SILPAKORN CITY CAMPUS เมืองทองธานี อาคารเรียนดีไซน์เท่ของเหล่านักสร้างสรรค์

Silpakorn City Campus เมืองทองธานี อาคารเรียนดีไซน์เท่เฟี้ยว ที่มีหัวใจหลักในการออกแบบจากเรือนไทย และภายใต้ความเปลือย คือ สปิริตของอาคาร ที่เห็นถึงโครงสร้าง งานดีไซน์ ทุกอย่างที่เป็นของจริง กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และตั้งคำถามของผู้ใช้สเปซ ฝึกคนให้ไปเป็นผู้สร้างอย่างแท้จริง

สภาพแวดล้อมที่ดีย่อมส่งเสริมการเรียนรู้และกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ดังเช่นอาคารเรียนอเนกประสงค์ที่เปิดตัวก่อนใครเพื่อนบนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ ในบ้านหลังใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเมืองทองธานี ( Silpakorn City Campus เมืองทองธานี ) โดยอาคารหลังนี้ได้รับการออกแบบให้เปรียบเสมือนเป็นอาคารเพื่อการนำร่องและโปรโมทวิทยาเขตน้องใหม่แห่งนี้ จึงนำไปสู่แนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ใช้เวลาในการก่อสร้างน้อยที่สุดและพร้อมต่อการรื้อถอนเปลี่ยนแปลง

Silpakorn City Campus เมืองทองธานี

เปลือกอาคารทางด้านทิศตะวันตกออกแบบเป็นแผงพอลิคาร์บอเนตขนาดใหญ่ ช่วยกันความร้อนจากแสงแดดตอนบ่ายของวัน

ภาพแรกที่เห็นหลายคนอาจไม่คิดว่านี่คืออาคารเรียน ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัย แปลกตา ประกอบกับการเลือกใช้วัสดุที่ทำให้ลืมภาพอาคารเรียนทึบตันแบบเดิมไปเสียสนิท หากมองภายนอกอาจดูเหมือนอาคารทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่แท้จริงแล้วเป็นทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ที่เกิดจากความตั้งใจของสถาปนิกที่ต้องการบิดสเปซ  เพื่อเปิดรับมุมมองจากทางเข้ามหาวิทยาลัยและเส้นเฉียงภายในอาคารยังช่วยสร้างชีวิตชีวาให้กับนักศึกษา เสริมเสน่ห์ให้อาคารเรียนได้เป็นอย่างดี

โถงบันได ออกแบบพื้นที่แบบดับเบิ้ลสเปซ นอกจากจะช่วยดึงแสงธรรมชาติให้เข้าสู่อาคารแล้ว ยังสร้างความต่อเนื่องของการมองเห็นได้ด้วย
ผนังห้องเรียนในส่วนที่ติดกับโถงบันไดเลือกกรุกระจกทั้งหมด เพื่อให้ทุกชั้นสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวของภายนอกห้องได้
โถงทางเดินรอบอาคารขนาบด้วยแผงพอลิคาร์บอเนต นอกจากช่วยกันความร้อนและแสงแดดในช่วงเวลากลางวันแล้ว ยังเป็นช่องระบายอากาศชั้นดีให้แก่อาคาร
แผงฟาซาดพอลิคาร์บอเนต วัสดุโปร่งแสงที่ทำให้มุมมองจากภายในเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นจินตนาการให้แก่นักศึกษาได้เป็นอย่างดี

“วิทยาเขตนี้ตั้งอยู่ที่เมืองทองธานี ซึ่งพื้นที่โดยรอบค่อนข้างอึกทึก ด้านหลังติดกับอาคารอิมแพค อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับส่วนเซอร์วิส ทำให้รอบ ๆ ตัวอาคารค่อนข้างวุ่นวาย ทัศนียภาพไม่เอื้ออำนวย เราจึงดีไซน์ให้เส้นทางสัญจรอยู่รอบนอก ดันตัวห้องเรียนเข้าไปอยู่ด้านในแทน แล้วใช้เปลือกอาคารล้อมรอบข้างนอกทั้งหมดเพื่อให้นักศึกษาได้โฟกัสกับการเรียนมากขึ้น”

ดังนั้นเราจึงเห็นแผงเปลือกอาคารขนาดใหญ่โอบล้อมอาคารเรียน และซ่อนอาคาร 5 ชั้นไว้ภายใน โดยชั้นแรกออกแบบให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ พื้นที่นั่งเล่นพักผ่อน และร้านอาหาร ส่วนชั้น 2 – 4 เป็นส่วนของห้องเรียน และชั้นสุดท้ายเป็นส่วนของสตูดิโอที่ออกแบบให้ยืดหยุ่นและมีความสูงกว่าปกติเพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย ปรับเปลี่ยนได้ตามการใช้งาน

ทางเข้าหลักของอาคารใช้ประโยชน์จากการยกพื้นสูง นอกจากจะเป็นบันไดทางขึ้น หลังเลิกเรียนยังสามารถเปลี่ยนฟังก์ชันเป็นแอมฟิเธียเตอร์ขนาดย่อม ๆ สำหรับจัดกิจกรรมได้ในตัว

อ่านต่อหน้า 2 คลิก