รวม 24 ปัญหารอยร้าว

รวม 24 ปัญหา รอยร้าวผนัง รู้ไว้ป้องกันบ้านพัง

รวม 24 ปัญหารอยร้าว
รวม 24 ปัญหารอยร้าว

รอยร้าวผนัง ใครเจอก็ต้องเป็นกังวล คราวนี้เราจึงขอรวบรวมรอยร้าวที่พบบ่อยทั้ง 24 แบบพร้อมสาเหตุ ข้อควรระวัง และวิธีแก้ไขมาให้ดูกัน

รอยร้าวที่พบได้บ่อยในบ้าน ทั้ง รอยร้าวผนัง หรือรอยร้าวบนโครงสร้างส่วนอื่นๆ อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ รอยร้าวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง และ รอยร้าวที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง

รอยร้าวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง
“อาจไม่น่ากลัว แต่ก็ไม่ควรปล่อยไว้”รอยร้าวผนัง

รอยร้าวแตกลายงา

สาเหตุ – เกิดจากงานฉาบที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อผนังผ่านความชื้นและการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมินานวันเข้า จึงเกิดการยืดหดขยายและกลายเป็น รอยร้าวผนัง ในที่สุด สามารถเกิดได้ทั้งที่พื้นและผนัง

วิธีแก้ – สามารถฉาบปิดลงไปให้เสมอกันได้ โดยการกรีดบริเวณรอยร้าวให้เป็นปากฉลาม กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร แล้วใช้ปูนกาวโป๊เก็บตรงบริเวณรอยต่อ ขัดให้เรียบ และทาสีชนิดปกปิดรอยร้าว

ข้อควรระวัง – ควรจัดการรอยร้าวประเภทนี้เสียแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันความชื้นทำให้รอยร้าวของปูนฉาบลุกลามไปมากกว่านี้รอยร้าวผนัง

รอยร้าวเล็กๆที่มุมวงกบประตูหน้าต่าง

สาเหตุ – มักเกิดกับวงกบไม้ที่มีการยืดหดตัวสูง ทำให้เกิดรอยร้าวที่ปูนฉาบรอบๆวงกบ และอาจเกิดจากการก่อสร้างผนังที่ขาดเสาเอ็น-ทับหลัง หรือไม่ได้ใส่ลวดกรงไก่ที่ขอบซึ่งปูนชนกับวงกบเพื่อกันปูนแตก

วิธีแก้ – ขัดแต่ง รอยร้าวผนัง ให้เรียบร้อย จากนั้นจึงฉาบปิดลงไปให้เสมอกัน

ข้อควรระวัง – หากรอยแตกลามยาวไปถึงขอบผนัง อาจต้องพิจารณาการล้มออกจากแนวดิ่งของโครงสร้าง ทำให้การรับน้ำหนักเยื้องออกจากแนวเสาและอาจทำให้บ้านล้มได้ในที่สุดรอยร้าวผนัง

รอยร้าวที่ขอบผนังโครงสร้างเบา

สาเหตุ – เกิดจากการก่อสร้างที่ผิด โดยก่อสร้างโครงสร้างเบาชนกับผนังอิฐเดิม และไม่ได้ใช้วัสดุปิดผิวมารองรับ การขยับตัวที่ไม่เท่ากัน จึงทำให้สีและวัสดุฉาบของโครงสร้างเบาเกิดการแตกร้าว

วิธีแก้ – ให้จบพื้นที่ที่ก่อสร้างมาชนกันด้วยวัสดุปิดผิวแบบเดียวกับโครงสร้างเบาเสียก่อน จึงจะไม่เกิดปัญหาแตกร้าว หรืออาจก่อสร้างให้ชนกันเฉยๆเพื่อให้มีการขยับตัวได้บ้าง

ข้อควรระวัง – ก่อนปิดผิวผนังปูนด้วยวัสดุปิดผิว ควรแน่ใจเรื่องความชื้นที่ผนังเสียก่อน เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลังรอยร้าวผนัง

