มองลึกลงไปว่า “งานศิลปะระหว่างภูมิภาคเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน แต่ก็สะท้อนไปถึงความคิดและตัวตนที่ชัดเจน งานศิลปะจึงเป็นสิ่งที่ศิลปินต้องพยายามสื่อสารกับผู้คน ปลดปล่อยความคิดในเชิงสร้างสรรค์ และไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง”  

ทางด้านคุณลักขณา คุณาวิชยานนท์ ร่วมเผยมุมมองถึงแวดวงศิลปะในภูมิภาคอาเซียนที่มีความตื่นตัวมากขึ้นไว้ว่า “ในขณะที่เมื่อก่อนกิจกรรม(ทางศิลปะ)ต่างๆ มักจะถูกริเริ่มโดยประเทศทางตะวันตก แต่ในระยะหลังเราเริ่มหันมาร่วมมือกันทำนิทรรศการ หรือแลกเปลี่ยนศิลปินไปพำนัก ข้ามพ้นปัญหาเศรษฐกิจ ความขัดแย้งต่างๆ ศิลปะจะเป็นตัวเชื่อมให้เราเข้าใจกันมากขึ้น เพราะจริงๆ เรามีมรดกทางวัฒนธรรมที่สามารถแบ่งปันร่วมกันในหลายๆ เรื่อง บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จะเป็นอีกงานหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าแต่ละสถาบันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มทำงานด้วยกันมากขึ้น”

ในขณะที่ศาสตราจารย์ สรรเสริญ มิลินทสูต เสริมว่า “เมื่อมองในฐานะผู้จัดจึงไม่ใช่แค่ว่าการเลือกศิลปินมาจัดแสดง แต่เป็นการเอาความคิดหรือประเด็นบางอย่างทางด้านสังคมและศิลปะมาเชื่อมโยงต่อกัน ดังนั้นความสุขสะพรั่งน่าจะสะท้อนให้เห็นมุมมองทางด้านศิลปะที่เป็นมุมมองของคนเอเชีย เป็นโอกาสในการแสดงออกที่จะสื่อสารต่อสังคม ในความเป็นนานาชาติในภูมิภาคของเราด้วย”

สุดท้าย ผศ.วุฒิกร คงคา มองว่า BAB คือโอกาสของคนไทยที่จะได้เห็นและเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยในระดับนานาชาติอย่างใกล้ชิด และทำให้นานาชาติหันกลับมามองเมืองไทยเป็นอีกหนึ่งบริบทที่เสริมให้งานศิลปะเกิดความสร้างสรรค์ “ทั้งโลกที่เคยจัดเบียนนาเล่จะได้รู้ว่ามีอีกหนึ่งเบียนนาเล่เกิดขึ้นที่นี่ สิ่งนี้จะเป็นก้าวกระโดดที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ งานศิลปะพอย้ายที่ความหมายเปลี่ยน งานชิ้นเดียวกันหมุนเวียนไปจัดคนละที่ก็ต่างความรู้สึก ต่างความคิด ต่างบริบท สิ่งนี้จะทำให้ผู้ชมในระดับนานาชาติที่มาชมจะเกิดความรู้สึกใหม่ หรือคนไทยเองที่มาชมก็จะเกิดประสบการณ์ใหม่ว่างานศิลปะร่วมสมัยคืออะไร มาตั้งอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ได้อย่างไร ในระดับการศึกษาจะเป็นประวัติศาสตร์ศิลป์หน้าใหม่ของวงการศิลปะไทย จะทำให้กิดงานขนาดใหญ่ขึ้นซึ่งเป็นงานที่ทำกับแหล่งชุมชนอีกทางหนึ่ง น่าตื่นเต้นที่บริบทของพื้นที่ รวมถึงแนวคิดหลักจะเป็นโจทย์ให้ทั้งภัณฑารักษ์และศิลปิน ได้ร่วมกันตีความหมาย หาจุดเชื่อมผ่านการสร้างสรรค์งานศิลปะในพื้นที่ต่างๆ ออกมาเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ชมได้อย่างไรให้เกิดความเชื่อมโยง”

ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์บางกอกอาร์ตเบียนนาเล่ Bangkok Art Biennale 2018
คุณลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรรเสริญ มิลินทสูต คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และประธานกรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
คุณ Patrick D. Flores ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาศิลปะที่ The Department of Art Studies, University of the Philippines
และคุณ Adele Tan ภัณฑารักษ์แห่ง National Gallery Singapore
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วุฒิกร คงคา หัวหน้าภาควิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
กลุ่มคนเบื้องหลังเทศกาลศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติครั้งแรกของเมืองไทย

ย้ำอีกครั้งสำหรับศิลปินทั่วไปที่สนใจส่งผลงานเข้าร่วมการคัดเลือก สามารถส่งมาที่ www.bkkartbiennale.com ภายในวันที่ 30 กันยายน ศกนี้เท่านั้น สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือโทร.0-2785-5896 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-17.00 น.


เรื่อง : Nawapat D.
ภาพ : ธนกิตติ์ คำอ่อน

Venice Biennale 2017: ศิลปะเป็นสิ่งมีชีวิต และหัวใจของมันยังเต้นแรงอยู่