ก่อนยกตึกแขวนผนัง : ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน – นักถ่ายภาพสถาปัตยกรรมกับนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขา

นิทรรศการนี้เป็นการที่ Schemata เชิญไปจัดแสดง
“ใช่ครับ วันหนึ่งคุณอานนท์ ไพโรจน์โทรมา แล้ว Schemata ติดต่อเข้ามา จริงๆ เราก็ใช้เวลาตัดสินใจอยู่หลายเดือน ก็คิดอยู่นานว่าจะแสดงอะไร แกลอรีต้องการอะไร ใครอยากดูอะไร เราอยากจะโชว์อะไร เราไม่ได้มีนิสัยเป็นอาร์ติสเลยนะ นิสัยเป็นสถาปนิกมากๆ คือถ้าเกิดทำแล้วตัวเราไม่รู้ว่ามันจะไปจบตรงไหนก็คงไม่ทำ งานนี้คือนั่งปั้นอยู่เกือบ 2 เดือนว่าเราจะโชว์อะไร ทำโปรดักชั่นอะไร ทำแล้วมันได้อะไรขึ้นมา หมายถึง คนที่มาดูเขาจะได้อะไร”

เป็นงานที่เก็บสะสมไว้อยู่แล้วของคุณภิรักษ์
“ใช่ครับ คือเราแบ่งเป็นส่วนๆ นะ นิทรรศการชื่อ ‘Parallel’ มันก็เป็นเรื่องของมุมมองที่ว่า เวลาเราถ่ายรูป เรามองอะไรหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน แล้วเราก็เห็นอะไรหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กันก็ตามนิสัยสถาปนิกล่ะ ที่มักจะมองให้รอบด้าน”

“นิทรรศการเราก็แบ่งเป็นส่วนๆ โซนแรก ด้านหน้าก็จะเป็นส่วนแนะนำตัวเรา หรือ Introduction โชคดีว่าสมัยที่เรายังถ่ายงานโดยใช้ฟิล์ม เราเก็บพวกโพลารอยด์แล้วก็ฟิล์มต่างๆ ไว้หมดเลย เราก็ได้เซ็ตนี้มานำเสนอในลักษณะที่ว่าเป็น ‘Tester’ หรือเป็นเซ็ตทดลอง เป็นสิ่งที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ เพื่อที่เราจะรู้ว่า ความสมบูรณ์แบบคืออะไร ซึ่งความสมบูรณ์แบบก็คือภาพที่จะอยู่บนโต๊ะไฟที่เราสั่งทำ จะเห็นฟิล์มงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่เราถ่ายตั้งแต่ปี 2005 จนถึงช่วงสักปี 2014 คือช่วงสุดท้ายที่เราใช้ฟิล์ม”

“พอวนเข้ามาในส่วนนิทรรศการหลักของ ‘Parallel’ ส่วนนี้จะเป็นชิ้นงานที่เราเลือกรูปมา 15 รูป มีทั้งดิจิทัล ทั้งฟิล์ม เล่าเรื่องสิ่งที่เรามองเห็นระหว่างที่เราทำงาน ระหว่างที่เราเดินทาง ในแง่ของเมือง ในแง่ของผู้คน สุดท้ายก็จะต่อด้วยเซ็ต ‘Master Series’ ซึ่งเป็นงานสถาปัตยกรรมระดับมาสเตอร์หลายๆ งานที่สถาปนิกเทิดทูนบูชา เราอยากรู้ว่าภาพในหนังสือเรียนที่เราเคยเห็น ถ้าเรากลับไปถ่ายมันอย่างตั้งใจมันจะเป็นอย่างไร หากคนที่ไม่ใช่สถาปนิกมาดูจะรู้สึกอย่างไร ภาพพวกนี้เราก็พิมพ์ออกมา 500 ชิ้น จะลองทดสอบดูด้วยว่าถ้าเราขายมันในราคาไม่แพงมาก รูปไหนที่จะหมดไปเยอะที่สุด”

การจัดงานนิทรรศการก็เหมือนขาข้างหนึ่งของคุณภิรักษ์ก้าวเข้าสู่ความเป็นศิลปิน รู้สึกอย่างไร เคยคิดมาก่อนไหม