รอยร้าวที่พื้นและผนังห้องน้ำ

สาเหตุ – ห้องน้ำที่ไม่ได้กรุวัสดุปิดผิว เช่น แผ่นกระเบื้อง มักเกิดปัญหารอยร้าวที่พื้นและผนังอันเนื่องมาจากความชื้น ดูไม่ร้ายแรง แต่ก็ส่งผลให้เกิดการรั่วซึมขึ้นได้ โดยเฉพาะห้องน้ำในชั้นบน

วิธีแก้ – ทำระบบกันซึมและติดตั้งวัสดุปิดผิวให้เรียบร้อย

ข้อควรระวัง – หากรอยร้าวดังกล่าวเป็นสาเหตุของการรั่วซึม ควรตรวจดูว่าการรั่วซึมนั้นมีสีสนิมออกมาด้วยหรือไม่ เพราะอาจส่งผลกระทบถึงเหล็กเส้นในโครงสร้าง ทำให้เกิดสนิมจนดันคอนกรีตแตกร้าวออกมาได้ในที่สุดรอยร้าวผนัง

รอยร้าวตามขอบท่อที่ผนัง

สาเหตุ – เกิดจากการเดินท่อลอยโดยไม่ได้ยึดติดให้แน่นหนา ทำให้เกิดการโยกคลอนบริเวณปูนที่อัดไว้ในแนวช่องของท่อ เป็นผลให้ปูนแตกร้าวในที่สุด

วิธีแก้ – นอกจากการซ่อมแซมช่องขอบท่อที่ผนังแล้ว ยังควรยึดท่อลอยให้แน่นหนาโดยการติดกิ๊บยึดผนังเป็นระยะ ป้องกันการโยกคลอน

ข้อควรระวัง – อาจดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ในบางส่วนของบ้าน เช่น ระบบน้ำทิ้งหลังบ้านจากอ่างล้างจาน หากเกิดรอยร้าวตามขอบท่อขึ้น จะทำให้แมลงไม่พึงประสงค์บางประเภทเข้ามาตามรอยแตกได้ จึงควรป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ

รอยร้าวที่ชายคา

สาเหตุ – เกิดจากการที่รางน้ำฝนรับน้ำหนักมากเกินไปจนรั้งน้ำหนักลงที่ชายคา ทำให้เกิดการแตกร้าว

วิธีแก้ – การติดตั้งรางน้ำฝนควรยึดด้วยการติดตั้งเข้ากับเชิงชายในระยะห่างระหว่างแต่ละชุดของสกรูหรือตะขอที่พอดี หากน้อยเกินไปจะทำให้การรับน้ำหนักส่งผลกระทบต่อเชิงชายและชายคาได้

ข้อควรระวัง – รอยร้าวที่ชายคาอาจดูไม่น่ากลัวเท่าไร แต่หากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดการรั่วซึมจากน้ำที่ไหลย้อยเข้าเหนือฝ้าเพดานได้

รอยร้าวที่ฝ้าเพดาน

สาเหตุ – เกิดจากการที่ช่างไม่ได้ใส่เทปผ้าปิดรอยต่อเพื่อฉาบเรียบในขั้นตอนการติดตั้ง

วิธีแก้ – ให้ปิดรอยต่อด้วยหมันโป๊อะคริลิก จากนั้นจึงขัดเก็บให้เรียบและทาด้วยสีทายิปซัม

ข้อควรระวัง – หากมีรอยชื้นและคราบร่วมด้วยอาจเกิดจากการที่หลังคามีรอยรั่วที่น้ำซึมผ่านลงมาได้ ควรจัดการที่ต้นเหตุคือรอยรั่วเสียก่อนรอยร้าวผนัง

รอยร้าวเล็กน้อยที่ส่วนต่อเติม

สาเหตุ – เกิดจาก 2 สาเหตุหลักๆ คือ วัสดุของพื้นที่เดิมกับส่วนต่อเติมเป็นคนละประเภทกัน ทำให้จุดบรรจบเกิดการแตกร้าวแยกกัน หรืออาจเกิดจากการที่พื้นที่เดิมกับส่วนต่อเติมมีชุดฐานรากแยกออกจากกัน ทำให้เกิดการทรุดตัวที่ไม่เท่ากัน เป็นผลให้เกิดการแตกร้าวในที่สุด

