เลี้ยงกุ้งก้ามแดง ต้องเตรียมอะไรบ้าง

เมื่อคิดจะ เลี้ยงกุ้งก้ามแดง ลองถามใจตัวเองก่อนว่าเลี้ยงเพื่อจุดประสงค์ใด เช่น เพื่อความสวยงาม เพาะพันธุ์ลูกกุ้ง หรือทำกุ้งเนื้อจำหน่ายเป็นรายได้เสริมหรือทำเป็นอาชีพ วันนี้บ้านและสวนมีหลักการดีๆเกี่ยวกับกุ้งก้ามแดง จากหนังสือ My Little Farm VOL.5 กุ้งก้ามแดงเพื่อให้คุณได้เตรียมพร้อมมาแนะนำกันครับ

เลี้ยงกุ้งก้ามแดง

เตรียมบ้านต้อนรับน้องกุ้ง

สามารถใช้ภาชนะ เลี้ยงกุ้งก้ามแดง ได้หลากหลายขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เลี้ยงและสภาพพื้นที่ ซึ่งแต่ละอย่างก็มีข้อดี – ข้อเสียต่างกัน ดังนี้

ตู้กระจกหรือกะละมัง

ไม่ว่าจะเป็นของเก่าหรือของใหม่ ก่อนใช้ต้องล้างให้สะอาดทุกชิ้นเพื่อป้องกันสารเคมีที่อาจปนเปื้อนมา ลงแช่น้ำทิ้งไว้ 2 – 3 วัน ถ่ายน้ำใหม่แล้วปรับสภาพน้ำ โดยพักน้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 วันเป็นอย่างน้อย แล้วจึงนำกุ้งลงเลี้ยง

กุ้งก้ามแดง

เลี้ยงกุ้งก้ามแดง

ข้อดี

  • สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย บริหารจัดการได้ง่าย
  • เหมาะเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ทดลองเลี้ยงหรืออนุบาลลูกกุ้ง
  • ง่ายต่อการสังเกตการเจริญเติบโตและพฤติกรรมของกุ้ง

ข้อเสีย

  • ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย ประมาณเดือนละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย
  • ต้องเพิ่มแร่ธาตุเสริมให้กุ้ง
  • อัตราการเติบโตช้ากว่าการเลี้ยงในบ่อดิน

บ่อพลาสติก

เริ่มใช้กันในกลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกและเลี้ยงกบในพื้นที่และทนน้อย ไม่มีกำลังมากพอที่จะขุดบ่อดิน กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งจึงทดลองนำแผ่นพลาสติกกรุเป็นบ่อขนาดย่อมเยาเพื่อใช้เลี้ยงกุ้งก้ามแดงบ้าง แต่ด้วยพฤติกรรมของกุ้งก้ามแดงที่ชอบกัดแทะ จึงไม่เหมาะทำเป็นบ่อสำหรับขยายพันธุ์ ผสมพันธุ์ หรือขุนกุ้งเนื้อ แต่เหมาะใช้เป็นบ่ออนุบาลลูกกุ้งตั้งแต่ระยะลงเดินจนถึงระยะขนาด 2 นิ้วเท่านั้น โดยแผ่นพลาสติกที่จำหน่ายในท้องตลาดมีให้เลือกหลายขนาด

เมื่อติดตั้งบ่อพลาสติกเสร็จแล้วต้องล้างบ่อหรือแช่น้ำทิ้งไว้ 1 – 2 วัน จากนั้นถ่ายน้ำออกแล้วเติมน้ำพักทิ้งไว้ประมาณ 1 วัน จึงค่อยนำกุ้งลงเลี้ยง

เลี้ยงกุ้งก้ามแดง กุ้งก้ามแดง

ข้อดี

  • ลงทุนน้อย
  • น้ำหนักเบา สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย ติดตั้งง่าย
  • เหมาะสำหรับอนุบาลลูกกุ้งขนาดไม่เกิน 2 นิ้ว
  • จัดการบ่อได้ง่าย

ข้อเสีย

  • พลาสติกฉีกขาดง่าย
  • กุ้งที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 นิ้ว จะเริ่มกัดแทะพื้นบ่อบริเวณที่เป็นรอยย่น ทำให้บ่อรั่วซึม

 

บ่อปูนหรือบ่อซีเมนต์

บ่อปูนเก่าหรือบ่อซีเมนต์ที่ผ่านการใช้งานมาแล้วไม่มีปัญหา สามารถใช้งานได้เลย แต่หากเป็นบ่อปูนที่สร้างขึ้นใหม่ควรแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน โดยนำต้นกล้วยมาสับแล้วแช่น้ำในบ่อปูนนั้นเพื่อช่วยลดความเค็มของปูนซึ่งเป็นอันตรายต่อกุ้งได้ หลังจากแช่บ่อทิ้งไว้แล้วควรล้างทำความสะอาดอีกรอบ และพักน้ำทิ้งไว้อีกครั้งก่อนนำกุ้งลงเลี้ยง

กุ้งก้ามแดง กุ้งก้ามแดง

ข้อดี

  • จัดการบ่อได้ง่าย
  • เหมาะสำหรับใช้เป็นบ่ออนุบาล ผสมพันธุ์ หรือเป็นห้องคลอด
  • กุ้งที่เลี้ยงในบ่อลักษณะนี้มักสะอาดและมีสีสวย

ข้อเสีย

  • ลงทุนสูง
  • ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกเดือน
  • ควรติดตั้งปั๊มออกซิเจน
  • ควรเสริมธาตุอาหาร

บ่อดิน

สำหรับมือใหม่ใจถึง แนะนำให้เริ่มทำจากขนาดเล็กก่อน เริ่มต้นที่พื้นที่ประมาณ 1 ตารางเมตร ขุดดินลึก 30 ถึง 50 เซนติเมตร ถ้า 2-3 เดือนเห็นว่าได้ผลดีจึงเริ่มขยายทำที่ขนาด 10 ตารางเมตร เพื่อทดลองเลี้ยงในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น เมื่อมั่นใจในฝีมือแล้วจึงทดลองทำในพื้นที่ 1 ไร่ได้เลย ดอยบ่อเลี้ยงควรมีความลึกประมาณ 1 ถึง 1.50 เมตร เพื่อให้อุณหภูมิในน้ำช่วงกลางวันไม่ร้อนเกินไป และสามารถจัดการน้ำที่ใช้เลี้ยงได้ง่ายขึ้น

กุ้งก้ามแดง กุ้งก้ามแดง

ก่อนปล่อยกุ้งลงบ่อดินควรตากบ่อทิ้งไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ จากนั้นจึงนำปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์มาใส่ในบ่อปริมาณ 300 ถึง 500 กิโลกรัมต่อไร่ หรือประมาณครึ่งกิโลกรัมต่อ 1 ตารางเมตร แล้วเติมน้ำจนถึงระดับเลี้ยงปกติ ทิ้งไว้อย่างน้อย 7 วันจึงนำกุ้งลงเลี้ยง

ปุ๋ยคอกที่ใส่ในบ่อเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติให้กุ้งและควรเติมจุลินทรีย์เพื่อลดก๊าซที่เกิดขึ้นในบ่อ หาบ่อดินที่เตรียมไว้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ แนะนำให้รองพื้นบ่อด้วยพลาสติกที่ใช้เลี้ยงกุ้งทั่วไป เพื่อลดต้นทุนจากการสูบน้ำเติมลงบ่อบ่อยๆครับ

บ่อดินที่เป็นนาข้าว

การทำบ่อดินที่เป็นนาข้าวต้องปรับพื้นที่นาก่อนครับ เพื่อตอบโจทย์ทั้งการทำงานและการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง จากประสบการณ์ของผมควรเตรียมความพร้อมดังนี้

