DEVA FARM สมาร์ทฟาร์มฮอปส์แห่งแรกในไทย

DEVA FARM – เทพฟาร์ม

แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก ภาครัฐจึงเน้นผลักดันและให้การสนับสนุนภาคการเกษตรอยู่ตลอดเวลาตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งมีเนื้อหาในการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value-Based Economy” หรือ“เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” โดยมีประเด็นด้านการพัฒนาระบบเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรกรรมสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า “Smart Farming” รวมอยู่ในโมเดลด้วย

เกษตรอัจฉริยะคือการเกษตรรูปแบบใหม่ที่นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบคอมพิวเตอร์เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยให้การทำเกษตรเป็นเรื่องง่าย ทั้งยังช่วยลดต้นทุนลดแรงงาน ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานมากขึ้นเพื่ออธิบายและยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เราจึงอยากพาไปทำความรู้จัก DEVA FARM ระบบเกษตรกรรมรูปแบบใหม่ สมาร์ทฟาร์มที่เกิดขึ้นและใช้งานได้จริงในประเทศไทย

DEVA FARM

ฟาร์มแห่งนี้เริ่มจากการอยากปลูกผักไฮโดรโปนิกไว้กินเองของสองพี่น้อง คุณอ๊อบ – ณัฐชัย และ คุณอาร์ต – ธีรภัทรอึ๊งศรีวงศ์ อดีตเจ้าของบริษัทผลิตซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นสำหรับโทรศัพท์ที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว แต่การปลูกผักไฮโดรโปนิกนั้นต้องมีการควบคุมน้ำ ปุ๋ย ค่า pH ที่ต้องทดลองและควบคุมดูแลอย่างละเอียด ซึ่งเป็นงานที่ต้องทำเป็นประจำซ้ำ ๆ พวกเขาจึงเริ่มเขียนซอฟต์แวร์เพื่อให้ระบบเข้าไปควบคุมการทำงานเหล่านี้แทน ประกอบกับความชื่นชอบในการดื่มเบียร์ จึงเริ่มสั่งเหง้าต้นฮอปส์แบบแท่งมาจากอเมริกา ซึ่งเป็นการท้าทายว่า เมืองไทยก็สามารถปลูกฮอปส์ได้ไม่เฉพาะเมืองหนาวเท่านั้น ทั้งคู่ลองผิดลองถูกอยู่นานจนประสบความสำเร็จ และต่อยอดทดลองปลูกพืชชนิดอื่นเพิ่มเติม เช่น องุ่น ราสป์เบอร์รี่โรสแมรี่ กระทั่งเกิดเป็นฟาร์มฮอปส์แห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลที่จังหวัดนนทบุรีนี่เอง

COMPUTER ENGINEER TO SMART FARMER

ด้วยความที่เจ้าของฟาร์มเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์อยู่แล้วเขาจึงได้ออกแบบระบบซอฟต์แวร์เองทั้งหมด โดยได้ทำการศึกษาและทดลองจนได้ออกมาเป็นองค์ความรู้และตัวช่วยในการทำฟาร์มแห่งนี้ให้เป็นฟาร์มที่สมบูรณ์แบบ ระบบที่พัฒนาขึ้นทำหน้าที่ควบคุมปัจจัยการปลูกฮอปส์ต่าง ๆ ดังนี้

  • น้ำและปุ๋ย

เจ้าของฟาร์มได้เปลี่ยนระบบการให้น้ำและปุ๋ยแบบเดิมที่เรียกว่า Deep Water Culture หรือระบบน้ำวน ที่สูบน้ำมาใช้ ทิ้งไป แล้ววนกลับมาใหม่ ซึ่งมีข้อเสีย เพราะไม่สามารถควบคุมปริมาณปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม และทำให้รากของพืชต้องแช่น้ำเป็นเวลานานจนเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อรามาเป็นระบบใช้แล้วทิ้ง หรือ Drain to Waste ที่สามารถคำนวณปริมาณการให้น้ำแต่ละครั้งได้อย่างพอดี เหมาะกับต้นฮอปส์ที่มีระยะปลูกยาวนาน โดยหันมาเพิ่มจำนวนครั้งในการให้น้ำให้บ่อยขึ้นแทน

ส่วนธาตุอาหารต่าง ๆ ที่นี่ได้คิดค้นสูตรขึ้นใช้เองเพื่อให้รากสามารถดูดซึมขึ้นไปหล่อเลี้ยงลำต้นได้ง่ายช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตได้ดี สามารถควบคุมได้อย่างแม่นยำด้วยระบบเซ็นเซอร์และมิเตอร์ที่ใส่ไว้ในถังปุ๋ย

  • อุณหภูมิและความชื้น

เนื่องจากต้นฮอปส์เป็นพืชที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมสูง แถมต้องคอยป้องกันแมลงเป็นพิเศษ โรงเรือนจึงต้องเป็นกรีนเฮ้าส์ เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต วัดค่าอุณหภูมิด้วยระบบเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ภายในโรงเรือน หากอุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลงที่สูงขึ้นเซ็นเซอร์จะสั่งการไปยังหัวพ่นหมอก (Fogger) ให้พ่นน้ำเพื่อลดอุณหภูมิในโรงเรือนลง ทั้งนี้หัวพ่นหมอกจะไม่พ่นเท่ากันทุกจุด แต่จะทำงานเฉพาะบริเวณที่เซ็นเซอร์แจ้งเตือนเมื่อหัวพ่นหมอกทำงานก็จะส่งสัญญาณไปยังสมาร์ทโฟนบอกว่าบริเวณใดเกิดปัญหา ช่วยให้เจ้าของสามารถแก้ไขได้อย่างแม่นยำ

did you know?
ฮอปส์ (Hops) คือไม้เลื้อยชนิดหนึ่งดอกใช้เป็นส่วนประกอบในการทำคราฟต์เบียร์ เพราะมีสาร Lupulin ที่มีคุณสมบัติเหมือนสารกันบูดธรรมชาติให้รสขมและมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ในปัจจุบันมีฮอปส์ทั้งหมด 3 แบบ คือ1. แบบดอกสด 2. แบบดอกแห้ง 3.แบบอัดเม็ด

ตามไปชมได้ที่ : www.facebook.com/DevaFarmCafe

 


เรื่อง ปลากริมไข่เต่า
ภาพ นันทิยา, อนุพงษ์,เอกสารประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบ คณาธิป
เรียบเรียง Pari