ดื่มด่ำกับธรรมชาติ เติมเต็มความสุขให้ชีวิต ที่ “เกาะสุกร” จ.ตรัง

“ตรัง” จังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย ที่นี่มีเชื่อเสียงหลายอย่างทั้งของกินแสนอร่อย ผู้คนจิตใจดี และสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย วันนี้หากใครอยากล่องใต้ ไปพร้อมกันกับเรา ที่ เกาะสุกร จ. ตรัง แหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ยังมีความบริสุทธิ์ของวิถีชีวิตชาวบ้านค่ะ

เกาะสุกร เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของ จ.ตรัง ซึ่งการเดินทางมาที่เกาะสุกรนั้นหากเรามาจากสนามบินตรังจะใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4045 ขับตรงมาประมาณ 25 กม. จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนหมายเลข 4235 ตรงไปอีกประมาณ 16 กม. และเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงชนบทตรัง หมายเลข 2027 และตรงมาตามทางอีกประมาณ 11 กม. รวมระยะทางแล้วอยู่ที่ประมาณ 50 กว่ากิโลเมตร ซึ่งก็จะมาถึงท่าเรือตะเสะที่เราจะใช้ข้ามฟากเพื่อไปยังเกาะสุกร โดยใช้เวลาเดินทางข้ามฟากไม่ถึง 20 นาที ก็จะถึงท่าเรือเกาะสุกรแล้วค่ะ

สัญลักษณ์ที่โดดเด่นมากๆ เมื่อเราเดินทางมาถึงเกาะสุกรก็คือวินมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง หรือวินซาเล้งที่จอดเรียงรายอยู่เต็มท่าเรือ ซึ่งซาเล้งเหล่านี้นอกจากจะให้บริการชาวบ้านและคนในชุมชนแล้ว ยังรับหน้าที่พาเที่ยวตามจุดต่างๆ อีกด้วยค่ะ ซึ่งไกด์ท้องถิ่นก็ไม่ใช่ใครที่ไหนก็คือคนขับรถซาเล้งแต่ละคันนั่นเองค่ะ

จุดแรกที่เราจะพามาเที่ยวนั่นก็คือจุดชมวิวเกาะสุกร เป็นจุดที่เราจะมองเห็นวิวฝั่งตรงข้ามทางฝั่งแผ่นดิน และมองเห็นเกาะเล็กๆ น้อยๆ อีกด้วย เรียกว่าเห็นวิวทะเลแบบ 180 องศาเลยค่ะ อ่อ และอีกหนึ่งบริการที่เราจะได้รับจากไกด์ท้องถิ่นก็คือการช่วยถ่ายรูปให้นักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งคนที่นี่บอกว่าเรื่องงานบริการแบบนี้เรียกว่าอยู่ในสายเลือดของไกด์เกาะสุกรค่ะ ส่วนเรื่องฝีมือการถ่ายภาพนั้นก็คงต้องว่ากันไปเป็นคนๆ ค่ะ (ฮา)

จากจุดชมวิวเรามาต่อกันที่บ่อน้ำมหัศจรรย์ ซึ่งเป็นบ่อน้ำจืดที่อยู่ริมทะเลห่างไปแค่ 20 กว่าเมตรแค่นั้นเอง แต่ว่ามีน้ำจืดให้ชาวบ้านเอาน้ำตรงนี้ไปใช้อาบได้ มีทั้งหมด 2 บ่อ น้ำจืดที่ว่าจะผุดขึ้นมาจากชั้นดินด้านล่างค่ะ ไกด์ของเราบอกว่าน้ำในบ่อนี้นอกจากจะไม่เคยเหือดแห้งแล้ว แม้ว่าน้ำทะเลจะขึ้นลงมากน้อยแค่ไหน รสชาติของน้ำในบ่อนั้นก็ยังคงจืดสนิท ทำให้ได้ชื่อว่า “บ่อน้ำมหัศจรรย์” นั่นเอง

เกาะสุกรหรือเกาะหมูนั้นเป็นชื่อที่เกิดขึ้นจากคำเล่าขาน ว่าในอดีตเกาะนี้เคยมีหมูป่าอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ที่แน่ๆ นั้นที่เกาะสุกรตอนนี้ไม่มีสุกรอาศัยอยู่ เพราะชาวบ้านในชุมชนกว่า 90% นับถือศาสนาอิสลามนั่นเองค่ะ

ลักษณะบ้านเรือนของชาวบ้านที่เกาะนี้นั้นส่วนใหญ่จะเป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูงซึ่งจะถูกสร้างขึ้นแบบเรียบง่าย แต่คงไว้ซึ่งเสน่ห์ที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน

ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความร่มรื่น เงียบสงบ และมีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านที่นี่นอกจากจะประกอบอาชีพประมงชายฝั่งแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมควบคู่กันไปด้วยค่ะ