กุ้งก้ามแดง

  1. แบ่งพื้นที่ 30 เปอร์เซ็นต์ในแปลงนาสำหรับขุดดินให้ลึกกว่าพื้นหน้าอย่างน้อย 0.50 ถึง 1 เมตร เพื่อให้ง่ายต่อการจับกุ้ง เป็นหลุมหลบภัยให้กุ้งขนาดยังเล็ก และยังช่วยควบคุมอุณหภูมิน้ำไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกินไป
  2. ทำคันนาให้มีความสูง 40 เซนติเมตรขึ้นไป
  3. สร้างที่กั้นรอบคันนาเพื่อป้องกันกุ้งก้ามแดงหลุดสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยแนะนำให้ใช้ผ้ามุ้งเขียวหรือซาแรนพรางแสงก็ได้
  4. ตราบดินทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ และโรยปูนขาวเพื่อปรับสภาพดินและน้ำในบ่อ
  5. ขณะสูบน้ำเข้านาควรใช้ผ้ามุ้งเขียวกรองน้ำเพื่อป้องกันปลากินเนื้อหลุดเข้ามาในแปลงนา

เมื่อปรับสภาพพื้นที่เรียบร้อยแล้วจึงปล่อยกุ้งลงเลี้ยงรักษาระดับน้ำในแปลงนาให้อยู่ในช่วง 5 ถึง 15 เซนติเมตร ซึ่งเหมาะสมทั้งเลี้ยงกุ้งและทำนา โดยปล่อยกุ้งขนาด 1 นิ้วขึ้นไปลงเลี้ยงในอัตรา 4,000 ตัวต่อพื้นที่ 1 ไร่ เนื่องจากข้าวทั่วไปมีอายุตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 4 เดือน เมื่อปล่อยลูกกุ้งขนาด 1 นิ้วจะได้กุ้งขนาดประมาณ 4 นิ้วมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

ข้อดี

  • กุ้งเจริญเติบโตได้ดีช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยง
  • ไม่ต้องใช้ออกซิเจนช่วยในบ่อ
  • เลี้ยงกุ้งได้ปริมาณมาก

ข้อเสีย

  • กุ้งมาเป็นโรคสนิมและหางพอง
  • ตัวกุ้งจะมีสีคล้ำ
  • เสียงต่อศัตรูในธรรมชาติ เช่น ปลากินเนื้อ นกกระยาง

 

เตรียมน้ำที่ใช้เลี้ยง

น้ำที่เหมาะใช้เลี้ยงกุ้งก้ามแดงควรมีอุณหภูมิ 20 ถึง 30 องศาเซลเซียส ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) 7 – 8.5 มีค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (Dissolved Oxygen : DO) มากกว่า 5.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าแอมโมเนียรวม (Total Ammonia : TAN) น้อยกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีสภาพด่าง (Alkalinity) มากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยควบคุมระดับความสูงของน้ำที่ใช้เลี้ยงในที่ร่ม 15 เซนติเมตรขึ้นไป ส่วนการเลี้ยงในบ่อดินระดับน้ำควรสูงกว่า 1 เมตร เพื่อไม่ให้น้ำร้อนในช่วงกลางวัน

กุ้งก้ามแดง กุ้งก้ามแดง

น้ำประปา – ใช้เลี้ยงกุ้งก้ามแดงได้ แต่ผู้เลี้ยงควรระวังสารคลอรีนที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาด้วย เพราะกุ้งอาจตายได้ จึงควรพักน้ำไว้ในภาชนะที่ต้องการเลี้ยงก่อน 1 – 2 วัน แล้วจึงปล่อยกุ้งลงภาชนะ

น้ำบาดาล – ในน้ำบาดาลมีแร่ธาตุมากมายซึ่งช่วยให้กุ้งเติบโตได้ดี แต่ก็มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ค่อนข้างมาก และมีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำน้อย จึงไม่ควรใช้น้ำจากบ่อบาดาลโดยตรงเพราะกุ้งอาจตายได้ ควรพักน้ำในบ่อหรือถังพักแล้วใช้น้ำที่พักแล้วเท่านั้น

น้ำจากแหล่งธรรมชาติ – สามารถนำน้ำมาใช้ได้โดยตรง แต่เพื่อความมั่นใจของผู้เลี้ยงจึงควรพักน้ำ 1 – 2 วันก่อนนำมาเลี้ยง หากเป็นบ่อดินหรือนาข้าวควรพักน้ำในแปลงประมาณ 1-2 สัปดาห์จึงปล่อยกุ้งลงเลี้ยงต่อไป