วิธีแก้ – เผื่อพื้นที่ระหว่างรอยต่อและอัดฉีดรอยแตกด้วยวัสดุที่ยืดหยุ่น เช่น ซิลิโคน หรือพอลิยูรีเทนโฟม โดยอาจออกแบบให้มีแผ่นปิดครอบรอยต่อ (Flashing) เพื่อป้องกันน้ำฝนรั่วซึมเข้าสู่ภายในบ้าน

ข้อควรระวัง – ถ้าเป็นเพียงการแตกร้าวอาจเกิดปัญหารั่วซึมบ้าง แต่หากการแตกร้าวนั้นมีผลฉุดรั้งโครงสร้างของบ้านเดิมด้วย ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเข้าใจในการต่อเติมที่ผิด โปรดดูเพิ่มเติมที่หัวข้อ รอยร้าวรุนแรงที่ส่วนต่อเติมมีผลกับบ้านเดิม

รอยร้าวที่พื้นโรงรถ

สาเหตุ – เกิดจากการออกแบบโครงสร้างรับพื้นโรงรถที่ใช้ฐานรากคนละชุดกับอาคาร (ตัวบ้าน) เมื่อเกิดการทรุดตัวจึงเกิดการดึงรั้งที่ไม่เท่ากันจนแตกร้าว

วิธีแก้ – แยกส่วนโครงสร้างของพื้นโรงรถกับตัวบ้านออกจากกัน เพื่อให้การทรุดตัวไม่ฉุดรั้งซึ่งกันและกัน โดยการ เว้นร่องขนาด 1 นิ้วโดยรอบ โดยที่ร่องนี้ลึกเท่ากับความหนาของพื้นโรงรถ จากนั้นอุดร่องด้วย PU หรือซิลิโคน ก็เป็นอันใช้ได้

ข้อควรระวัง – หากพื้นโรงรถแตกร้าวโดยมีรอยร้าวที่เสาโรงรถร่วมด้วย อาจเกิดจากการทรุดตัวที่มากกว่าปกติ ควรเรียกวิศวกรมาตรวจสอบโครงสร้างและสาเหตุต่อไป


รอยร้าวที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง

“หากปล่อยไว้คงไม่ดีแน่ ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน”

รอยร้าวบนเสา

สาเหตุ – เกิดจากการที่เสารับน้ำหนักได้ไม่ดีพอ รับน้ำหนักมากเกินไป หรือจากการรับแรงเฉือนจากการที่อาคารเกิดการทรุดตัวไม่เท่ากัน จนเเกิดเป็นรอยร้าวแนวเฉียง 45 องศา

วิธีแก้ – ถ้าเกิดจากการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ให้กะเทาะปูนด้านนอกและขัดสนิมออก แล้วใช้ปูนเกราต์ (Grout) กำลังสูงฉาบปิดผิว แต่ถ้าเสารับน้ำหนักไม่ไหว อาจต้องเสริมเหล็กเสาเพิ่มด้วย

ข้อควรระวัง – เป็นการยากที่จะพิจารณาลักษณะของความเสียหายได้อย่างเที่ยงตรง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด

รอยร้าวที่ต้นเสาและโคนเสา

สาเหตุ – รอยร้าวแนวนอนบริเวณต้นเสาและโคนเสาเกิดจากการรับแรงบิดกับแรงเฉือน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่คานยื่นออกจากเสามากเกินไป

วิธีแก้ – ใช้การเสริมโครงสร้างเหล็กในบริเวณรอยร้าวเพื่อช่วยการรับน้ำหนัก

ข้อควรระวัง – หากเสริมโครงสร้างเหล็กแล้วรอยร้าวไม่ลุกลามก็เป็นอันใช้ได้ แต่หากมีการลุกลามต่อไปอาจเป็นผลมาจากปัญหาอื่นๆได้เช่นกัน

รอยร้าวกลางเสา

สาเหตุ – เกิดจากเสารับน้ำหนักมากเกินไปจนกลางเสาได้แตกออก

วิธีแก้ – ใช้เหล็กเสริมโครงสร้างหรือใช้แผ่นคาร์บอนไฟเบอร์พันหุ้มเสริมแรง เพื่อทำให้เสาแข็งแรงเพียงพอต่อการรับน้ำหนักได้