หลังจากที่เรานั่งรถซาเล้งเที่ยวไปรอบๆ เกาะแล้ว เราก็มาหาของกินอร่อยๆ กันที่ตลาดนัดบ้านทุ่ง ที่นี่จะเน้นขายแต่อาหารไปตลอดสองข้างทาง โดยจะเปิดขายทุกวัน  และตลาดนัดแห่งนี้ยังตั้งอยู่ใกล้กับชายทะเล มีร้านอาหารมากมายซึ่งแต่ละร้านจะขายอาหารที่ไม่ซ้ำกัน แถมยังมีให้เลือกทั้งอาหาร ขนมหวาน ของกินเล่น และผลไม้ และความเจ๋งอยู่ตรงนอกจากอาหารจะทำกันสดๆ ใหม่ๆ แล้วราคายังถูกมากๆ อีกด้วยค่ะ

หลังจากที่อิ่มท้องกับอาหารอร่อยๆ ที่ตลาดนัดบ้านทุ่งแล้ว เราก็นั่งรถชมวิวชิลๆ ไปต่อกันที่สวนแตงโม ที่เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของที่นี่กันค่ะ และขอบอกว่าที่เกาะสุกรนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ทั้งร้านอาหาร ร้านขายของสด ก็จะมีแตงโมวางขายอยู่ด้วยแทบจะทุกร้าน เราเลยต้องไปพิสูจน์ความอร่อยกันถึงสวน  เกษตรกรผู้ปลูกแตงโมบอกกับเราว่าที่แตงโมเกาะสุกรเป็นแตงโมที่มีรสชาติหวานกรอบนั้นก็เพราะพื้นดินบริเวณนี้เป็นดินทรายชายทะเล ทำให้แตงโมที่นี่มีความอร่อย และไม่หวานมากจนเกินไป

เช้าวันต่อมาเราต้องออกเดินทางกันตั้งแต่ฟ้าเริ่มสาง เพื่อจะไปชมสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่บริเวณใกล้ๆ กับเกาะสุกร ที่ว่ากันว่าไม่ได้มีให้เห็นทุกวันนั่นก็คือ สันหลังมังกรหยกค่ะ เราจะได้ชมก็ต่อเมื่อน้ำเริ่มลด ถ้าใครมาช่วงเช้าที่พระอาทิตย์กำลังขึ้นจะได้เห็นภาพที่สวยงามมากๆ หรือหากใครมาช่วงบ่ายๆ ไปจนถึงช่วงเย็นก็จะเห็นความสวยงามช่วงพระอาทิตย์ตกอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งแต่ละวันเรียกว่าบรรยากาศสวยงามแตกต่างกันไปค่ะ ที่นี่ยังจัดเป็น 1 ใน 6 ของความมหัศจรรย์ของสันทรายกลางทะเลอันดามัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งของ จ.ตรัง อีกด้วยค่ะ

และจากสันหลังมังกรหยกห่างกันไม่ถึง 1 กม. เราจะพบกับอีกหนึ่งสันทรายกลางทะเลที่มีชื่อว่าสันหลังมังกรทับทิมสยาม ที่นี่ต้องบอกว่าเป็นสันทรายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจากบรรดา 1 ใน 6 ของสันทรายที่ จ. ตรัง และนอกจากจะมีความยาวถึง 5 กม. ไฮไลท์สำคัญก็คือเราจะได้เห็นฝูงปูแดงที่อาศัยกันอยู่เป็นล้านๆ ตัว ณ สันทรายแห่งนี้ค่ะ และเทคนิคการดูปูแดงแบบชัดๆ ของที่นี่ก็คือ เราจะต้องไม่วิ่งฝ่าฝูงปู และไม่จับปูด้วยนะคะ แต่เราจะใช้วิธีวิ่งอ้อมด้านนอกซึ่งเราจะได้เห็นฝูงปูบริเวณริมๆ ได้อย่างชัดเจน แถมไม่เหยียบปูอีกด้วย

สันหลังมังกรทับทิมสยามนี้ นอกจากจะมีความยาวถึง 5 กม. แล้ว ยามที่น้ำแห้งเต็มที่ก็จะมีลักษณะคล้ายกับลานกว้างๆ ซึ่งที่นี่นั้นไม่ได้เป็นแค่แหล่งท่องเที่ยวเท่านั้นนะคะ แต่ยังเป็นแหล่งอาหารและแหล่งหากินของชาวบ้านอีกด้วย เพราะยังคงความอุดมสมบูรณ์ให้ชาวบ้านได้มาหาหอย หาปู เพื่อนำไปประกอบเป็นอาหารได้อีกด้วย