เตรียมอากาศ

การเลือกซื้อปั๊มลม

กุ้งเครย์ฟิชเป็นสัตว์น้ำที่ใช้ออกซิเจนเพียง 5.0 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น แต่ถ้าออกซิเจนในน้ำน้อยเกินไปก็อาจทำให้กุ้งน็อคน้ำหรือจมน้ำตายได้ ดังนั้นหากเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำกุ้งจะยิ่งเติบโตดี โดยเลือกซื้อปั๊มลมและปั๊มน้ำให้เหมาะสมกับการใช้งานดังนี้

กุ้งก้ามแดง กุ้งก้ามแดง

  • ปั๊มแบบลูกสูบ
  • ปั๊มลมเล็ก
  • ปั๊มลมแบบโรตารี่หรือไดอะเฟรม
  • ปั๊มลมแบบมีแบตเตอรี่สำรองในตัว

การเลือกซื้อปั๊มน้ำ

ปั๊มน้ำที่จำหน่ายในท้องตลาดมีหลายแบบ ผู้เลี้ยงเลือกซื้อได้ตามความพร้อมและสภาพพื้นที่ครับ การซื้อปั๊มน้ำไม่เน้นปริมานปั๊ม แต่ให้สังเกตความสูงและระยะทางว่าต้องการดึงน้ำขึ้นสูงกี่เมตร ซึ่งปั๊มน้ำแต่ละแบบจะระบุสเปคไว้แล้ว ตัวอย่างเช่น Hmax หรือ Max Jet เป็นตัวบอกว่าสามารถปั๊มน้ำได้สูงกี่เมตร เป็นต้น

 

เตรียมที่หลบภัย

มีความสำคัญมากสำหรับการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงโดยเฉพาะขณะลอกคราบซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มันอ่อนแอที่สุด เพราะลำตัวจะนิ่มเหมือนกุ้งนิ่มหรือปูนิ่ม และต้องรอเวลา 2 ถึง 3 วันกว่าจะฟื้นตัวหรือกลับมาเป็นปกติ ชั่วโมงนี้จึงถือว่าอันตรายมาก หากไม่มีที่หลบภัยแล้วเขาจะกลายเป็นอาหารให้เพื่อนได้

กุ้งก้ามแดง กุ้งก้ามแดง

เราสามารถดัดแปลงวัสดุรอบตัวที่ทนน้ำทำเป็นที่หลบภัยให้กุ้งได้ เช่น ท่อพีวีซีตัดเป็นท่อน ซาแรนพรางแสง อิฐบล็อกเก่า หิน ขอนไม้ กระถางแตก ยางรถเก่า ขวดน้ำพลาสติก แผงไข่ไก่ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ครับ

เตรียมอาหาร

กุ้งก้ามแดงกินอาหารได้หลากหลาย ทั้งพืชผัก รากไม้ ใบไม้ สาหร่าย จอกแหน รวมถึงสัตว์น้ำชนิดอื่นๆที่อ่อนแอกว่าหรือที่ตายแล้วจะกินกันเอง แต่อาหารที่นิยมใช้เลี้ยงกุ้งก้ามแดงมีดังนี้

  • ปลาดิบ กุ้งฝอย
  • พืชน้ำ
  • อาหารเม็ด
  • ข้าวสุก
  • ผักและผลไม้ที่จมน้ำ
  • ไส้เดือน

 

หนังสือ My Little Farm VOL.5 กุ้งก้ามแดง

ข้อมูลจากหนังสือ : My Little Farm VOL.5 กุ้งก้ามแดง

สั่งซื้อหนังสือได้ที่นี่

เขียน : ชินวุฒิ ปิดทองคำ

เรียบเรียง : Gott

อ่านเรื่อง “ข้อควรรู้ก่อนเลี้ยงปลา” ได้ที่นี่

อ่านเรื่อง “สารพันปัญหาพร้อมทางแก้ไขที่มักเจอในบ่อปลา” ได้ที่นี่ 

ชม “แบบบ่อปลา” หลายแบบน่าสนใจ ได้ที่นี่