D’LUCK CINEMATIC THEATRE เสกโรงละครให้ลอยตัว ด้วยเวทมนตร์แห่งสถาปัตยกรรม

หากพูดว่ามีอาคารลอยได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย หลายคนอาจจะยังไม่เชื่อเต็มร้อย เราจึงอยากชวนให้ทุกคนไปสัมผัสและเห็นด้วยตาตัวเองเหมือนที่เราได้ไปเยือนมาแล้ว SINGHA D’LUCK Cinematic Theatre โรงละครน้องใหม่ในเครือ บริษัท ปัญจลักษณ์พาสุข จำกัด หรือที่รู้จักกันดีในนาม GDH ที่จะกลายเป็นแลนด์มาร์ก และสถานที่เที่ยวห้ามพลาดของเมืองพัทยาอย่างไม่ต้องสงสัย

บนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ ถูกเนรมิตให้เป็นโรงละครที่มีพื้นที่การแสดงกว่า 1,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้ชมได้มากถึง 1,400 ที่นั่งต่อรอบ โดยนำเสนอการแสดงสดผสมภาพยนตร์ที่ใช้แสงสีเสียงเต็มรูปแบบ รวมถึงระบบฉายโปรเจคเตอร์ที่ครบเครื่องที่สุดในเอเชีย ผ่านละคร “KAAN” ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตัวละครในวรรณคดีไทยชั้นยอด อาทิ พระอภัยมณี  ไกรทอง มโนราห์ เป็นต้น เรียงร้อยเรื่องราวในรูปแบบที่ประยุกต์ให้มีความทันสมัย ตื่นตาตื่นใจมากขึ้น ตลอดเวลา 90 นาทีของการแสดงทุกคนจะได้ร่วมเดินทางท่องในไปโลกแห่งจินตนาการสุดล้ำ

นอกเหนือจากการแสดงอันอลังการในโรงละครแล้ว จินตนาการยังถูกถ่ายทอดเชื่อมโยงไปสู่การออกแบบ ด้วยการดึงทุกคนเข้าสู่โลกแห่งมายากับภาพลวงตา โดยฝืมือของ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (ARCHITECTS 49 LIMITED) ที่ทำการศึกษาต่อยอดไอเดียจากเทคโนโลยีที่เรียกว่า “High Definition Projection Mapping” ซึ่งคือการฉาย Motion Graphic ลงไปยังส่วนต่างๆของอาคารทำให้เกิดภาพลวงตาเสมือนจริง จนกลายเป็นโจทย์ในการออกแบบรูปลักษณ์อาคารแห่งนี้

“สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการสร้างสิ่งลวงตานั้นก็คือการสร้างผลลัพธ์อะไรสักอย่าง ไปพร้อมๆ กับสร้างความพิศวง ประหลาดใจในคราวเดียวกัน”

จากแนวคิดดังกล่าวจึงนำไปสู่การสร้างสถาปัตยกรรมลอยตัว หรือ Levitating Theater โรงละครลอยได้แห่งแรกของโลก โดยการยกก้อนอาคารขนาดใหญ่ให้ลอยขึ้นจากพื้นดิน ราวกับมีเวทมนตร์ด้วยการกรุผนังอาคารชั้นล่างด้วยกระจกเงาที่ช่วยสะท้อนบริบทโดยรอบ ทำให้ชั้นล่างของอาคารดูกลมกลืนไปกับพื้นที่ เสริมด้วยการยื่นอาคารก้อนบนให้ลอยออกมาแบบไร้โครงสร้างรองรับ สร้างมิติในการมองเห็นเสมือนลอยได้อย่างแท้จริง

อีกหนึ่งสิ่งที่สร้างความฉงนให้แก่ผู้มาเยือนคือภาพเคลื่อนไหวบนผนังผืนยักษ์ของโรงละครราวกับว่าเป็นจอ LED แสดงภาพ แต่แท้จริงแล้วคือเทคนิค Kinetic Façade เทรนด์ล้ำสมัยที่เสกให้ผิวอาคารสามารถขยับได้ สำหรับโรงละครแห่งนี้ใช้แผ่นอลูมิเนียมฉาบสีทอง ในรูปทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ที่สื่อถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และด้วยคุณสมบัติของวัสดุที่มีน้ำหนักเบา แต่แข็งแรงทนทาน ทำให้แผ่นอลูมิเนียมจำนวนกว่า 30,000 ชิ้นเหล่านี้สามารถพริ้วไหวได้อย่างอิสระยามต้องลมและสะท้อนแสงยามต้องแดด เกิดเป็นเกลียวคลื่นสีทองร่ายไปมาบนผิวอาคาร

 

เมื่อเข้าสู่โรงละคร การตกแต่งภายในได้ทีมงานมากประสบการณ์อย่าง บริษัท จาร์เค็น จำกัด (JARKEN Co.,Ltd.) ทำให้โรงละครดูมีชีวิต ราวกับเหล่าตัวละครร่ายรำอยู่รอบๆ ตัวคุณตั้งแต่ก้าวเข้ามา ด้วยการหยิบเอานาฏยกรรมสมัยโบราณ ที่เรียกว่า “การรำประเลง” หรือการรำเบิกโรงของละครในสมัยก่อน ที่เชื่อว่าเป็นการเสริมสิริมงคลและช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีที่จะเป็นอุปสรรคในการแสดงออกไป เปรียบเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการแสดง มาเป็นแรงบันดาลในในการออกแบบ

จากนัยยะของการร่ายรำนำไปสู่การออกแบบโถงล็อบบี้ที่มีการเชื่อมต่อดีไซน์จากภายนอกสู่ภายใน เพดานดูเหมือนพลิ้วไหว เกิดจากการนำแผงอลูมิเนียมคอมโพสิตมาฉลุลายไทย ก่อนจะนำไปดัดโค้งแล้วติดตั้งซ้อนกัน เพิ่มมิติด้วยการจัดแสงไฟ เส้นโค้งที่อ่อนช้อยนี้สะท้อนท่าร่ายรำที่ผู้รำจะถือกำหางนกยูงสะบัดตวัดไปมา รับกับเสาแบนที่ติดตั้งจอ LED เอาไว้ทั้งสองฝั่ง ซึ่งสื่อถึงเทวดาเบิกโรงที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา สอดคล้องกับการเลือกกระเบื้องปูพื้น 2 เท็กซ์เจอร์ทั้งแบบผิวสัมผัสด้านและผิวสัมผัสมันมาปูคละกันให้เกิดเส้นสายที่เสมือนการกวาดลานเบิกฤกษ์ก่อนเข้าสู่การแสดง

ร้อยเรียงความต่อเนื่องของอารมณ์ด้วยโถงบันไดที่นำไปสู่ทางเข้าโรงละคร ที่มีม่านสีขาวทอดตัวยาวตลอดความสูง เป็นการสกรีนมุมมองของผู้ที่เดินขึ้น-ลงไม่ให้เห็นกัน สะท้อนคอนเซ็ปต์การซ่อน ปกปิด อำพราง ของผู้ร่ายรำที่มักสวมหน้ากากสีเหลืองทองและเขียวเพื่อปกปิดใบหน้าในการแสดง

ชมภายในโรงละครต่อ คลิก