“ไม่เคยคิดครับ ผมคิดว่า ถ้าทาง Schemata เขามองว่างานแบบนี้มันเป็นงานอาร์ตงานศิลปะในแง่มุมหนึ่ง ผมก็ต้องขอบคุณ แต่ในกระบวนการของการทำงานผมคงไม่ได้เสริมแต่ง ทำอะไรให้มันผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่ผมเคยทำ เพียงแต่ว่า มุมมองที่เราเลือกที่จะเก็บภาพ เราคิดอะไรกับมัน มันมีอะไรซ่อนอยู่ หรือมันมีอะไรที่เป็นเบื้องหลังภาพนี้อยู่ ผมคิดว่าซีรีส์ภาพ 15 ภาพที่เลือกมา มันน่าจะเล่าเรื่องได้”

“ตอนผมทำงานกับคุณอานนท์ ไพโรจน์ จริงๆ มันก็เริ่มมาจากการสนทนากับเขา ทำไมเราถ่ายรูปนี้ เขาสนใจรูปนี้  ทำไมถึงสนใจล่ะ เพราะเหตุผลนี้ ความเป็นเมืองทำไมมันดูเหงา คนอื่นเขาถ่ายมีผู้คนเดินเต็มเลย ทำไมเราถ่ายช่วงไม่มีคน เราถ่ายได้อย่างไร รูปสถานีรถไฟที่มิลาน มันควรจะมีคนเพียบเลยไม่ใช่หรือ ถ่ายออกมาไม่มีคนสักคน อ้าว! ก็เพราะมันไม่มีคนไงเราถึงถ่าย มันเหมือนกับเรายืนอยู่ตรงนั้นนะ กำลังรอรถ มันมีช่วงเวลาที่มีคนและไม่มีคน พอมันไม่มีคนปุ๊บ ออร่าของตัวงานมันเปล่งออกมาเลย แล้วเราจะไม่ถ่ายได้ไง มันสวยมากนะ สวยโคตร แล้วเราก็มองมัน คิดไปเรื่อยว่าเรากำลังคุยกับมัน”

เพราะว่าชอบคิดพล็อตเรื่องจึงทำให้มีความเป็นศิลปินหรือเปล่า
“ก็ไม่รู้เหมือนกัน เป็นเรื่องของคนอื่นเขาตีความ แต่เราก็สนุกของเราอย่างนี้ แล้วเราก็เดาเอาว่า ช่างภาพสถาปัตยกรรมหลายๆ คนก็จะมีโมเมนต์ประมาณนี้ คือเราจะดูจากภาพได้ แต่ละคนก็มีแง่มุมในการนำเสนอแตกต่างกันไป ของเรามันก็ด้วยการงาน โอกาสที่เราได้เดินทาง มันก็ทำให้เราคิดหรือรู้สึกกับตัวงานสถาปัตยกรรมในด้านอารมณ์มากๆ มันอิน  เพราะว่าส่วนใหญ่เวลาที่เราไปถ่ายงานๆ หนึ่ง เราก็มักจะคิดแทนสถาปนิกที่ออกแบบ มันเป็นอะไรที่เราสนุก ก็วิจารณ์ในใจบ้าง (หัวเราะ) แต่จริงๆ ประเด็นของเรื่องก็คือเราต้องหาคำตอบ แบ็คกราวน์ที่เราเป็นสถาปนิกด้วย อย่างแรกเลยเราต้องหาให้เจอประเด็น อะไรที่มันเป็นเนื้อหาหลักๆ ของโครงการนั้นๆ เพราะฉะนั้นเราต้องคิดตลอดเวลา ไม่ใช่ไปที่ตึกแล้วก็ไปย้ำอยู่มุมเดิม ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้”

คาดหวังให้คนดูได้อะไรจากนิทรรศการ
“ได้มีโอกาสได้มอง สิ่งที่เราเห็น งานผมมันนิ่งๆ ต้องใช้เวลานั่งดูหน่อย อย่างรูปใหญ่ๆ ก็จะหาเก้าอี้มาวางให้คนได้มานั่งดูเลย ว่าสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเขามันเป็นอย่างนี้หรือเปล่า มันมีที่แบบนี้ด้วยนะ อย่างสถานีรถไฟที่มิลานถ้าให้คนมิลานมาดูเขาอาจจะเพิ่งเคยเห็นก็ได้ หรือ ‘Master Series’ ตัว ‘Sun Tower’ จากเรื่อง ‘20th Century Boy’ มันมีพลังมากเลยนะ เราเคยดูการ์ตูนพอไปดูของจริงทำไมมันมีพลังอย่างนี้ งานพวก ‘Master Series’ คือเราใช้ทักษะที่เรามีไปเล่นกับงานสถาปัตยกรรม เล่นกับงานมาสเตอร์ ที่ปกติไม่มีใครเชื้อเชิญเราไปถ่าย แต่เราดั้นด้นไปถ่ายเอง มันสนุกดี มันไม่ใช่การนำเที่ยวนะ ผมอยากให้คนเขาเห็นงานสิ่งสร้างทั้งหลาย งานสถาปัตย์ก็ดี สภาพแวดล้อมก็ดี ที่ผมบันทึกมา มันจะชวนให้คนตั้งสติสักนิด ผมรู้สึกว่าชีวิตคนเราช่วง 3 -4 ปีมานี้ คนถือมือถือกันไม่สนใจโลกรอบๆ ตัว ซึ่งมันมีสิ่งเหล่านี้ มันเป็นแบบนี้

