ประสาน “รัก” ให้เป็น ลวดลายไทย ที่งดงาม

กรรมวิธีลงรักปิดทองแบบโบราณ

สมัยก่อนเรายังไม่มีกระดาษทราย ไม่มีพู่กัน ไม่มีเครื่องมือทันสมัย ดังนั้นอุปกรณ์การทำงานจึงหยิบของใกล้ตัวมาใช้ ลองไปดูกรรมวิธีของงานนี้กันครับ

การเตรียมพื้นรัก ทำความสะอาดพื้นผิวที่จะลงรักปิดทอง โดยนำกะลามะพร้าวมาเผาให้เป็นถ่าน แล้วบดให้ละเอียด นำไปผสมกับรักเพื่อปิดร่องรอยบนพื้นผิวให้เรียบ จากนั้นนำกระเบื้องดินเผามาบดให้ละเอียดแล้วนำไปกรองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำผงกระเบื้องมาขัดกับงานที่ผ่านการปิดร่องรอยแล้วซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลานานมากในการขัดให้เรียบ จากนั้นทาทับด้วยรัก ก่อนจะนำรักไปบ่มต่อไป

การบ่มรัก ต้องนำไปใส่ตู้บ่มในที่ที่มีอากาศชื้น รักจะแห้งเร็วเวลาที่ใช้บ่มรักนั้นนานเกือบเดือน เพื่อที่เวลาทำรักแล้วจะได้งานที่สวยงาม

การเขียนลาย บดหรดาลให้ละเอียด แล้วกรองเอาสิ่งสกปรกออก ก็จะได้เนื้อหินที่ละเอียด นำไปผสมกับน้ำฝักส้มป่อยและกาวกระถิน จากนั้นนำมาเขียนลายลงบนพื้นผิวรัก

การถอนรัก เมื่อเขียนลายเสร็จแล้ว ก็นำรักส่วนหนึ่งมาเคี่ยวให้สุก แล้วนำไปผสมกับน้ำมันก๊าดเพื่อทาบนพื้นผิวรักที่เตรียมไว้เมื่อทาเสร็จแล้วก็จะเป็นขั้นตอนการถอนรักโดยนำผ้ามาเช็ดแล้วจึงปิดทองให้ทั่วจากนั้นจึงนำไปทำลายรดน้ำเพื่อให้เกิดลวดลายอย่างที่ทำไว้

ปัจจุบันการหารักแท้นั้นหายากมาก เพราะว่าราคาแพง กว่าจะได้น้ำยางรักต้องใช้ไม้แหลมตอกเข้าไปที่ต้นรัก เรียกว่าเป็นการ “ตอกรัก” เพื่อให้น้ำยางรักไหลออกมา โดยหาภาชนะพลาสติกไปรอง น้ำยางรักจะมีสีน้ำตาลเมื่อทิ้งไว้สักพักจะออกสีดำ เพียงเท่านี้ก็จะได้รักแท้เพื่อนำไปใช้ทำลายรดน้ำและลงรักปิดทองกันแล้ว

 

ขอขอบคุณ
อาจารย์ประมวญ ศิริวงษ์

เรื่อง: “ไตรรัตน์ ทรงเผ่า”
ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข