BASED ON CREATIVITY ความคิดสร้างสรรค์ ณ บ้านหลังเก่า

/ ของสะสมส่วนใหญ่ได้มาจากการเดินทางไปเที่ยว
แล้วเจอโดยบังเอิญมากกว่า และมีของเก่าสมัยปู่ย่าตายายรวมอยู่ด้วย /

จุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์มักเกิดจากสิ่งรอบตัวที่พบเจอในแต่ละวัน ซึ่งต่างคนก็มีมุมมองแตกต่างกันออกไป หลายคนอาจมองเห็นความสำคัญจากสิ่งใหญ่ๆ ที่เข้าใจได้ง่าย แต่ก็มีอีกหลายคนที่หยิบยกเอาสิ่งเล็กๆ ที่คนอื่นมองข้ามนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจสร้างสิ่งต่าง ๆ แม้ต้องใช้เวลาอยู่สักหน่อย แต่เชื่อว่าความหมายและผลลัพธ์ที่ได้จะต้องคุ้มค่าสมกับคำว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ อย่างแน่นอน

เช้านี้เป็นวันที่อากาศกำลังดีไม่ร้อนเกินไปนัก เหมาะเดินทางออกมาในย่านเมืองเก่าเยาวราช เพื่อเยี่ยมเยียนบ้านของ คุณเอิ้น – ศริญญา ลิมป์ทองทิพย์ เจ้าของแบรนด์ Srinlim ที่หลายคนรู้จักและเคยผ่านตามาแล้วกับผ้าพิมพ์ลายกราฟิกที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งถือว่าเธอเป็นดีไซน์เนอร์หน้าใหม่ที่น่าจับตามองคนหนึ่งก็ว่าได้

มุมนั่งเล่นและรับแขกตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งทั้งเก่าใหม่ผสมกันไป ใช้สีเหลืองอมเขียวทาทับผนังห้องทั้งสองด้าน ผนังด้านหนึ่งเจาะช่องโค้งแบบซุ้มประตูตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก อีกด้านเป็นผนังอิฐมอญเก่า เซาะผิวเดิมออกเพื่อโชว์แนวอิฐอย่างสวยงาม เข้ากับการเปิดโชว์ฝ้าเพดานไม้ที่ตกแต่งโคมไฟแขวนเพดานสั่งทำพิเศษ ส่วนพื้นเป็นแบบปูนเปลือยขัดมันดูเรียบง่าย
มุมนั่งเล่นและรับแขกตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งทั้งเก่าใหม่ผสมกันไป ใช้สีเหลืองอมเขียวทาทับผนังห้องทั้งสองด้าน ผนังด้านหนึ่งเจาะช่องโค้งแบบซุ้มประตูตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก อีกด้านเป็นผนังอิฐมอญเก่า เซาะผิวเดิมออกเพื่อโชว์แนวอิฐอย่างสวยงาม เข้ากับการเปิดโชว์ฝ้าเพดานไม้ที่ตกแต่งโคมไฟแขวนเพดานสั่งทำพิเศษ ส่วนพื้นเป็นแบบปูนเปลือยขัดมันดูเรียบง่าย
ห้องทำงานโทนสีฟ้าอ่อนสบายตาตัดกับพื้นไม้เก่าสีน้ำตาลเข้ม หน้าต่างยังคงลวดลายฉลุสวย ๆ และโครงสร้างเก่าของอาคารไว้ ใช้ของสะสมและงานศิลปะต่าง ๆ มาช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ห้องทำงานเล็ก ๆ นี้ดูมีชีวิตชีวาขึ้น
ห้องทำงานโทนสีฟ้าอ่อนสบายตาตัดกับพื้นไม้เก่าสีน้ำตาลเข้ม หน้าต่างยังคงลวดลายฉลุสวย ๆ และโครงสร้างเก่าของอาคารไว้ ใช้ของสะสมและงานศิลปะต่าง ๆ มาช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ห้องทำงานเล็ก ๆ นี้ดูมีชีวิตชีวาขึ้น

เราเดินตามหาบ้านของคุณเอิ้นไม่ยากอย่างที่คิด เพราะสีสันของประตูหน้าบ้านมีความโดดเด่นด้วยสีสันสดใสแตกต่างจากตึกแถวหลังอื่น ๆ ในละแวกเดียวกัน เมื่อเรามาถึงได้ไม่นานเจ้าของบ้านก็ออกมาต้อนรับเราและทีมงานด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเป็นกันเอง

เดินเข้ามาภายในบ้านมีการเล่นสีสันฉูดฉาดหลากหลายดูทันสมัย เห็นได้จากมุมรับแขกในชั้นหนึ่งที่ทาผนังสีเหลืองอมเขียวล้อไปกับชุดโซฟาลวดลายต่าง ๆ ที่เป็นผลงานของคุณเอิ้นเอง ส่วนของตกแต่งก็มีทั้งของเก่าและใหม่ผสมผสานกันไป อย่างกระเป๋าเดินทางใบเก่าของคุณปู่ ลำโพงไม้ของคุณพ่อ หรือจะเป็นจักรเย็บผ้าโบราณของคุณยาย ซึ่งนำมาใช้เป็นโต๊ะวางเซรามิกสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ส่วนเรื่องของโครงสร้างถ้ามองดูดี ๆ จะเห็นได้ว่าโครงสร้างทุกอย่างยังคงเดิม ทั้งผนังที่เจาะช่องโค้งแบบซุ้มประตูตามวัฒนธรรมของตะวันตกที่แพร่หลายในอดีต และการทำผนังให้หนากว่าปกติราว 50 – 60 เซนติเมตร เพื่อใช้รับน้ำหนักแทนระบบเสาคาน ซึ่งเป็นเทคนิคและค่านิยมทางสถาปัตยกรรมในสมัยนั้น รวมถึงการโชว์ฝ้าเพดานไม้ที่ปูเป็นพื้นชั้นบน เรียกว่าไม่มีการทุบโครงสร้างเดิมออกเลย เพราะเป็นบ้านเก่ามีข้อห้ามและกฎข้อบังคับเยอะแยะ การปรับเปลี่ยนจึงค่อนข้างลำบาก แต่คุณเอิ้นก็โชคดีที่มี คุณจุฬาทิพย์ อินทราไสย พี่สาวคนสนิทมารับหน้าที่เป็นสถาปนิกคอยให้คำปรึกษา ช่วยดูเรื่องโครงสร้างต่าง ๆ ให้บ้านหลังนี้ยังคงมีกลิ่นอายของตึกแถวสมัยเก่าที่ดูคลาสสิก

ถัดจากห้องรับแขกก็คือส่วนของห้องน้ำ เลือกทาผนังสีฟ้าสดตัดกับกระเบื้องปูพื้นลายข้าวหลามตัดสีขาว-ดำ ให้ความรู้สึกทันสมัยและแปลกตา นำไม้เข้ามาเป็นตัวเชื่อมส่วนต่าง ๆ ให้ดูกลมกลืนกัน ทั้งตู้เก็บของใต้อ่างล้างหน้า บันไดไม้เก่าที่ทาสีม่วงเปลือกมังคุดเชื่อมไปยังชานพักบันได และพื้นบนชั้นสอง ชานพักบันไดเจาะพื้นบางส่วนเป็นดับเบิ้ลสเปซเล็ก ๆ เพื่อเพิ่มความโปร่งและช่วยให้ชั้นล่างได้รับแสงสว่างจากสกายไลท์ มุมนี้คุณเอิ้นมักใช้เป็นนั่งเล่นสังสรรค์กับเพื่อน ๆ เนื่องจากค่อนข้างมีบรรยากาศสบาย ๆ อากาศถ่ายเทสะดวก เพราะได้ทุบผนังกั้นห้องเดิมบนชานพักบันไดที่บังช่องหน้าต่างออกไป

 

หลังบ้านมีห้องน้ำหนึ่งห้องและอ่างล้างหน้าที่แยกไว้ข้างนอก ผนังทาสีฟ้าสดตัดกับฝ้าเพดานไม้สีขาวเจาะช่องเปิดรับแสงจากสกายไลท์ ช่วยให้เพดานที่มีความสูงไม่มากดูโปร่งขึ้น เพิ่มลูกเล่นให้พื้นด้วยกระเบื้องลายข้าวหลามตัดสีขาว - ดำ เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความทันสมัยให้บ้านได้ดี
หลังบ้านมีห้องน้ำหนึ่งห้องและอ่างล้างหน้าที่แยกไว้ข้างนอก ผนังทาสีฟ้าสดตัดกับฝ้าเพดานไม้สีขาวเจาะช่องเปิดรับแสงจากสกายไลท์ ช่วยให้เพดานที่มีความสูงไม่มากดูโปร่งขึ้น เพิ่มลูกเล่นให้พื้นด้วยกระเบื้องลายข้าวหลามตัดสีขาว – ดำ เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความทันสมัยให้บ้านได้ดี

 

บันไดทางขึ้นชั้นสองใช้ท่อเหล็กเป็นราวบันไดให้ความรู้สึกทันสมัย กรุฝ้าเพดานด้วยแผ่นฝ้าไฟเบอร์ซีเมนต์สีขาว แล้วเจาะช่องสกายไลท์บนหลังคาเพื่อรับแสงสว่างจากธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งแสงไฟดาวน์ไลท์หรือโคมไฟแขวนเพดานเพียงอย่างเดียว
บันไดทางขึ้นชั้นสองใช้ท่อเหล็กเป็นราวบันไดให้ความรู้สึกทันสมัย กรุฝ้าเพดานด้วยแผ่นฝ้าไฟเบอร์ซีเมนต์สีขาว แล้วเจาะช่องสกายไลท์บนหลังคาเพื่อรับแสงสว่างจากธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งแสงไฟดาวน์ไลท์หรือโคมไฟแขวนเพดานเพียงอย่างเดียว

ส่วนชั้นสองทำเป็นมุมห้องทำงานขนาดย่อม คุณเอิ้นมักใช้เวลามานั่งทำงานอยู่ในห้องนี้เป็นส่วนใหญ่ ภายในประกอบด้วยโต๊ะสีขาวตั้งอยู่กลางห้อง สามารถใช้ทำงานได้ทุกมุมรอบโต๊ะ และมีชั้นวางหนังสือและของสะสม รวมถึงงานศิลปะที่ได้มาจากเพื่อน ๆ โดยนำมาวางตกแต่งไว้ทั่วทั้งห้อง ช่วยเติมความอบอุ่นให้บ้านได้ดี บรรยากาศห้องทำงานดูสบายตาด้วยโทนสีฟ้าอ่อน ฝ้าเพดานเป็นแผ่นฝ้าไฟเบอร์ซีเมนต์สีขาว ฝังไฟดาวน์ไลท์ที่ได้มาจากร้านขายของเก่า ติดกระจายเป็นจุด ๆ ทั่วเพดาน ส่วนหน้าต่างบานไม้เก่าที่ติดกับถนนหน้าบ้านก็ทำหน้าที่เปิดรับสายลมและแสงสว่างให้ชั้นสองดูปลอดโปร่ง นอกจากนี้ยังสามารถมองเห็นภาพผู้คนที่เคลื่อนไหวไปตามจังหวะลีลาชีวิต อบอวลด้วยกลิ่นอายและบรรยากาศที่มีเสน่ห์ซึ่งหาจากที่ใดไม่ได้ นอกจากถิ่นฐานย่านเก่านาม ‘เยาวราช’ แห่งนี้…

คุณเอิ้น - ศริญญา ลิมป์ทองทิพย์ กับโต๊ะทำงานสุดโปรดหลาย ๆ แรงบันดาลใจเกิดขึ้นที่มุมนี้
คุณเอิ้น – ศริญญา ลิมป์ทองทิพย์ กับโต๊ะทำงานสุดโปรดหลาย ๆ แรงบันดาลใจเกิดขึ้นที่มุมนี้
เรื่อง : Gobbi Chirawat
ภาพ : ดำรง ลี้ไวโรจน์
วิดีโอ : New Media