จัดสวนให้เหมาะกับคนหลายวัย

สวนผู้สูงอายุ สวนสำหรับเด็ก เป็นพื้นที่ที่ทุกคนในบ้านสามารถออกมาพักผ่อนหย่อนใจ ความเขียวชอุ่มของพรรณไม้ ตลอดจนองค์ประกอบต่างๆในสวนยังสร้างความรู้สึกสดชื่นไปจนถึงมีส่วนช่วยพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพทางร่างกายของผู้ใช้งานได้

แนวทางการออกแบบ สวนผู้สูงอายุ จึงควรคำนึงถึงการใช้งานได้จริงของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุและเด็กก็ควรเน้นเรื่องความปลอดภัยและความสะดวกในการใช้งานเป็นพิเศษ ลองมาดูไอเดียการออกแบบสวนที่ตอบโจทย์การใช้งานของสมาชิกทุกวัยในบ้านกันครับ

ทางเดินที่เหมาะสม

ทางเดินหรือลานภายในสวนเป็นทางสัญจรที่เชื่อมระหว่างจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งสมาชิกทุกคนในบ้านต้องใช้งาน จึงควรมีระยะทางไม่ยาวมากและต้องมองเห็นได้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ใช้ทราบระยะและทิศทางการเดินที่ถูกต้อง หากจำเป็นต้องทำทางเลี้ยวหรือทางเดินมีลักษณะคดเคี้ยวก็ควรมีระยะโค้งกว้างและมีจำนวนไม่มาก โดยองศาการเลี้ยวต้องมีมุม 90 องศาขึ้นไป ระยะความกว้างของพื้นทางเดินไม่ควรต่ำกว่า 1.50 เมตร หากพื้นมีระดับไม่เสมอกันควรทำทางพื้นลาดสำหรับให้รถเข็นเคลื่อนที่ได้ง่ายหรือคนเดินได้สะดวก หากออกแบบเป็นบันไดหรือพื้นยกระดับ ความชันของพื้นลาดควรอยู่ที่ 1 ต่อ 12 (ความสูง 1 หน่วยต่อความยาว 12 หน่วย) ถึง 1 ต่อ 20 (ความสูง 1 หน่วย ต่อความยาว 20 หน่วย) และไม่ควรทำทางลาดที่มีความยาวเกิน 6 เมตร หากเกินควรทำชานพักขนาดไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร ก่อนเป็นพื้นลาดต่อไป

จัดสวน สวนสวย ทางเดินในสวน

สำหรับวัสดุปูพื้นควรเลือกประเภทที่พื้นผิวไม่มีร่อง ไม่แนะนำให้ใช้วัสดุที่มีผิวสัมผัสขรุขระ เช่น กรวดล้าง กระเบื้องคอนกรีต กระเบื้องหินกาบ หรือคอนกรีตแสตมป์ เนื่องจากจะทำให้เดินยากและไม่เหมาะกับผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ แต่พื้นที่เรียบเกินไปก็จะลื่น โดยเฉพาะหากมีน้ำขังหรือเปียกก็ยิ่งเป็นอันตราย นอกจากนี้สีของทางเดินควรเป็นสีธรรมชาติหรือสีโทนเข้ม ตัดกับสีพื้นสนามหญ้าหรือต้นไม้รอบๆ  เช่น สีเทาเข้ม น้ำตาล และดำ เนื่องจากสีอ่อนจะสะท้อนแสงแดดเข้าสู่ตาจนอาจเป็นอันตรายต่อสายตาและทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการหน้ามืดได้ ส่วนสีที่ใช้ระหว่างทางลาดกับพื้นต่างระดับก็ควรมองเห็นได้ชัดเจน เพื่อให้สามารถรับรู้ถึงลักษณะความชันได้ก่อนเดินผ่าน

เพิ่มที่นั่งหลายๆมุม

มุมนั่งเล่นในสวน สวนสวย สวนสวย ทางเดินในสวน

การนั่งเป็นอิริยาบถที่สบายเหมาะกับผู้สูงอายุ การทำมุมนั่งเล่นตามจุดต่างๆตลอดระยะทางเดินก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจ แต่ควรเป็นพื้นที่ซึ่งได้ร่มเงาจากต้นไม้ เช่น ขอบกระบะปลูกต้นไม้ ซุ้มไม้เลื้อย หรือศาลานั่งเล่น และตำแหน่งของที่นั่งต้องไม่อยู่ในที่ลับตาคน เพื่อจะได้คอยสอดส่องดูแลผู้สูงอายุหรือเด็กที่กำลังนั่งพักผ่อนได้สะดวก

มุมนั่งเล่น

สำหรับการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ นอกจากรูปแบบสำเร็จรูปที่มีขายในท้องตลาด ซึ่งมีขนาดตามมาตรฐานแล้ว หากต้องการก่อสร้างที่นั่งใหม่ไปพร้อมกับงานฮาร์ดสเคป เช่น มุมที่นั่งบนขอบกระบะปลูกต้นไม้ ควรออกแบบให้มีระยะความสูง 45 – 50 เซนติเมตร ลึก 40 – 60 เซนติเมตร และควรมีราวจับด้านข้างสูงจากพื้น 65 – 70 เซนติเมตร เพื่อช่วยพยุงตัวสำหรับตอนลุกขึ้นยืน ก็ทำให้สามารถนั่งเล่นในสวนได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

จัดมุมกิจกรรม

การทำกิจกรรมกลางแจ้งมีส่วนช่วยสร้างพัฒนาการได้ทั้งในวัยเด็กไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ โดยกิจกรรมที่ทำก็มักเปลี่ยนไปตามวัย ในวัยเด็กจะเน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ จินตนาการ และพละกำลังมากกว่าวัยสูงอายุ พื้นที่ที่เหมาะสมควรมีลักษณะเป็นลานกว้างที่ไม่ใช่พื้นแข็ง เช่น พื้นสนามหญ้า พื้นทราย หรือพื้นกระเบื้องยาง เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ ก็พอช่วยบรรเทาไม่ให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง สำหรับผู้สูงอายุนั้นต้องการบริเวณที่มีพื้นเรียบ ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่มาก แต่ต้องเดินไปไหนมาไหนได้ง่าย อาจเป็นมุมศาลาหรือลานขนาดเล็กที่มีร่มเงา สามารถนั่งทำกิจกรรมเบาๆอยู่กับที่ได้ในระยะเวลาหนึ่ง เช่น จัดสวนครัว สวนกระถาง โต๊ะหมากรุก ลานโยคะ ลานออกกำลังกาย มุมทำงานศิลปะ หรือมุมอ่านหนังสือ ซึ่งพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ควรจัดรวมให้อยู่ในมุมเดียวกัน จะช่วยลดระยะการเดินและสามารถทำกิจกรรมได้ต่อเนื่อง

สำหรับกิจกรรมที่นิยมทำในสวนคงหนีไม่พ้นการปลูกต้นไม้ อาจทำเป็นมุมปลูกผักหรือต้นไม้ขนาดเล็ก เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจกรรมได้นานในอิริยาบถที่สบาย ขนาดโต๊ะทำงานควรกว้างไม่น้อยกว่า 75 เซนติเมตร และมีความสูงจากพื้นถึงท็อปโต๊ะ 75-80 เซนติเมตร รวมถึงมีระยะที่ว่างใต้โต๊ะไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร นอกจากนี้ควรกำหนดให้มุมทำกิจกรรมของผู้สูงอายุและสนามเด็กเล่นอยู่ใกล้ๆกัน เพื่อให้สามารถมองเห็นกันและกันได้ง่าย อันเป็นการช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย