Jungle Book ป่าศึกษา

หลายคนคงได้ยินข่าวคราวของ “โครงการป่าในกรุงโดย ปตท. ผ่านสื่อหลายแขนงกันมาพอสมควร บางคนอาจกำลังตัดสินใจว่าควรไปชมดีหรือไม่ ครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ผมได้ไปเยือนและเก็บภาพรวมของโครงการดังกล่าวมาฝากคุณผู้อ่านทุกท่านกันครับ

โครงการป่าในกรุงตั้งอยู่บนถนนสุขาภิบาล 2 ในเขตชานเมืองของกรุงเทพมหานคร บนพื้นที่กว่า 12 ไร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกป่าตามวิถี ปตท. ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการปลูกป่า 1 ล้านไร่ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ให้แก่ประชาชนทั่วไปและนักศึกษาที่สนใจ ทันทีที่เข้ามาภายในโครงการผมรู้สึกได้ถึงความเย็นสบายจากพื้นดินชุ่มน้ำใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ แตกต่างกับความร้อน

จากไอแดดของถนนคอนกรีตด้านนอก พื้นทางเดินหญ้าสีเขียวทอดนำไปสู่ทางเดินที่ขนาบด้วยนิทรรศการเมล็ดพันธุ์แห่งป่าที่จัดวางตลอดแนวผนังดินบดอัดสีสวย ก่อนนำไปสู่อาคารนิทรรศการที่จัดแสดงนิทรรศการน่าสนใจมากมาย ตั้งแต่บอกเล่าถึงสภาพป่าเดิมในกรุงเทพมหานคร อันเป็นที่มาของชื่อย่านต่างๆ ไปจนถึงห้องฉายภาพยนตร์ปลุกจิตสำนึกเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในเมือง อาคารแห่งนี้ยังมีพื้นที่ดาดฟ้าซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันความร้อนให้เข้าสู่ตัวอาคารน้อยลง และยังเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนและชมวิวทิวทัศน์ของโครงการอีกจุดหนึ่งด้วย

ส่วนพื้นที่ภายนอกจัดเป็นสวนป่าเลียนแบบระบบนิเวศเดิมของพื้นที่บริเวณนี้คู่กับบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่จัดให้มีระบบหมุนเวียนน้ำและความลึกในระดับต่างกัน เพื่อให้เกิดลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่ริมน้ำ ป่าน้ำตก เขาหินปูน ป่าดิบลุ่มไปจนถึงป่าเบญจพรรณ โดยเราสามารถศึกษาระบบนิเวศต่างๆ ในป่าได้จากการเดินบนทางเดินชมเรือนยอด (skywalk)

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญและน่าสนใจไม่น้อยคือลักษณะและรูปแบบการสร้างป่านิเวศตามแนวคิดของ ศาสตราจารย์ ดร.อาคิระ มิยาวากิ ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 – 3 ปีในการสร้างป่าที่สมบูรณ์ มีหลักการง่ายๆ ที่สามารถทำตามได้ไม่ยาก เริ่มต้นจากการสร้างเนินดินและเตรียมดิน โดยดินชั้นล่างเป็นดินเหนียวที่มีความเป็นกรดเล็กน้อย จากนั้นถมดินชนิดเดิมแต่ผสมทรายขี้เป็ดในอัตราส่วน 2:1 ส่วนชั้นบนถมดินที่มีค่าเป็นกลางผสมดินแกลบ ขุยมะพร้าว และปุ๋ยคอกที่ตากแดดไว้อย่างน้อย 1 สัปดาห์ ผสมกันในอัตราส่วน 3:2:1 หลังจากสร้างเนินดินเสร็จให้ทิ้งไว้ 3 – 4 สัปดาห์ เพื่อให้เกิดกระบวนการหมัก จากนั้นนำกล้าไม้พื้นเมืองที่เพาะด้วยเมล็ดจนมีระบบรากแข็งแรงดีและมีความสูง 80 – 100 เซนติเมตรลงปลูก โดยนำกล้าไปจุ่มน้ำจนชุ่ม ปลูกให้ได้ระยะห่างกันประมาณ 3 – 4 ต้นต่อตารางเมตร และปลูกแบบสุ่ม ไม่ต้องเป็นแถวหรือเป็นแนว โดยผสมผสานต้นไม้หลายระดับ ทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้คลุมดิน นอกจากนี้ยังมีเทคนิคอื่นๆ อีก อย่างการใช้ฟางข้าวหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้คลุมดินเพื่อให้เกิดความชื้นอยู่เสมอ ใช้เชือกฟางยึดต้นกล้ากับไม้ไผ่ที่เหลาตรงเป็นไม้หลัก ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งต้องไม่ปล่อยให้ดินแห้ง และกำจัดวัชพืชในช่วงปีแรก ต่อมาในปีหลังเมื่อต้นไม้เจริญเติบโตแล้ว ระบบนิเวศจะควบคุมปริมาณวัชพืชเอง

หลังเดินชมพรรณไม้จนเกือบครบเส้นทางผมยังแวะชมวิวทิวทัศน์รอบๆ บนหอชมป่า ซึ่งเป็นหอสูงที่โดดเด่นที่สุดในโครงการ สร้างไว้สำหรับใช้เป็นจุดชมเรือนยอดของต้นไม้ จากกล้าต้นเล็กๆ เราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทุกครั้งที่มาเยือนจนกระทั่งต้นโตเต็มที่ แม้โครงการนี้จะเป็นเพียงแค่พื้นที่สาธารณะสำหรับคนเมือง แต่ก็มีส่วนช่วยสร้างระบบนิเวศเดิมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ทว่าจุดสีเขียวเล็กๆ จุดหนึ่งบนพื้นคอนกรีตขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานครจะสามารถเติมเต็มสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนกรุงได้เพียงพอหรือไม่ โครงการสร้างระบบนิเวศที่ดีและยั่งยืนแบบนี้จะหยุดหรือขยายใหญ่ต่อไปกลายเป็นป่าใหญ่ในเมืองได้แค่ไหน คงเป็นสิ่งที่ทดสอบศักยภาพของคนกรุงและผู้ที่เกี่ยวข้องกันต่อไป

เรื่อง : “ปัญชัช”

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