คน+โรงพิมพ์=สิ่งพิมพ์ ชีวิตที่ไปต่อ หรือรอการจากลา

นอกจากเนื้อหาที่เราตั้งใจทำให้คุณอ่าน หนังสือแต่ละเล่มยังมีความรักความทุ่มเทให้คุณสัมผัสอีกด้วย… ผู้อ่านหลายคนอาจไม่เคยเห็นทีมงานของพวกเราอีกส่วนนึงซึ่งอยู่เบื้องหลังหนังสือและนิตยสารทุกเล่ม… ในวันที่มีแต่คนบอกว่า “เขาไม่อ่านหนังสือกันแล้ว สิ่งพิมพ์ของคุณกำลังจะตาย” พวกเขามีอะไรอยากจะบอกคุณครับ

ประชุม ช่วงชูวงษ์ (อายุงาน 41 ปี)
“เริ่มงานตั้งแต่อายุ 15 ปี ฝึกงานแท่นลม ตอนนั้นโรงพิมพ์ยังเล็กๆอยู่ เช้ามาก็กวาดโรงพิมพ์ เก็บขยะ ทำทุกอย่าง ทีแรกก็ไม่ค่อยชอบงานโรงพิมพ์สักเท่าไหร่ แต่พอทำๆไปก็เริ่มชอบ เริ่มรู้จักหน้าที่ของตัวเองตั้งแต่วันที่เข้าทำงานจนถึงวันนี้ก็ 40 ปีแล้วที่อยู่ที่นี่ ไม่เคยไปที่ไหนเลย ผมตั้งใจทำงานด้วยความซื่อสัตย์มาโดยตลอดและผมก็มีความสุขกับมัน ที่นี่คือบ้านของเรารักมาก เวลาผมไปหาหมอที่โรงพยาบาล ทุกคนจะชมว่าหนังสือของอมรินทร์สวยมาก ผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอมรินทร์ไม่ว่าโลกจะก้าวหน้าไปมากแค่ไหน ผมยังเชื่อว่าคนจะไม่ทิ้งหนังสือ มันมีคุณค่านะ บางครั้งหนังสือหนึ่งเล่มอาจมีความหมายกับคนบางคนอย่างที่เราไม่เคยรู้สึกเลยก็ได้”

คุณรู้ไหมครับว่าปัจจุบันระบบการพิมพ์แบบเลสเตอร์เพลส (Letter Press)ระบบการพิมพ์รุ่นเก่า มีอายุนับร้อยปี ทุกวันนี้ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มใช้งานอยู่เลย ไม่ว่าจะเป็นการ์ดแต่งงาน การ์ดเชิญ หรือแม้กระทั่ง ส.ค.ส. ยิ่งในต่างประเทศถึงกับเปิดสตูดิโอสอนการใช้เครื่องกันเลย ในเมืองไทยเองมีการนำเครื่องเลสเตอร์เพลสรุ่นเก่ามาทำงานศิลปะกันมากขึ้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมสิ่งพิมพ์ถึงไม่ตาย เพียงแค่ปรับเปลี่ยนการใช้งานนิดหน่อยก็อยู่ต่อได้

แต่โรงพิมพ์อาจมีขนาดเล็กลง… ใช่ครับ โดยการปรับให้ทุกส่วนในโรงพิมพ์มีความกระชับขึ้น เพราะจำนวนการผลิตหนังสือมีน้อยลง แต่ถึงขนาดชีวิตนี้จะไม่ผลิตหนังสือเลยนั้นเชื่อว่าคงไม่มีทางแน่ๆ โดยส่วนตัวผมและคนรอบข้างส่วนใหญ่ก็ยังมีความสุขกับการได้กลิ่นหมึก กลิ่นกระดาษ ได้สัมผัสเท็กซ์เจอร์ของกระดาษ เปิดพลิกไปทีละหน้า มันเหมือนมีความรู้สึกที่สื่อถึงกันกับหนังสือเล่มนั้นได้อย่างบอกไม่ถูก บางครั้งถึงแม้ไม่ได้อ่านขอแค่เปิดดูรูปก็ยังดี ส่วน E-BOOK หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกนั้นไม่สามารถให้อารมณ์และสัมผัสแบบนี้ได้ยิ่งถ้าสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี กว่าจะโหลดหรือเปิดได้สักหน้าก็คงหมดอารมณ์อ่านกันพอดี ฉะนั้นแล้วหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ก็จะยังคงอยู่ไปได้เรื่อยๆ

