D HOSTEL BANGKOK โฮสเทลรีโนเวตสไตล์อินดัสเทรียลลอฟต์ในยุคคลาสสิก

ชุบชีวิตอาคารหลังเก่าหลังนี้ให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง กับ D Hostel Bangkok ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการรีโนเวตอาคารที่แวดล้อมด้วยอาคารพาณิชย์แบบโบราณ ด้วยการนำดีไซน์เก่าที่นิยมใช้การทำบัวคิ้ว และประดับงานปูนปั้นที่หัวเสาเลียนแบบองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมแบบยุคคลาสสิกมาใช้เป็นแนวคิดในการออกแบบ

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Klickken Studio

D Hostel Bangkok เริ่มต้นมาจากการมองกระแสการท่องเที่ยวแบบประหยัดที่กำลังเป็นที่นิยม ประกอบกับข้อจำกัดด้านพื้นที่ในย่านท่องเที่ยวซึ่งไม่สามารถสร้างอาคารใหม่ได้ การรีโนเวตอาคารเก่าโดยปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการอนุรักษ์อาคารให้ยังมีชีวิตอยู่ได้ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป กลายเป็นเทรนด์ที่พักมาแรงตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็คเกอร์

D Hostel Bangkok
บรรยากาศด้านหน้าอาคารในช่วงเย็นมองเห็นลายเส้นของโครงเหล็กสีขาวบนพื้นหลังสีดำได้อย่างชัดเจนโดยมีไลติ้งช่วยขับรายละเอียดต่าง ๆ ให้สวยงามขึ้น

เช่นเดียวกับ D Hostel Bangkok ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุผลเดียวกัน เมื่อ คุณเบนซ์ธันยาภรณ์ เปี่ยมวิริยะกุลและครอบครัว ได้ซื้ออาคารพาณิชย์ยุคเก่ามาชุดหนึ่งในทำเลเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นย่านท่องเที่ยวยอดนิยมของทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เขาจึงใช้ประสบการณ์ที่ตนเองและครอบครัวเคยดูแลและบริหาร “Feung Nakorn Balcony” บูทีคโฮเทลจนประสบความสำเร็จ มาปรับปรุงอาคารนี้ให้กลายเป็นที่พักในรูปแบบที่ต่างออกไป โดยได้ คุณนิวกิตติธัช นรเศรษฐกร สถาปนิกจาก Klickken Studio เป็นผู้ชุบชีวิตอาคารหลังเก่าหลังนี้ให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

บริเวณล็อบบี้ ด้วยความที่อาคารเดิมมีระดับฝ้าเพดานไม่สูงมากนักเมื่อนำมาปรับใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางมีผู้ใช้งานร่วมกันหลายคน สถาปนิกจึงทำฝ้าเพดานแบบหลุมฝ้าขนาดใหญ่แล้วติดไฟหลืบเพืิ่อเพิ่มมิติ ช่วยลดความอึดอัดได้ดี ด้านบนเติมลูกเล่นด้วยการแขวนแผ่นไม้ฉลุลายความยาวเท่ากับโต๊ะรับประทานอาหารช่วยบังสายตาจากความไม่เรียบร้อยของงานระบบต่าง ๆ ล้อไปกับกระเบื้องลายโบราณ สร้างความต่อเนื่องให้พื้นที่
บริเวณล็อบบี้ตกแต่งด้วยแผ่นเหล็กสีดำฉลุลายวิวทิวทัศน์สถานที่สำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์ตัดกับสีเขียวพาสเทลของผนังซึ่งเชื่อมโยงกับสีของกระเบื้องพื้นลวดลายโบราณ บอกเล่าเสน่ห์ในย่านเมืองเก่าได้เป็นอย่างดี

เนื่องจากที่ตั้งของอาคารแวดล้อมด้วยอาคารพาณิชย์แบบโบราณ ที่นิยมใช้การทำบัวคิ้ว และประดับงานปูนปั้นที่หัวเสาเลียนแบบองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมแบบยุคคลาสสิก สถาปนิกจึงตั้งใจออกแบบตัวอาคารของโฮสเทลให้สอดคล้องกับบริบทใกล้เคียง เห็นได้จากการออกแบบหน้ากากอาคารหรือฟาซาดที่ถือเป็นไฮไลท์เด่น ซึ่งมีที่มาจากกฎหมายการสร้างโรงแรมที่จำเป็นต้องมีบันไดหนีไฟ เพื่อความปลอดภัยของแขกผู้เข้าพัก ทำให้ผู้ออกแบบต้องเพิ่มเติมบันไดหนีไฟให้อยู่บริเวณด้านหน้าอาคาร ด้วยการนำโครงเหล็กสีดำมายึดเข้ากับตัวอาคารภายนอก จากนั้นใช้เหล็กกล่องสีขาวออกแบบให้เป็นลายเส้นแบบสองมิติ ที่ลดทอนมาจากรูปด้านหน้าของอาคารสไตล์โคโลเนียลทำหน้าที่เป็นหน้ากากอาคารขนาดใหญ่ สะท้อนภาพลักษณ์งานสถาปัตยกรรมในยุคคลาสสิกด้วยภาษาของงานออกแบบในศตวรรษที่ 21 ผสมผสานกับสไตล์อินดัสเทรียลลอฟต์ ดูกลมกลืนกับบริบทรอบ ๆ ได้อย่างลงตัว

ติดตั้งโครงสร้างบันไดหนีไฟและทำพื้นตะแกรงเหล็กฉีกซึ่งมีน้ำหนักเบาไว้ภายนอกอาคาร เพื่อให้กระทบกับโครงสร้างอาคารเดิมน้อยที่สุด
พื้นที่ระเบียงด้านหลังอาคารเดิมเคยเป็นส่วนซักล้าง ได้รับการปรับเปลี่ยนใหม่ให้เป็นสวนและพื้นที่มุมนั่งเล่นกึ่งเอ๊าต์ดอร์ ทั้งยังเป็นพื้นที่สำคัญที่ช่วยเปิดรับแสงสว่างและถ่ายเทอากาศให้ตัวอาคารซึ่งไม่มีช่องเปิดบริเวณด้านข้างได้เป็นอย่างดี

Did you know?
การจะเปลี่ยนอาคารพาณิชย์มาเป็นอาคารสำหรับพักอาศัยรวมมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้อาคารที่สูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปและสูงไม่เกิน 23 เมตรหรืออาคารที่สูง 3 ชั้นและมีดาดฟ้าเหนือชั้นที่ 3 ที่มีพื้นที่เกิน 16 ตารางเมตร นอกจากการมีบันไดในอาคารตามปกติแล้ว จำเป็นต้องมีบันไดหนีไฟที่ทำด้วยวัสดุทนไฟอย่างน้อยหนึ่งแห่ง และต้องมีทางเดินไปยังบันไดหนีไฟได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง

ที่ตั้ง
103 ถนนบุญศิริ แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
โทร. 0-2622-2556 www.dhostelbkk.com

เจ้าของ :  คุณธันยาภรณ์ เปี่ยมวิริยะกุล และครอบครัว
ออกแบบ : คุณกิตติธัช นรเศรษฐกร สถาปนิกจาก Klickken Studio

เรื่อง-ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส
เรียบเรียง:  Parichat K.