คนดูจะเข้าใจคุณค่าความงามของสถาปัตยกรรมมากขึ้นไหม
“อันนั้นเป็นอีกการรับรู้ละที่คนๆ หนึ่งเขาจะสัมผัสได้หรือเปล่า ผมคงต้องละไว้เป็นมุมมองหรือความคิด ความตระหนักได้ของคนดูจะไปบังคับความคิดเขาไม่ได้”

การก้าวเข้ามาทำนิทรรศการถือเป็นความสำเร็จของช่างภาพไหม
“ไม่ใช่หรอก ผมเคยให้สัมภาษณ์ความต้องการผมกับภาพที่ผมถ่าย ผมอยากให้คนดูชอบและจดจำภาพของเรา การทำนิทรรศการมันก็เหมือนการแชร์ไอเดีย ความคิดของเราให้คนอื่นรับรู้ ให้คนอื่นฟัง เขาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นอีกเรื่องมันจะมีฟีดแบ็คทั้งสองข้างอยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่ามันสำเร็จไหม ผมสำเร็จตั้งแต่ได้ทำงานที่เราชอบแล้ว แล้วก็พอมีกิน มีบ้านอยู่ ไม่ได้เป็นหนี้ ผมก็ถือว่าผมสำเร็จแล้ว ผมว่าความหมายของความสำเร็จของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ถ้าผมกระหายชื่อเสียงผมคงส่งประกวดระดับอินเตอร์เนชั่นแนล เขามีเวทีอยู่แล้ว ผมก็ไม่ได้กระตือรือร้นตรงนั้น”

เคยถูกถามไหมว่าจริงๆ แล้วช่างภาพสถาปัตยกรรมคืออะไร
ไม่เคยนะ (หัวเราะ) ง่ายๆ ก็คือช่างภาพที่ถ่ายงานสถาปัตยกรรม ของหรือ ‘Object’ ที่เราถ่ายมันก็ชัดเจนอยู่แล้ว ว่าเป็นสถาปัตยกรรม ถ้าก่อนหน้านี้ ก่อนที่มันจะมีการออกแบบกล้องหรือระบบเลนส์ที่มันสามารถแก้มุม Perspective ที่ผิดเพี้ยนได้ มันก็เป็นเรื่องของการบันทึกสถานที่ หรือว่าพื้นที่ หรือตัวอาคาร ซึ่งมันมีมานานแล้ว แต่มาตรฐานหรือว่ารูปแบบของการบันทึกภาพของงานที่เราทำมันก็เป็นมาตรฐานมาจากตะวันตก ก็คือการถ่ายภาพให้มันเหมือนกับที่เรามองเห็นด้วยตา โดยมีมุมของอาคารที่ไม่ผิดเพี้ยน ยกตัวอย่างเช่นสมัยก่อนสัก 5 ปีที่แล้ว คนชอบไปถ่ายวัด แล้วใช้เลนส์มุมกว้างหรือเลนส์ Wide งัดกล้องเก็บอาคารให้หมด ซึ่งมันจะทำให้วัดดูสูงเฟี้ยวเลย ทุกวันนี้ผมแทบไม่เห็นเลย ดีใจนะ คือว่าคนมีความเข้าใจอาคารมากขึ้น เมื่อก่อนงัดให้วัดแหลมเฟี้ยวคือสวย มันก็คือสวยของเขานะ แต่ไม่ใช่สวยสำหรับเรา เราก็รู้สึกว่าต้องแก้มุมที่เพี้ยนให้มันตรง เราอุตส่าห์มีอุปกรณ์ที่มันสามารถแก้ไขมุมที่มันผิดเพี้ยนได้แล้ว เราก็ใช้ตรงนั้น ความงามของเรามันก็อยู่ตรงนั้น องค์ประกอบภาพของเราก็อยู่ตรงนั้น”

