Modern Zen & Tropical Rainforest สัมผัสที่แตกต่างใน สวนธรรมชาติ

เมื่อสอบถามถึงแนวคิดการออกแบบและขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ กับผู้ออกแบบจนกลายเป็นสวนสวยสมบูรณ์น่าใช้อย่างที่เห็น คุณวุฒิมีเทคนิคดีๆและเกร็ดความรู้ต่างๆ มาเล่าให้ฟังว่า “เริ่มแรกเลยก็เปลี่ยนสภาพสวนเดิมออกทั้งหมดครับ แล้ววางตำแหน่งส่วนต่างๆ ให้เหมาะสำหรับการใช้งาน โซนสวนด้านหน้าผมออกแบบในรูปแบบเรียบโปร่ง ดูสงบนิ่งแบบโมเดิร์นเซน ค่อยๆ มาผสานกับความชุ่มชื้น ความร่มรื่นของสวนป่าทรอปิคัลที่อยู่ด้านหลัง เมื่อเข้ามาในสวนจึงสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่หลากหลาย ดูแตกต่างแต่กลมกล่อม และเป็นองค์ประกอบเดียวกัน

“สำหรับงานฮาร์ดสเคปทั้งบ่อปลา น้ำตก และลำธาร ผมได้ คุณประวัติ แม่นใจ มาช่วยดูแลให้ เราใช้วิธีลงเสาเข็มหกเหลี่ยมลึกในระดับกลาง เฉลี่ยทุกระยะ 1 ตารางเมตร และมีการทำฐานแผ่ด้านบน แล้วผูกเหล็กเชื่อมโยงกันเพื่อความมั่นคงของโครงสร้างสวน อย่างขอบบ่อเลี้ยงปลาที่เป็นหินก้อนใหญ่ ผมเลี่ยงการกดรับน้ำหนักโดยใช้หินเทียม ซึ่งทำเท็กซ์เจอร์คล้ายหินจริง แต่มีน้ำหนักเบากว่ามาก และได้ติดตั้งระบบบ่อกรองไว้ใต้เดคไม้ ซึ่งเป็นตำแหน่งท้ายสุดของบ่อปลา แบบซ่อนไว้กลมกลืน ไม่เปลืองพื้นที่ใช้สอย อยู่บริเวณหน้าเรือนรับรองปูนเปลือยสไตล์โมเดิร์นหลังนี้

“ลักษณะการสร้างธารน้ำ ปั้นรากไม้ และชั้นน้ำตก ผมอาศัยการเรียนรู้และประสบการณ์จากการศึกษาระบบนิเวศตามธรรมชาติ ซึ่งเมื่อก่อนผมเข้าป่าปีละครั้งไปนั่งดูการไหลเวียนของสายน้ำ รวมทั้งการซ้อนทับของชั้นหิน แล้วนำมาปรับใช้ในงานออกแบบ

“ส่วนสำคัญอีกเรื่องคือการเลือกใช้พรรณไม้ เพราะชนิด สีสัน รูปฟอร์ม และลักษณะใบช่วยสร้างความรู้สึกและกำหนดอารมณ์ของสวนได้ อย่างไม้ยืนต้น ผมเลือกใช้ชนิดที่ไม่ค่อยผลัดใบ เพื่อไม่เป็นภาระการดูแลของเจ้าของสวนในภายหลัง เช่น หว้า มั่งมี กระบก ฯลฯ บริเวณที่เป็นสวนโมเดิร์นเซน ผมจึงเน้นพรรณไม้ที่มีฟอร์มพุ่มเรียบๆ มีผิวสัมผัสละเอียด ไม่มีสีสันมากนัก เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่สงบ เช่น มอสส์ หนวดปลาดุกแคระ ไทรปัตตาเวีย แล้วแซมด้วยสีขาวของดอกพุดเพิ่มความน่าสนใจ แต่เมื่อเริ่มเปลี่ยนอารมณ์เข้าสู่โซนสวนป่าทรอปิคัล ผมจะเลือกใช้พรรณไม้ที่มีใบมันเงาสีเขียวสดอย่างต้นจิก เสม็ดแดง บริเวณใกล้น้ำตกปลูกไคร้ป่า ไคร้น้ำตกใบยอ ไคร้มะเดื่อ สวนก็ยิ่งดูชุ่มชื้น แล้วแซมเพิ่มสีสันด้วยไม้ดอกอีกนิดหน่อย และใช้พรรณไม้ที่มีลักษณะเป็นเส้นสายอิสระเพื่อทำให้สวนดูนุ่มนวล นอกจากนี้การจัดกลุ่มพรรณไม้ต้องแบ่งเลเยอร์เป็น 3 ระดับหลักๆ คือ ไม้ใหญ่ระดับสูง แล้วก็สเต็ปกลาง คือพวกหอมหมื่นลี้  พุดสามสี ฯลฯ ระดับล่างสุด ได้แก่ พวกไม้พุ่มเตี้ย และไม้คลุมดิน ซึ่งในแต่ละระดับก็สามารถแทรกเลเยอร์ซ้อนเข้าไปได้อีก แต่หากมากเกินพอดีอาจเกิดปัญหาของสเปซที่จะทึบและดูอึดอัดเกินไป ต้องฝึกฝนบ่อยๆจนชำนาญ ก็ได้ คุณสุรวุธ คำลือ มาช่วยจัดการครับ

“สวนนี้ดูแลไม่ยุ่งยากครับ ส่วนใหญ่มีแค่งานถอนวัชพืชที่ขึ้นแซมเก็บกวาดใบไม้เล็กๆ น้อยๆ และฉีดยากันหนอนเท่านั้นเอง เพราะได้ติดสปริงเกลอร์และเครื่องพ่นไอหมอกคอยรดน้ำและเพิ่มไอเย็นให้ต้นไม้”

อ่านต่อหน้า 3