สถาปัตยกรรมแบบ “สั่งตัด” ที่ตอบรับภูมิอากาศแบบทรอปิคัล

– David Chan Weng Cheong & Chan Mun Inn – Design Collective Architects

หากจะบอกว่ามาเลเซียคือประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดเราที่สุดประเทศหนึ่งก็คงไม่ผิดนัก ด้วยเขตที่ตั้งที่ใกล้ชิดและภูมิอากาศที่คล้ายคลึง วัฒนธรรมการอยู่อาศัยจึงดูเหมือนจะไม่ต่างจากบ้านเราสักเท่าไหร่

David Chan Weng Cheong และ Chan Mun Inn จาก Design Collective  Architects (DCA) สำนักงานสถาปนิกเจ้าของผลงานสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคใหม่ของมาเลเซีย นอกเหนือไปจากเส้นสายเรียบนิ่งลงตัว หลาย ๆ โปรเจ็กต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรเจ็กต์ที่อยู่อาศัยของทั้งคู่ ได้สะท้อนถึงงานโมเดิร์นที่เข้ากันได้ดีกับประเทศที่มีภูมิอากาศแบบทรอปิคัล อีกทั้งยังนำวิถีชีวิตท้องถิ่นมาใช้ร่วมกับงานออกแบบด้วย

เช่น โปรเจ็กต์ 38Mews ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยของคุณมันอินน์เอง เขาได้ผสมผสานรูปแบบของบ้านพื้นถิ่นแบบดั้งเดิมของมาเลเซียหรือที่เรียกว่า “Rumah Melayu” ซึ่งมีเอกลักษณ์เด่นอยู่ที่หลังคาทรงจั่ว และยกใต้ถุนสูงคล้ายบ้านเรือนไทย มาใช้ในการออกแบบบ้านโดยนำมาปรับประยุกต์ใหม่ จนกลายเป็นบ้านโมเดิร์นโดดเด่นด้วยรูปลักษณ์และฟังก์ชัน อย่างการยกพื้นสูงที่ช่วยให้เกิดการไหลเวียนของอากาศและเพิ่มความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย ตอบโจทย์การอยู่อาศัยในสภาพอากาศร้อนชื้นได้อย่างดี

DCA: “จริง ๆ แล้ววัฒนธรรมการอยู่อาศัยและความคุ้นเคยกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆ ในเอเชีย ยังคงสอดแทรกอยู่ในสังคมและวิถีชีวิตของผู้คนปัจจุบันในภูมิภาคของเรา ในกระบวนการออกแบบเราจึงตั้งใจอยากรักษา “แก่น” ของวัฒนธรรมท้องถิ่น ไปพร้อม ๆ กับให้ความสำคัญกับตัวตนของผู้อยู่อาศัย โดยพยายามใช้ช่างฝีมือและแรงงานท้องถิ่น รวมไปถึงเลือกวัสดุที่สามารถคงความงามได้ยาวนานแม้กาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงไป”

Design Collective Architects

อ่านต่อ : บ้านทาวน์เฮ้าส์หลังเล็กที่เข้าใจการใช้พื้นที่

 

ภายใต้เส้นสายเรียบง่าย สเปซและองค์ประกอบที่ออกแบบให้ตอบรับกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย คือแนวคิดของ DCA กับการสร้างสรรค์ “BESPOKE Architecture” สถาปัตยกรรมแบบ “สั่งตัด” หรือการออกแบบเพื่อตอบรับความต้องการและการใช้งานเฉพาะบุคคล จึงไม่แปลกที่ DCA จะลงรายละเอียดเป็นพิเศษกับการทำความรู้จักเจ้าของบ้านและเก็บข้อมูล เพื่อหาแรงบันดาลใจการออกแบบที่เหมาะสม เห็นได้จากโปรเจ็กต์บ้านทาวน์เฮ้าส์ของ David Chan ที่ได้รับการรีโนเวตใหม่ให้สเปซอยู่อาศัยมีลักษณะคล้ายอพาร์ทเม้นต์ โดยเพิ่มการใช้งานในแนวตั้ง เช่น การออกแบบดับเบิลสเปซเพื่อช่วยให้บ้านโปร่งโล่ง ตอบรับการใช้ชีวิตแบบที่เจ้าของบ้านคุ้นเคย

DCA: “ความท้าทายของการออกแบบบ้านในภูมิอากาศแบบทรอปิคัล คือการพยายามสร้างความสมดุลระหว่างบ้านที่เอื้อต่อภาวะน่าสบาย กับค่านิยมเดิม ๆ ของผู้อยู่อาศัย”

งานออกแบบของ DCA จึงมีทั้งการประนีประนอม ไปพร้อม ๆ กับการนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้สถาปัตยกรรมเป็นมากกว่าอาคาร แต่เป็นที่อยู่อาศัยช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจไปพร้อม ๆ กัน

DCA: “เราชื่มชมสถาปนิกที่ใช้งานออกแบบของพวกเขาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นอาคารสงเคราะห์ อาคารส่วนกลางชุมชน หรืออาคารเพื่อประโยชน์สาธารณะ เราตั้งใจจะใช้สถาปัตยกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในระยะยาวอย่างยั่งยืน แม้การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมเขตร้อนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สร้างความท้าทายก็คือเราจะส่งเสริมแนวคิดของความยั่งยืนนี้ให้ประชากรส่วนใหญ่ของโลกได้อย่างไร”

อ่านต่อ : โมเดิร์นแต่ไม่ทิ้งความเป็นพื้นถิ่น

สำหรับใครที่อยากร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับคุณ David Chan Weng Cheong และ Chan Mun Inn จาก Design Collective Architects (DCA) พบกันได้ในงานเสวนา DESIGN TALK : Modern Tropical (re)Design วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคมนี้ 14.00 น. @งานบ้านและสวนแฟร์ มิดเยียร์ 2017, Hall 100 ไบเทคบางนา สำรองที่นั่งฟรีที่ www.baanlaesuan.com/designtalk-register 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติ่มได้ที่ : Room Fan


 

เรื่อง Monosoda
ภาพ DCA,แฟ้มภาพนิตยสารบ้านและสวน