เมื่อเราเที่ยวชมสันหลังมังกรถึงสองแห่งแล้ว พอแดดเริ่มร้อน เราก็ได้เวลากลับขึ้นไปยังเกาะสุกรกันอีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เรือประมงของชาวบ้านกลับมาจากทะเล และกำลังทยอยนำกุ้ง หอย ปู ปลา ที่ได้ขึ้นมาจากเรือพอดี เราเลยแวะมาดูกันที่กลุ่มอวนปูบ้านทุ่ง ที่นี่จะมีการขึ้นอวนปูเพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวกันแบบสดๆ เลยค่ะ

หลังจากที่เราไปท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตชาวบ้านที่มีอาชีพประมงชายฝั่งกันไปแล้วที่เกาะสุกรยังมีเรื่องของการทำเกษตรกรรมที่นอกจากแตงโมผลไม้ขึ้นชื่อของที่นี่แล้ว ยังมีมะม่วงพันธุ์เกาะสุกรที่ปลูกกันแทบจะทุกบ้าน ซึ่งเอกลักษณ์ของมะม่วงพันธุ์นี้คือลูกจะใหญ่ เนื้ออร่อย และเมื่อสุกจะหวานมากๆ ค่ะ

ไปต่อกันเลยที่กลุ่มขนมพื้นบ้านเรียกว่างานสำคัญของคนในชุมชนหรืองานมงคลต่างๆ นั้น ต้องเรียกใช้บริการขนมหวานจากสาวๆ กลุ่มนี้ค่ะ หากนักท่องเที่ยวคนไหนอยากลองเรียนรู้วิธีทำขนมพื้นบ้านของที่นี่ก็สามารถติดต่อมาล่วงหน้าได้ สมาชิกของกลุ่มจะได้เตรียมวัตถุดิบเอาไว้ให้ เมื่อมาถึงก็จะได้เรียนรู้วิธีทำและทำเสร็จก็รับประทานกันได้แบบสดๆ เลยค่ะ

การรวมกลุ่มกันทำอาชีพเสริมของชาวเกาะสุกรนั้นต้องบอกว่ามีหลากหลายมากๆ ค่ะ เพราะนอกจากกลุ่มขนมแล้ว สาวมุสลิมรุ่นใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็มีการรวมกลุ่มกันทำเครื่องแกง ซึ่งนอกจากจะทำไว้จำหน่ายให้กับร้านค้าและชาวบ้านบนเกาะแล้ว เหล่าบรรดาสมาชิกในกลุ่มยังบอกอีกว่าพริกแกงของทางกลุ่มยังโกอินเตอร์อีกด้วย เพราะมีคนมารับไปจำหน่ายที่ต่างประเทศอีกด้วยค่ะ

นอกจากเรื่องอาหารและเรื่องขนมแล้ว เรื่องของงานฝีมือนั้น เกาะสุกรก็ไม่น้อยหน้าใครนะคะ และอีกสถานที่ที่เราจะไปเยี่ยมชมกันคือ กลุ่มจักสานเสื่อใบเตย ที่นี่นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตเสื่อลายสวยๆ แล้ว ยังเป็นจุดที่เราจะได้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวเกาะสุกรอีกด้วย โดยสมาชิกในกลุ่มได้บอกเราว่าใบเตยที่ใช้จักสานนี้เป็นเตยบ้าน เตยปาหนัน และเตยป่า ซึ่งเป็นใบเตยที่มีมากในพื้นที่จะขึ้นอยู่มากบริเวณริมป่าและริมชายหาด ชาวบ้านจึงได้นำใบเตยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท้จริงค่ะ และเสื่อใบเตยลายสวยๆ ที่มีความนุ่มนี้ถือเป็นของดีอีกหนึ่งอย่างของเกาะสุกรด้วยค่ะ

หลังจากท่องเที่ยวกันมาหลายที่ เช้านี้เราจะพาทุกคนไปเที่ยวเกาะที่อยู่ไม่ไกลจากเกาะสุกรมากนัก ซึ่งเรือโดยสารที่จะพาเราไปเที่ยวนี้นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อสอบถามได้จากทางที่พักหรือโฮมสเตย์ได้โดยตรงค่ะ

เราเดินทางมากันที่เกาะเหลาเหลียงพี่ ที่มีหาดทรายโค้งยาวจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถเล่นน้ำได้และจะมีโพรงถ้ำที่สามารถเข้าไปเที่ยวชมได้ แต่ที่นี่จะไม่มีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวนะคะเนื่องจากเป็นเกาะที่มีการทำสัมปทานรังนก แต่บนเกาะนี้ก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนอาศัยอยู่โดยมีอาชีพชาวประมงนั่นเองค่ะ ซึ่งเวลาน้ำลดจะมีโพรงถ้ำที่ขึ้นไปด้านบนจะเป็นจุดที่สามารถขึ้นไปถ่ายรูปได้