ข้อควรระวัง – เมื่อเสาเกิดการแตกออกจากการรับน้ำหนักที่มากเกินไป อาจทำให้ความสูงของเสาแต่ละต้นเปลี่ยนไป และอาจเกิดการฉุดรั้งของโครงสร้างขึ้นได้ จึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป

รอยร้าวของคานที่มีลักษณะแตกล่อน

สาเหตุ – เกิดจากการเลือกใช้คอนกรีตคุณภาพต่ำที่มีกำลังอัดหรือความแข็งแรงต่ำ อาจทำให้เกิดรอยร้าวในคานได้หลากหลาย แต่ที่พบมากจะเป็นประเภทคอนกรีตแตกร้าว หรือหลุดล่อนจากคานเป็นก้อน ๆ เป็นจุด ๆ ไม่สม่ำเสมอ

วิธีแก้ – หากรอยร้าวและการแตกล่อนไม่ลุกลามก็ปล่อยไว้ได้ แต่ควรทำเครื่องหมายเพื่อตรวจเช็กว่าการแตกล่อนลุกลามมากขึ้นหรือไม่ หากมากขึ้นต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ไข

ข้อควรระวัง – การตรวจสอบรอยร้าวโดยทำเครื่องหมายเอาไว้อาจทำให้ลืมตำแหน่งได้ จึงควรจดบันทึกลงสมุดไว้ด้วยสำหรับเป็นเอกสารติดบ้าน ทำให้ไม่หลงลืม

รอยร้าวที่คานใกล้เสา

สาเหตุ – เกิดจากการที่โครงสร้างไม่สามารถรับน้ำหนักได้ไหวและกำลังจะฉีกออกจากกัน จนเเกิดเป็นรอยร้าวแนวเฉียง 45 องศา

วิธีแก้ – ควรปรึกษาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน วิธีแก้ไขก็มีหลากหลาย ตั้งแต่เสริมเสาค้ำภายนอกอาคารหรือการเสริมเสาภายในอาคารก็เป็นได้

ข้อควรระวัง – หากเป็นอาคารที่มีการใช้งานเกี่ยวกับการรับน้ำหนักอยู่แล้วก็ควรตรวจสอบบ้าง ยิ่งหากอาคารนั้นมีการติดตั้งฝ้า เราอาจมองไม่เห็นปัญหาจนสายเกินไปก็เป็นได้

รอยราวรูปตัวยู (U) บริเวณใต้ท้องคาน

สาเหตุ – เกิดจากการแอ่นตัวของคานอันเนื่องมาจากน้ำหนักกดทับที่มากเกินไป ทำให้คานแตกร้าว

วิธีแก้ – ให้สำรวจน้ำหนักที่วางอยู่บนคานและนำออกเสีย อาจเสริมเสาที่บริเวณรอยแตกเพื่อช่วยพยุงคานเอาไว้

ข้อควรระวัง – หากเป็นไปได้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบและซ่อมแซมต่อไป

รอยร้าวที่เกิดบนพื้น

สาเหตุ – บ่อยครั้งที่เมื่อวางน้ำหนักบนพื้นแล้วเราจะไม่พบกับปัญหา จนกระทั่งนำสิ่งของที่มีน้ำหนักนั้นออก รอยร้าวบนพื้นหากเป็นแนวยาวจากคานสู่คาน แสดงว่าพื้นนั้นเริ่มรับน้ำหนักไม่ไหวแล้ว และเกิดการแตกร้าวขึ้น

วิธีแก้ – ให้นำน้ำหนักที่อยู่บนพื้นออกจากพื้นที่ร้าวเสียก่อน

ข้อควรระวัง – เมื่อมีสิ่งของวางอยู่อาจทำให้เราไม่ทันสังเกตรอยร้าว ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้ายจึงควรสังเกตไว้บ้าง หรืออาจเคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมากบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อตรวจตราว่าพื้นยังอยู่ดีหรือไม่รอยร้าวผนัง

