Living with Passion – อยู่กับสิ่งที่หลงใหล

Passion in Hops – คุณณัฐชัย – คุณธีรภัทร อึ๊งศรีวงศ์

ก่อนหน้านี้หากมีคนพูดว่าจะปลูกฮอปส์ ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักของการทำเบียร์ในประเทศไทย คงดูเป็นความฝันที่ไม่มีทางเป็นไปได้ในเมืองร้อนอย่างบ้านเราแน่นอน แต่ไม่นานมานี้สองพี่น้อง คุณอ๊อบ-ณัฐชัยและคุณอาร์ต-ธีรภัทร อึ๊งศรีวงศ์ ได้เปลี่ยนความหลงใหลในเบียร์มาลองดีกับคำสบประมาทและทัศนคติดังกล่าว จนทำให้ดอกฮอปส์ดอกแรกผลิบานขึ้นได้ในประเทศไทย

แรงบันดาลใจแรก

หลังจากปิดบริษัทผลิตซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นสำหรับโทรศัพท์มือถือไป ด้วยความชื่นชอบในรสชาติของเบียร์ คุณอ๊อบและคุณอาร์ตได้เริ่มต้นศึกษาวิธีการทำเบียร์ จึงทราบว่าเบียร์มีองค์ประกอบหลักที่เหมือนกันอยู่ 4 ส่วน ได้แก่ น้ำ มอลต์ ฮอปส์ และยีสต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะฮอปส์ที่ไม่เคยมีการปลูกในเมืองไทยมาก่อน ด้วยความอยากรู้และต้องการเอาชนะความเชื่อดังกล่าว ทั้งคู่จึงนำเหง้าต้นฮอปส์จากประเทศสหรัฐอเมริการมาทดลองปลูกในห้องนอน โดยอาศัยการเปิดแอร์คู่กับหลอดไฟ Grow Light  ซึ่งในที่สุดก็ได้ผลผลิตเป็นดอกฮอปส์ สองพี่น้องเลยตัดสินใจต่อยอดโดยการขยายทำเป็นฟาร์มปิดด้วยระบบไฮโดรโปนิก

“ฮอปส์มีหลายร้อยสายพันธุ์ พันธุ์ที่เราเลือกใช้หลักๆคือ Chinook , Columbus และ Centennial แต่ก็มีสายพันธุ์อื่นๆที่ทดลองปลูกอยู่ด้วยเช่นกัน ฮอปส์ก็เหมือนต้นไม้ทั่วไป ต้องใส่ใจ ใส่ดิน ใส่ปุ๋ย ให้น้ำอย่างถูกต้อง เพราะเป็นสิ่งมีชีวิต ตอนนี้ปริมาณผลผลิตที่ได้แค่พอบริโภคในครัวเรือน ปัจจุบันยังไม่มีองค์ความรู้อะไรแน่นอน การปลูกจึงยากกว่าพืชชนิดอื่นที่มีสูตรมาก่อนหน้านี้ เราต้องทดลองเองเกือบทั้งหมด”

ปลูกเพื่อต่อยอด

ฮอปส์จัดเป็นพืชล้มลุกประเภทไม้เลื้อยที่ชื่นชอบอากาศหนาวและแสงแดดตลอดทั้งวัน ดังนั้นแปลงปลูกจึงต้องพ่นไอน้ำ เพิ่มการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ร้อนจนเกินไป โดยใช้ระบบซอฟต์แวร์ที่ทั้งคู่พัฒนาด้วยตัวเอง ซึ่งใช้เซนเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิและความชื้น หากมีความร้อนมากเกินไป ระบบก็จะพ่นสเปรย์น้ำเพื่อให้อุณหภูมิเย็นขึ้น นอกจากนี้ในทุกเช้ายังต้องหมั่นตรวจดูแมลงและโรค เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดและกระทบต่อผลผลิต สำหรับระยะปลูกคือ 4 เดือนก็พร้อมเก็บผลผลิต สามารถปลูกได้ปีละ 3 ครั้ง แต่ก็จะมีบางช่วงที่แดดร้อนเกินไปจนไม่สามารถใช้ดอกได้

“ตลาดอย่างเดียวที่ขายฮอปส์คือคนทำเบียร์ แต่เบียร์ที่ขายในตลาดหลักก็ไม่ได้ต้องการฮอปส์สายพันธุ์ที่เราปลูก ก็เลยต้องส่งตลาดคราฟต์เบียร์ที่ต้องการฮอปส์หลากหลายสายพันธุ์และรสชาติมากกว่าเบียร์ในยุคเก่า ตลาดจึงเติบโตไปพร้อมกับคราฟต์เบียร์ ผลผลิตที่ได้คือส่วนดอก ส่วนใหญ่ที่ใช้คือดอกแห้งแล้วอัดเป็นเม็ด แต่ที่เราปลูกเองก็ใช้ดอกสดในการทำเบียร์ของเราเองได้ ซึ่งต้องทำภายใน 24 ชั่วโมงหลังเก็บเกี่ยว โดยจะให้รสชาติความสดที่แตกต่างจากแบบแห้งในแบบของคราฟต์เบียร์”

พัฒนาความหลงใหล

ความหลงใหลเป็นเหมือนกุญแจที่จะพิสูจน์ความเชื่อในเรื่องที่คนอื่นทำไม่ได้ อีกทั้งยังต่อยอดไปสู่หนทางของความสำเร็จ แม้ว่าตอนนี้ฟาร์มฮอปส์ยังไม่ได้รายได้เป็นกอบเป็นกำชัดเจน เนื่องจากอยู่ในช่วงทดลอง โดยจุดประสงค์หลักคือทำคราฟต์เบียร์ของตัวเองและก็เตรียมทำโรงเบียร์เล็กๆในอนาคต แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับคือการพัฒนาวัตถุดิบจากพื้นถิ่นเพื่อผลิตเบียร์ที่สดใหม่และมีรสชาติไม่เหมือนใคร

“มันได้หลายอย่าง อย่างแรกคือพอเราปลูกต้นไม้ เราก็เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น และช่วยในการดำรงชีวิตต่อไปได้ตลอด พอปลูกต้นหนึ่งก็ต่อยอดไปปลูกต้นไม้อย่างอื่น นี่ยังอยากปลูกผักรับประทานเอง เพื่อลดปริมาณสารเคมี ผมว่าศาสตร์ของการปลูกผักหรือทำเบียร์มันเชื่อมต่อกันได้หมด อย่างการนำความรู้เรื่องจุลินทรีย์หรือยูเรียที่ใช้หมักเบียร์มาใช้ทำปุ๋ยหมักหรือหมักโยเกิร์ตก็ได้ ทำให้เราเข้าใจอะไรหลายอย่าง ดื่มได้สนุกมากขึ้น และต่อยอดไปเรื่อยๆ”

ติดตามข่าวสาร หรือเข้าไปเยี่ยมชมฟาร์มและคาเฟ่ของพวกเขาได้ที่ Deva Farm & Cafe 85/4 ติวานนท์-ปากเกร็ด ซอย 21 อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โทรศัพท์ 08 – 3035 – 7956  FB : Deva Farm & Cafe