จากเกาะเหลาเหลียงพี่เรามาต่อกันยังจุดดำน้ำที่เกาะจังกาบ ที่มีน้ำใสมากๆ มองลงไปจะเห็นปะการังด้านล่างสวยงามมากๆ ค่ะ และถ้าจะดำน้ำในเรือโดยสารจะมีอุปกรณ์ดำน้ำให้ครบครันให้พร้อมดำน้ำกันได้เลยค่ะ

และหลังจากเราท่องเที่ยวทั้งไปยังเกาะต่างๆ ไปดำน้ำกันแล้ว ตอนนี้เราจะกลับไปกันยังเกาะสุกร เพื่อไปดูของฝากของชุมชนกันค่ะ ซึ่งที่นี่ก็คือเกาะสุกรบาติก ที่มีผ้าบาติกพร้อมจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวมากมาย ซึ่งลายส่วนใหญ่จะเป็นลายที่เกี่ยวข้องกับชุมชนอย่างลายแตงโม ลายต้นไม้ และพวกปลาต่างๆ ซึ่งนอกจากนักท่องเที่ยวจะได้เลือกซื้อผ้าบาติกสวยๆ แล้วยังสามารถทำกิจกรรมวาดผ้าบาติกได้ด้วยตัวเองอีกด้วย

การได้มาท่องเที่ยวเกาะสุกรในครั้งนี้ นอกจากจะได้ไปเที่ยวทั่วเกาะ ได้ไปยังกลุ่มต่างๆ ที่ชาวบ้านได้มีการรวมตัวกันนำเสนอทั้งของดี ของอร่อย และสินค้าของชุมชนเอาไว้มากมายหลายที่ แต่ปัญหาของชุมชนก็คือขาดแหล่งรวบรวมสินค้าต่างๆ เอาไว้ด้วยกัน เพราะฉะนั้นเราจะมาช่วยกันปรับปรุงภูมิทัศน์หน้าบ้านให้กลายเป็นร้านค้าชุมชนที่สะดุดตานักท่องเที่ยวกันค่ะ

และผู้ที่จะมาช่วยให้ภาระกิจช่วยชาวบ้านของเราในวันนี้ก็คือน้องอ้อม ธัญญรักษ์ ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านงานออกแบบโดยตรง น้องอ้อมได้หาซื้อต้นไม้บางส่วนมาจากทางฝั่ง เพื่อมาประดับหน้าร้าน ก่อนทำภาระกิจน้องอ้อมก็ได้มีการสอบถามพูดคุยถึงปัญหาและสิ่งที่ต้องการจากชาวบ้าน เพื่อนำมาแก้ไข และพัฒนาให้ถูกจุดนั่นเองค่ะ

น้องอ้อมได้บอกกับชาวบ้านว่า สิ่งที่จะช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวสนใจร้านค้าของฝากนั้น หน้าร้านจะต้องดูดี วัสดุที่ใช้ประดับหน้าร้านควรเป็นวัสดุที่มีในท้องถิ่นเพื่อแสดงความเป็นเอกลักษณ์นั่นเอง

ภาระกิจของเราเริ่มต้นขึ้นโดยชาวบ้านได้มารวมตัวกันที่บ้านตัวแทนที่จะทำเป็นร้านค้าชุมชน ชาวบ้านช่วยกันคนละไม้คนละมือตกแต่งประดับประดาหน้าร้านตามที่น้องอ้อมแนะนำ ต้องบอกเลยว่าทุกคนต่างช่วยกันทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างแข็งขัน แต่ละคนมาช่วยกันด้วยหัวใจที่อยากให้หน้าร้านของร้านค้าชุมชนมีความสวยงาม น่าปลื้มใจแทนทุกคนจริงๆ ค่ะ

ในที่สุดร้านค้าชุมชนที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกคนก็สำเร็จออกมาสวยงามสมความตั้งใจของทุกคน ซึ่งร้านนี้ถือเป็นร้านของทุกคนอย่างแท้จริง หากใครที่อยากมาเที่ยวที่เกาะสุกร มาได้เลยค่ะที่นี่สงบเงียบ ผู้คนน่ารัก อาหารอร่อย และยังคงวิถีชีวิตของชสวบ้านไว้อย่างน่าสนใจ ถ้าได้ไปรับรองต้องตกหลุมรักอย่างแน่นอน

ติดต่อเยี่ยมชุมชน

  • ท่องเที่ยวเกาะสุกร โทร. 089-723-6129, 083-295-0759
  • กลุ่มขนมพื้นบ้านเกาะสุกร โทร. 087-052-0379
  • กลุ่มผลิตเครื่องแกงตำมือ โทร. 084-304 1104
  • กลุ่มจักสานเสื่อใบเตย โทร. 087-384-7891
  • กลุ่มเกาะสุกรบาติก โทร. 086-285-7539