PIXELS OF GREENERY สวนสไตล์โมเดิร์นที่เด่นด้วยกิมมิกจากพิกเซล

อีกหนึ่งมุมนั่งเล่นหน้าโครงการใช้การยุบยื่นของโครงเหล็กในระยะไม่เท่ากันทั้งในแนวตั้งและแนวนอน แล้วติดกระจกเงาแบบเว้นจังหวะเพื่อช่วยสะท้อนแสงเงาของพรรณไม้ในสวน ไม่ต่างจากการประดับกรอบรูปภาพสีเขียว
ออกแบบแปลงไม้พุ่มให้ดูคล้ายพิกเซลเรียงสลับกันไปมา สร้างมิติให้เห็นชัดขึ้นด้วยการยกระดับโดยใช้เพลตเหล็กสีดำปิดทับขอบ ดูสอดรับกับโครงสร้างเหล็กของตัวอาคาร และเป็นการปิดร่องรอยงานก่อสร้างไปในตัว
ใช้แผงตะแกรงเหล็กฉีกสีดำกั้นระหว่างบ้านแต่ละหลัง เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวแต่ไม่รู้สึกอึดอัด โดยมีต้นรางจืดค่อย ๆ เลื้อยขึ้นคลุมแผงตะแกรงเหล็กจนเต็ม นอกจากช่วยพรางสายตาแล้ว ยังมีประโยชน์ใช้เป็นพืชสมุนไพรได้ด้วย

สเต็ปสร้างสเปซ
สวนพ็อคเก็ตที่เปรียบเสมือนพื้นที่สีเขียวหลักของโครงการ ใช้สำหรับเป็นที่พักผ่อนของทุกคน หรือจะชวนเพื่อน ๆ มาปาร์ตี้ในวันว่างก็ได้ โดยใช้รูปแบบของพิกเซลมาต่อยอดด้วยการยกระดับพื้นที่สวนออกเป็น 3 ระดับไล่เรียงกัน เพื่อแบ่งพื้นที่การใช้งานออกเป็น 3 ส่วน และด้วยสเปซที่เหลื่อมกันนี้เองจึงทำให้แต่ละส่วนสามารถมองเห็นกันได้อย่างทั่วถึง ทั้งยังช่วยสร้างมิติให้สวนได้อย่างดี

ปลูกต้นแคนาไว้หน้าบ้านแต่ละหลัง โดยกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ขวางทางสัญจรเข้า-ออกบ้าน นอกจากช่วยสร้างร่มเงาแล้ว ยังเป็นการแบ่งขอบเขตไปในตัว
ปลูกต้นหูกระจงเพื่อให้ร่มเงาครอบคลุมพื้นที่นั่งเล่น แล้วจัดวางโต๊ะไม้จริง เจาะช่องไว้ด้านล่างดูกลมกลืนกับเก้าอี้ทรายล้างสีขาวเซาะร่องที่วางคู่กัน

พรรณไม้ในสวนพิกเซล
ออกแบบพื้นที่สีเขียวให้ล้อไปกับรูปทรงสี่เหลี่ยมของพิกเซลทั้งในแนวราบและแนวดิ่งให้สามารถมองเห็นได้จากทุกมุม โดยเริ่มจากการวางตำแหน่งไม้ยืนต้นไว้ที่หน้าบ้านแต่ละหลังโดยไม่กีดขวางทางสัญจร ต่อด้วยการสร้างขอบเขตสีเขียวจากไม้รั้วจำพวกโมก ไทรอินโด แล้วเติมเต็มด้วยไม้พุ่มหลากชนิดปลูกแบบผสมผสานกันเพื่อลดความแข็งกระด้างของเส้นสาย โดยเน้นพรรณไม้ทนแดด อย่าง เล็บครุฑ พุดศุภโชค และไม่ลืมสร้างจุดเด่นด้วยสีชมพูของแวววิเชียร

 

DID YOU KNOW?

คำว่า room เมื่อนำมาใช้ในงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม มักหมายถึงการสร้างขอบเขตของสเปซในงานภูมิสถาปัตยกรรม โดยนำระนาบในแนวราบและแนวดิ่งมาเป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างขอบเขตของพื้นที่หนึ่ง ๆ เช่น ในส่วนของสวนพ็อคเก็ตของโครงการ การยกระดับพื้นที่ในแนวดิ่งทำให้สามารถแบ่งขอบเขตพื้นที่ (room) ได้เป็น 3 ส่วน โดยใช้แนวระนาบของม้านั่งมาเป็นเส้นสมมุติกำหนดขอบเขต และใช้ต้นหูกระจงช่วยสร้างระนาบเหนือศีรษะเสมือนเพดานสมมุติของห้องนั่งเล่นธรรมชาติ

 

ออกแบบสถาปัตยกรรมและเจ้าของโครงการ  : ม.ล.ภัสรดิศ  ดิศกุล
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม : คุณกัลยวัจน์ เลิศพีรากร   
โทร. 08-0440-3851
E-mail : [email protected]

 

อ่านต่อสวนสไตล์อื่นได้ที่  : Garden : รวมสวนสวยหลากสไตล์ และสำหรับใครที่อยากได้ไอเดียการดูและและจัดสวนแบบต่างๆ ได้ที่ : garden ideas – รวมไอเดียสำหรับคนรักสวน

 


เรื่อง BRL
ภาพ นันทิยา
ภาพประกอบ คณาธิป
เรียบเรียง Pari