อยู่ร่วมกับธรรมชาติในแบบบ้านสไตล์โมเดิร์น

หากสถาปัตยกรรมเป็นสะพานเชื่อมบริบท และบริบทที่สำคัญคือธรรมชาติ การสร้างสถาปัตยกรรมที่น้อมเข้าหาธรรมชาติซึ่งอุดมไปด้วยแสงแดด สายลม และฝนโปรย ตามลักษณะภูมิประเทศเขตร้อนชื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็น่าจะเป็นแนวทางการสร้างบ้านให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติดั้งเดิมได้อย่างดีที่สุด

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: JUNNARCHITECT

บ้านหลังนี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่ช่วยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ชัดเจน- เมื่อ คุณนันทพล จั่นเงิน สถาปนิก ได้นำแนวคิดการออกแบบเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติมาใช้เป็นโจทย์ตั้งต้นในการสร้างบ้านให้ คุณคงยศ คุณจักร์ โดยสร้างแผนภาพบ้านขึ้นมาและปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับทิศทางของแดดและลมตามตำแหน่งที่ตั้งของบ้านเป็นสำคัญ

บ้านสไตล์โมเดิร์น

หลังจากดูเรื่องทิศทางแล้ว ผมก็ใช้กระบวนการพับเป็นเครื่องมือในการออกแบบ เพื่อค้นหาการก่อรูปของพื้นที่ว่างทางสถาปัตยกรรม โดยแปลงระนาบสองมิติสู่การโอบล้อมของที่ว่างที่มีความเป็นสามมิติ เมื่อระนาบของชิ้นที่หนึ่งพับและทับซ้อนกับชิ้นที่สอง จึงเกิดที่ว่างขึ้นมาเป็นสเปซใช้สอยภายในบ้าน ตามมาด้วยระนาบแนวตั้งของผนังที่หันหน้าสู่สภาวะแวดล้อมซึ่งผมเปิดให้เชื่อมต่อกับภายนอก เพื่อดึงประโยชน์จากธรรมชาติเข้ามาทำให้ภายในรู้สึกสบาย”

คุณนันพพลเลือกใช้คอนกรีตเป็นวัสดุหลักของระนาบหรือผนังของบ้านในส่วนที่ต้องการปิด โดยปล่อยผิววัสดุให้เปลือยดิบตามธรรมชาติ ส่วนมุมที่ต้องการเปิดก็ดูโปร่งด้วยผนังกระจกใสในกรอบเหล็กสีดำ พร้อมยื่นชายคาคอนกรีตให้ยาวออกไปเพื่อป้องกันแนวสาดส่องของแสงแดดที่จะเข้าถึงส่วนพักผ่อนภายในบ้าน

แนวคิดการวางผังบ้านคือทำบ้านโอบล้อมเป็นรูปตัวยู (U) โดยให้ส่วนเปิดหันไปทางทิศเหนือ เพราะแสงจากทิศเหนือเป็นแสงที่ดีที่สุดของบ้านเรา ขณะที่ทิศใต้หลังบ้านติดกับบ้านคนอื่นซึ่งไม่มีมุมมองอยู่แล้วก็ปิดไว้ ส่วนทางตะวันตกให้เป็นส่วนของเซอร์วิสกับห้องครัวเล็กๆ เพราะบ้านนี้ไม่เน้นการทำอาหารเองมากนัก และห้องซ้อมดนตรีที่ไม่ต้องการช่องเปิดอยู่แล้ว โดยผนังส่วนนี้ยังก่ออิฐสองชั้นช่วยป้องกันเรื่องความร้อน พร้อมกับอาศัยร่มเงาไม้ใหญ่จากเพื่อนบ้านไปในตัว

แอ่งตรงกลางรูปตัวยูของบ้านถูกออกแบบไว้ให้เป็นพื้นที่สวน โดยมีจิกน้ำเป็นไม้หลักให้ร่มเงาและโชว์ฟอร์มใบสวย เสริมด้วยพิกุลซึ่งคุณคงยศได้เป็นของขวัญขึ้นบ้านใหม่จากเพื่อนคุณพ่อ ความพิเศษที่เกิดขึ้นจากมุมมองนี้ยังอยู่ตรงวิวที่มองออกไปสู่ตึกช้าง ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กของย่านนี้และกลายเป็นบริบทส่วนหนึ่งที่ทำให้บ้านมีมุมมองอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

ตรงนี้จึงเป็นเหมือน Sense of Place ที่ทำให้บ้านแสดงออกถึงย่านที่ตั้งเฉพาะตัว นอกจากนี้ผมยังออกแบบให้คอร์ตตรงกลางนี้มีทั้งบ่อน้ำและต้นไม้ เพราะอยากให้บ้านมีธรรมชาติ และเกิดการอยู่ร่วมกับธรรมชาติของคนในบ้านด้วย” คุณนันทพลเน้นย้ำถึงแนวคิดที่ตั้งใจไว้

ส่วนอารมณ์ภายในบ้านเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสถาปนิกกับเจ้าของบ้าน โดยคงความต่อเนื่องของโทนสีธรรมชาติจากวัสดุตกแต่งเข้ามาถึงสีสันของเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเจ้าของบ้านได้นำไม้สักเก่าที่มีอยู่แล้วไปสั่งทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นดีไซน์เรียบง่ายตรงไปตรงมา กับฟังก์ชันใช้งานที่ตอบความต้องการในระยะยาว

เจ้าของ : คุณคงยศ คุณจักร์

ออกแบบ: JUNNARCHITECT โดย คุณนันทพล จั่นเงิน

เรื่อง : “ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์”

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

ชมบ้านโมเดิร์นทรอปิคัลจากมาเลเซีย งานดีไซน์ที่เหมาะกับภูมิอากาศร้อนชื้นและ บ้านสไตล์โมเดิร์นอื่นๆ คลิก