ถ้าอาคารมันสวยอยู่แล้วถ่ายไปอย่างไรมันก็สวยหรือเปล่า
“ไม่จริง ถ้าช่างภาพอ่านมุมไม่ออกถ่ายมามันอาจจะไม่สวยก็ได้หรืออาจจะสวยก็ได้ แต่ผมเชื่อว่าสมัยนี้แค่มีมือถือ คนถ่ายรูปเก่งก็เยอะขึ้น โดยเฉพาะตอนที่มีอินสตาแกรมเข้ามาแรกๆ กล้องดิจิทัลมันทำให้คนหัดถ่ายรูปเป็นเร็วมากขึ้น ประมาณ 2010 มั้ง มีเว็บไซต์มาขอสัมภาษณ์วิธีการถ่ายภาพ ผมก็บอกไปง่ายๆ ว่าตั้งกล้องให้ตรง แล้วก็บรรจงกดชัตเตอร์เบาๆ เมื่อก่อนเราอาจจะเห็นคนถ่ายมือถือ ถือแบบเบี้ยวๆ แต่ทุกวันนี้เห็นคนตั้งมือถือ ตั้งใจถ่าย เพราะเขาเข้าใจว่าแค่ตั้งมือถือให้เป็นระนาบตรง ภาพมันก็จะดูดีกว่าคนอื่น”

หากว่าไม่มีเวทีนี้ คิดว่าจะจัดนิทรรศการเป็นของตัวเองไหม
“ไม่รู้เลย มันก็มีโอกาสมาเรื่อยๆ นะครับ อย่างปีที่แล้วเราจัดนิทรรศการ ‘Present’ ที่งานสถาปนิก (นิทรรศการภาพสถาปัตยกรรม งานสถาปนิก’59) เราก็รู้สึกว่าไม่ใช่นิสัยที่จะจัดคนเดียว เราเชิญเพื่อน 20 กว่าคนมาแจมกัน สนุก ส่วนอันนี้งานผมคนเดียว แต่ก็เชิญเพื่อนมาช่วยนะ ก็กดดันนิดหนึ่งว่าเราจะทำออกมาได้ดีไหม ถ้าเกิดอยู่เฉยๆ ก็คงไม่ได้ริเริ่มขึ้นมา”

คนที่มาจะได้มาเห็นอะไรในงานนี้
 “ตอบยากเหมือนกันนะ…น่าจะเห็นรูปของผมที่สถาปนิกเขาไม่เอา (หัวเราะ) เอาเป็นว่า เห็นงานของผมที่ไม่ได้ถ่าย ในงานประจำวันก็แล้วกัน มันเป็นมุมมองหนึ่งมุมมองส่วนตัว เห็นของที่ผมไปถ่ายที่คนอื่นไม่ได้สนใจ ไม่ได้จ้าง ไม่ได้สั่ง แต่ผมเห็นในที่เดียวกัน เช่น เขาจ้างไปถ่ายตึกคอนโดอันใหม่ตรงหน้า แต่ผมหันไปมองเห็นผนังคอนโดด้านหลังที่มันเปิดมานานแล้ว แล้วมัน..โห ความหนาแน่นหรือว่า ‘Density’ มันประทับใจมาก ต้องตั้งกล้องหันกลับไปถ่าย หรือว่า เป็นของที่เราไม่ได้เห็นได้ทุกวัน เช่น มีรูปชายทะเลหัวหิน ปกติคนจะถ่ายท้องฟ้า ทะเล แต่ที่นี่ ผมมีภาพสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ ที่มันเรียบมันซ้อนทับไปกับทะเล เป็นบ้านคหบดี ผมเรียกมันว่า ‘Manmade Horizontal’ ก็คือมันเรียบไปเลย ผมถ่ายทะเลแต่มันมีสิ่งสร้างของมนุษย์โผล่เข้ามามองเผินๆ มันก็เบลนด์ไปด้วยกัน แต่หากมองดีๆ สักนิดแล้วมีสติก็จะเห็นว่ามันไม่ใช่ของธรรมชาติ”

สำหรับผู้ที่สนใจงานสถาปัตยกรรม นิทรรศการภาพถ่ายนี้ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง สามารถเดินทางไปชม นิทรรศการ ‘Parallel’ ได้ ณ Schemeta Gallery โครงการ A Square ซอยสุขุมวิท 26 บนชั้น 2 ของร้านอาหารเสวย ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2560 นี้


เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: ศุภกร, ภาพประชาสัมพันธ์

 

รวม instagram สถาปนิก ภาพสวย ที่อยากชวนคุณมาฟอลโลว์