สำหรับเรื่องที่สื่อสิ่งพิมพ์ปิดตัวลงไปหลายเจ้าหลายหัวนั้นมีปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่ด้านต้นทุนการผลิต นิตยสารบ้านเราและทั่วโลกจะพึ่งพิงเม็ดเงินรายได้จากการลงโฆษณา เมื่อลูกค้าโฆษณาหันไปลงกับสื่ออื่นกันหมด สื่อสิ่งพิมพ์นั้นๆก็ต้องถึงกาลปิดตัวลงไป แต่ถามว่ามันสามารถเดินไปพร้อมกับสื่ออิเล็กทรอนิกได้ไหมแน่นอนครับมันไปด้วยกันได้ มันสามารถดึงเม็ดเงินจากลูกค้าโฆษณาได้ถ้ามีการปรับตัวของสื่อเอง ปรับเนื้อหาของสิ่งพิมพ์และรูปแบบการดีไซน์เพื่อดึงดูดผู้บริโภคหรือทำการตลาดดึงให้คนกลับมาซื้อสื่อสิ่งพิมพ์ให้มากขึ้น

วันทนา เอมประสิทธิ์ (อายุงาน 35 ปี)
“พี่เริ่มทำงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ไม่เคยเปลี่ยนงานเลย ที่นี่อยู่กันแบบพี่น้อง บางครั้งงานเยอะก็ค้างคืนกันที่โรงพิมพ์ไม่กลับบ้านกันเป็นอาทิตย์เลย พี่อยู่ที่อมรินทร์จนถึงเกษียณก็ผ่านไป 35 ปีแล้วนะเมื่อก่อนเครื่องพับมีเครื่องเดียว ต้องใช้คนมาช่วยพับ ไม่เคยรู้เลยว่ามีอาชีพช่างพับในโรงพิมพ์ มาเรียนรู้เอาจากที่นี่ จากการที่เป็นช่างพับ ทำให้เรามีโอกาสไปทำงานแผนกอื่นด้วย เป็นการเพิ่มพูนความรู้ด้านอื่นๆในโรงพิมพ์ ทีแรกก็เป็นห่วงโรงพิมพ์เหมือนกันกลัวว่าจะแย่ แต่สังเกตจากงานที่เข้ามาก็ไม่ได้แย่อย่างที่เราคิด สิ่งพิมพ์มันไปต่อได้ งานเยอะมาก พี่ขอบคุณโรงพิมพ์อมรินทร์ที่ยังคิดถึงคนเก่าๆเรียกเรากลับมาทำงานให้ได้เจอเพื่อนๆน้องๆก็ไม่เหงาและเราจะได้มีรายได้ด้วยรู้สึกผูกพันกับที่นี่ค่ะ”

ผมมีโอกาสเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านมาบ้าง ร้านหนังสือเป็นสถานที่แรกๆที่ผมมักเดินเข้าไป สังเกตว่านิตยสารยังคงแน่นเต็มแผงหนังสือ บางทีก็จะมีหัวใหม่ๆเกิดขึ้น นั่นเป็นเพราะนโยบายที่ส่งเสริมให้คนในชาติรักการอ่านจะเห็นว่าลูกเล็กเด็กแดงในประเทศเพื่อนบ้านเรานั้นอยู่กับหนังสือตลอด อีกเหตุผลหนึ่งก็คือการเข้าถึงหนังสือของต่างประเทศนั้นง่าย สะดวก รวดเร็ว ส่วนบ้านเราก็ต้องเข้าห้างอย่างเดียว ตามแผงหนังสือทั่วไปอย่าได้ไปหา เพราะไม่ค่อยมีแล้ว

งานเตรียมพับ
งานที่พับเสร็จแล้ว

ไหนๆก็พูดถึงสื่อสิ่งพิมพ์กันแล้วผมขอถือโอกาสพาคุณผู้อ่านไปชมกันว่ากระบวนการผลิตหนังสือมีขั้นตอนอะไร ณ โรงพิมพ์อมรินทร์ฯ ของเรา พร้อมไปฟังเสียงจากคนหน้าและหลังแท่นกันว่าพวกเขามองอนาคตของสิ่งพิมพ์เอาไว้แบบไหนกันต่อเลยครับ