 รอยร้าวแนวเฉียงกลางผนัง

สาเหตุ – รอยร้าวที่เกิดเป็นแนวจากมุมหนึ่งสู่อีกมุมหนึ่งของผนังในแนวทแยง เกิดจากการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันของบ้าน เป็นผลให้โครงสร้างเกิดการฉุดรั้งกัน อาจเกิดจากการทรุดตัวของเสาเพียงต้นใดต้นหนึ่ง ซึ่งหากผนังตรงข้ามกันเกิดรอยร้าวในแนวเดียวกันก็อาจเกิดการทรุดตัวของบ้านในฝั่งใดฝั่งหนึ่งได้

วิธีแก้ – แก้ไขได้โดยการเสริมฐานรากให้เสาที่ทรุด แต่ต้องอยู่ในความดูแลของวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เพราะจำเป็นต้องตรวจสอบทั้งโครงสร้างและพื้นที่ให้ถี่ถ้วนเสียก่อน

ข้อควรระวัง – แม้ว่าจะดูยุ่งยากที่ต้องมีการเสริมเข็ม เปิดพื้นบ้าน และอื่นๆอีกมากมาย แต่หากปล่อยไว้จากเสาหนึ่งที่ทรุดตัว อาจดึงรั้งให้เสาอีกด้านหนึ่งขาดได้และลุกลามไปสู่ปัญหาอื่นๆในภายหลัง หากเป็นไปได้จึงควรจัดการให้เร็วที่สุดรอยร้าวผนัง

รอยร้าวในแนวดิ่งบริเวณกลางผนัง

สาเหตุ – เกิดจากมีน้ำหนักกดทับมากเกินไป

วิธีแก้ – นำน้ำหนักออกจากแนวผนังที่แตกร้าว จากนั้นอาจทุบเปลี่ยนเพื่อซ่อมในบริเวณที่เกิดรอยร้าว

ข้อควรระวัง – ควรพิจารณารอยร้าวว่าลามไปถึงแนวคานแล้วหรือยัง เพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง ไม่ลุกลามไปมากกว่าเดิมรอยร้าวผนัง   

รอยร้าวบริเวณรอยต่อระหว่างผนังกับโครงสร้างเสาและคาน

สาเหตุ – เกิดจากการยืดหดตัวที่ไม่เท่ากันของวัสดุและไม่ได้เสียบหนวดกุ้งในขั้นตอนการผูกเหล็กเสริมแรง

วิธีแก้ – อาจใช้โฟมอุดรอยต่อหรือ PU เพื่ออุดรอยร้าว และทาสีทับ

ข้อควรระวัง – หากมีการรั่วบนคานหรือเสาร่วมด้วย ให้พิจาณาปัญหาร่วมกัน เพราะอาจไม่ใช่แค่การยืดหดตัวของวัสดุ

รอยร้าวผนัง

รอยร้าวแนวนอนที่ผนังใต้ท้องคาน

สาเหตุ – เกิดจากการก่อผนังที่จบอิฐของผนังแบบ 45 องศา ที่ก่อสร้างในครั้งเดียวเพื่อประหยัดเวลา โดยไม่ได้รอให้อิฐที่ก่อตามแนวนอนเซตตัวเสียก่อน เป็นผลให้การยุบตัวของปูนก่อดึงให้ผนังเกิดรอยร้าวตามไปด้วย

วิธีแก้ – อาจใช้โฟมอุดรอยต่อหรือ PU เพื่ออุดรอยร้าว และทาสีทับ

ข้อควรระวัง – ควรกำชับช่างก่อนที่จะเกิดปัญหา เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาซ่อมแซมในภายหลัง

รอยร้าวบริเวณใต้ท้องพื้น

สาเหตุ – เกิดจากน้ำหนักที่ถ่ายลงมาที่พื้นมีมากเกินไปจนพื้นรับน้ำหนักไม่ไหว ลักษณะการร้าวจะขึ้นอยู่กับการผูกเหล็กในคอนกรีตพื้น

วิธีแก้ – ให้นำน้ำหนักที่อยู่บนพื้นออกจากพื้นที่ร้าวเสียก่อน จากนั้นอาจต้องรื้อพื้นออกเพื่อแก้ไขใหม่โดยจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญ

รอยร้าวมีสนิมบริเวณเหล็กเสริมใต้พื้น

สาเหตุ – เกิดจากความชื้นที่เข้าไปในรอยร้าว ทำให้เหล็กเสริมโครงสร้างเกิดสนิมขึ้น มักเกิดในบริเวณที่โดนความชื้นบ่อยๆ เช่น ห้องน้ำ อาจเป็นอันตรายมากขึ้นเมื่อสนิมเหล็กดันให้คอนกรีตแตกออก เป็นผลให้การรับน้ำหนักของโครงสร้างล้มเหลวในที่สุด

วิธีแก้ – หากเกิดไม่มากอาจใช้แปรงทองเหลืองขัดสนิมและฉาบปูนปิดกลับเข้าไป แต่หากลุกลากมากก็ควรปรึกษาวิศวกรเพื่อหาวิธีแก้ไขต่อไป

ข้อควรระวัง – ไม่ว่าจะเป็นห้องครัวหรือห้องน้ำ รวมถึงระเบียงชั้นสอง พื้นที่เหล่านี้ล้วนมีความเสี่ยงต่อความชื้นที่สะสมอยู่ในคอนกรีตได้ จึงควรตรวจสอบโครงสร้างบ้าง เพื่อแก้ไขตั้งแต่ยังเป็นปัญหาเล็กน้อยก่อนที่จะลุกลาม

รอยร้าวบริเวณรอยต่อของส่วนต่อเติมจนเกิดเป็นรอยแยก

สาเหตุ – เมื่อส่วนต่อเติมร้าวขาดออกจากบ้านเดิมชัดเจนแล้ว หากสำรวจไม่พบความเสียหายต่อโครงสร้างของบ้านเดิม ก็แปลว่าเกิดการทรุดตัวของโครงสร้างใหม่ที่ไม่เท่ากับโครงสร้างเก่า อันเป็นผลมาจากฐานรากที่แตกต่างกัน

วิธีแก้ – เสริมเสาเข็มและฐานรากเพื่อหยุดการทรุดตัว และทำแผ่นปิดครอบรอยต่อ (Flashing) เพื่อป้องกันการรั่วซึมตามรอยร้าว และเว้นระยะให้การทรุดตัวของแต่ละโครงสร้างไม่ส่งผลกระทบถึงกัน

ข้อควรระวัง – หากเกิดรอยร้าวขึ้นแล้วก็ควรจะจัดการแยกส่วนโครงสร้างให้ชัดเจน ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามไปยังโครงสร้างของตัวบ้านในภายหลัง

รอยร้าวรุนแรงที่ส่วนต่อเติมมีผลกับบ้านเดิม

สาเหตุ – รอยร้าวที่ส่งผลต่อส่วนบ้านเดิมเป็นผลมาจากการออกแบบส่วนต่อเติมที่ยึดติดกับโครงสร้างเดิม ทำให้เมื่อมีการทรุดตัวที่ไม่เท่ากัน โครงสร้างในส่วนต่อเติมจึงฉุดรั้งให้โครงสร้างของบ้านเดิมแตกร้าวไปด้วย

วิธีแก้ – ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแยกโครงสร้างของบ้านเดิมและส่วนต่อเติมออกจากกัน จากนั้นจึงพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วหากเกิดปัญหาเช่นนี้ ทางแก้ที่ดีที่สุดคือรื้อส่วนต่อเติมเพื่อทำระบบฐานรากใหม่ และก่อสร้างให้โครงสร้างแยกออกจากบ้านเดิม

ข้อควรระวัง – หลายท่านเลือกที่แก้ไขเฉพาะบริเวณรอยร้าว แต่บอกได้เลยว่านับวันอาการมีแต่จะแย่ลง แนะนำให้กำหนดไว้เลยว่าจะซ่อมแซมเมื่อไร ตั้งงบไว้ เพื่อให้ปัญหาไม่บานปลายไปสู่โครงสร้างของบ้านเดิมในที่สุด


เรื่องและภาพประกอบ : วุฒิกร สุทธิอาภา


20 ปัญหาสร้าง-ซ่อม-ต่อเติมบ้าน

รีโนเวต/ซ่อมแซม/ปรับปรุง โครงสร้าง ค.ส.ล.

กฎหมายต่อเติมบ้าน ต่อเติมแค่ไหนไม่ต้องขออนุญาต

ติดตามบ้านและสวน facebook.com/baanlaesuanmag