เติมความรักให้หวานที่… สวนตาล ลุงถนอม

สวนตาล “แรกรักกันมันหวานดั่งตาลเมืองเพชร ช่างหวานสะเด็ดไม่มีสิ่งใดเปรียบปาน  กลับกลายเศร้าตรมยิ่งขมยิ่งกว่าวันวาน สะเดาเจ้าเอยไม่เคยหวาน ซมเซซมซานกลับเพชรบุรี”

สวนตาล จากบทเพลง “ยับเยิน” ของวงซูซู บอกให้รู้ว่าน้ำตาลที่ไหนก็คงจะหวานสู้น้ำตาล เมืองเพชรไม่ได้แน่ๆ ถึงขนาดเปรียบเทียบความรักกับความหวานออกมาเป็นเพลง ซึ่งถ้าพูดถึงของหวานหรือผลผลิตที่ได้จากตาลโตนดของเมืองเพชรนั้น ถือว่ามีชื่อเสียงมายาวนานมาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลสด ขนมตาล จาวตาลเชื่อม หรือน้ำตาลโตนด หากมาเมืองเพชรครั้งใด ก็อย่าลืมหาซื้อติดไม้ติดมือเป็นของฝากกันนะครับ

สวนตาล

ตาลโตนดจึงถือเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆของจังหวัดเพชรบุรี แต่นับวันก็ยิ่งหาสวนตาล ที่ปลูกแบบปลอดสารพิษยากเต็มที วันนี้เลยขออนุญาตพาคุณผู้อ่านไปเยี่ยมชมสวนตาลโตนด ที่ขึ้นชื่อที่สุดในจังหวัดเพชรบุรีและประเทศไทย นั่นคือสวนตาลของ ลุงถนอม ภู่เงิน ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

แต่ก่อนจะไปเที่ยวกัน ลองมาทำความรู้จักต้นตาลโตนดกันก่อนครับ พืชชนิดนี้อยู่ในตระกูลปาล์ม มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินเดีย ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร สูงได้ถึง 25 เมตร ผลค่อนข้างกลม มี 3 พู เมื่อสุกจะมีสีน้ำตาลคล้ำ หากนำมาเพาะ ใช้เวลา 3- 4 เดือนจึงจะงอก นอกจากจะปลูกเพื่อกินผลแล้ว ยังสามารถปลูกเป็นไม้ประดับสวน ได้ด้วย โดยจะนิยมปลูกต้นที่มีความสูง 1 – 4 เมตร และมีใบปิดลำต้นทั้งหมด ซึ่งเหมาะสำหรับ ปลูกกลางแจ้ง จะเป็นกลุ่มหรือเป็นแถวเดี่ยวก็ได้

เอาละ…ทีนี้ก็เตรียมตัวเข้าสวนตาลกันครับ ลุงถนอมรอต้อนรับเราอยู่ ด้วยวัยที่ล่วงถึง 80 ปีแล้ว แต่ลุงกลับยังแข็งแรง ที่สำคัญมีความจำดีเลิศอีกด้วย ลุงเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการหันมาปลูกตาลโตนดแบบปลอดสารพิษร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า

“ที่ตรงนี้เคยปลูกมะนาวมาก่อน จากนั้นก็มาปลูกกล้วยไข่ ปลูกส่งขายแม่ค้า ที่ตลาดมหานาค จนถึงช่วงปีพ.ศ.2534 ก็เริ่มมานั่งคิดว่าทำไมคนไทยอายุเริ่มสั้นลง ลุงคิดเอาเองแบบกำปั้นทุบดินว่าอาจเป็นเพราะพืชผักผลไม้ในปัจจุบันมีแต่สารเคมีและสารพิษ  ทีนี้ลุงมานึกถึงพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาเลยนำเอาแนวคิดนี้มาปรับใช้ มาค้นคว้าดูให้เข้าใจ ให้เข้าถึง แล้วจึงนำมาพัฒนาว่ามีพืชอะไรบ้างในเมืองไทยที่ปลอดสารพิษ สุดท้ายมาพบว่าเป็นมะพร้าวกับตาลโตนด แต่ประโยชน์ของมะพร้าวน้อยกว่าตาล ลุงเลยตัดสินใจ ปลูกตาลบนพื้นที่กว่าสิบไร่ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์พันธุ์ตาลโตนดเมืองเพชรให้อยู่ คู่กับเมืองเพชรบุรีตลอดไป” ลุงถนอมนั่งเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มแห่งความภูมิใจ ขณะที่มือก็สานหมวกจากใยตาลไปด้วย

12 สิงหาคม 2535 คือวันที่ลุงถนอมเริ่มลงมือปลูกตาลโตนด ตอนนั้นอายุได้ 55 ปี เห็นไหมครับว่าชีวิตคนเราเริ่มต้นตอนไหนไม่สำคัญ สำคัญตรงที่เราคิดจะทำอย่างที่เราตั้งใจจริงได้หรือเปล่าก็เท่านั้นเอง

            ลุงถนอมยังเล่าอีกว่าตาลโตนดแยกเป็นต้นเพศผู้และต้นเพศเมีย ซึ่งในต้นเพศเมียก็มีแยกอีกเป็นตาลหม้อกับตาลไข่ เมื่อเลือกสายพันธุ์ได้แล้ว ก็มาดูเรื่องดินฟ้าอากาศ พืชชนิดนี้สามารถปลูกได้ทั่วประเทศ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องมีความชื้นในดินร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญดินต้องดี เดือนที่เหมาะกับการปลูกต้องเริ่มที่เดือนสิงหาคมไปจนถึงตุลาคม เพราะเป็นช่วงที่ฝนเริ่มซาลงแล้ว ซึ่งลุงถนอมยังอาศัยวิธีสังเกตต้นตาลในธรรมชาติแล้วนำมาปรับใช้กับการลงมือปลูกจริงด้วย

“ลุงปลูกตาลแบบไม่ต้องขุดหลุม ปล่อยให้ขึ้นตามธรรมชาติ เพราะตาลในธรรมชาติ ไม่มีใครคอยขุดหลุมให้ ลุงใช้แนวคิดนี้แหละตาลโตนดเป็นพืชที่ชอบแสงแดด มีระยะปลูกระหว่างต้นห่างกันประมาณ 6 เมตร

ที่ตรงนี้ปลูกไว้ 450 ต้น ถ้าผลิเป็นน้ำตาลข้นจะได้วันละประมาณร้อยกว่ากิโลกรัม ตอนนี้หาคนทำน้ำตาลน้อยลงทุกวัน เพราะว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีใครสานต่อ”

ระยะเวลาในการปลูกตาลของลุงถนอมอยู่ที่ 10 ปีก็ให้ผลผลิต ไม่ต้องให้ปุ๋ยให้น้ำมาก สามารถมีอายุได้ถึงสี่ร้อยปี นอกจากนี้ลุงถนอมยังปลูกไผ่สีสุกควบคู่กันไปด้วย เพื่อนำมาใช้เป็นพะอง (ไม้ไผ่ตัดแขนงให้ยาวพอที่เท้าจะเหยียบขึ้นลงได้ สำหรับผูกพาดขึ้นต้นไม้ต่างบันได) และนำมาทำนั่งร้านซึ่งลุงถนอมออกแบบเอง รวมถึงทำเป็นกระบอกใส่น้ำตาลสดด้วย