วิธีง่ายๆในการปรับพื้นที่สำหรับเด็กภายในบ้าน

พื้นที่นอกบ้าน

การได้ใกล้ชิดสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น ต้นไม้ สัตว์เลี้ยง หรือสัตว์เล็กๆในธรรมชาติ ช่วยเสริมสร้างพลังชีวิตให้แก่มนุษย์ได้  หากบ้านไหนพอจะมีพื้นที่ การที่เด็กได้เห็นไม้ใหญ่เติบโต ได้ดมกลิ่นไม้ดอกหอมสดชื่น ได้ดูแลสัตว์เลี้ยงแสนรัก  ได้เห็นแม่นกฟูมฟักลูกน้อย เฝ้าลุ้นไปกับหนอนที่กำลังจะกลายเป็นผีเสื้อ นอกจากจะได้รับพลังชีวิตแล้ว เด็กยังได้เรียนรู้เรื่องความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ และความเป็นไปของชีวิตโดยที่เราไม่ต้องเอ่ยปากสอน

และถ้าให้โอกาสเด็กได้ลงมือปลูกผักผลไม้ รดน้ำพรวนดินจนเติบโตเก็บเกี่ยวกินได้ นอกจากความภูมิใจในสองมือของตนแล้ว เด็กจะมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับโลกที่ลึกซึ้งกว่าเพียงแค่การไปซื้อผักจากซูเปอร์มาร์เก็ต

หากไม่มีพื้นที่นอกบ้าน กิจกรรมที่ว่ามาก็สามารถทำได้ในกระถางต้นไม้ริมระเบียง หรืออ่างปลาเล็กๆ หน้าบ้าน

 

พื้นที่เล่นดิน ทราย น้ำ

ถ้าพอจัดสรรพื้นที่ได้ ควรให้เด็กมีโอกาสสัมผัสดิน ทราย และน้ำ วัตถุธาตุเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบของร่างกายมนุษย์ หากเด็กได้เล่นดิน เล่นทราย เล่นน้ำ เขาจะรู้สึกได้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับโลก เกิดความสบายใจ ช่วยชำระล้างปลดปล่อยความคับข้องขุ่นมัวในใจ และได้บริหารจินตนาการความคิดสร้างสรรค์อย่างอิสระ

พื้นที่อันปลั๊ก

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่น่าจะลองพิจารณาก็คือ สิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้สร้างภาพความเข้าใจพื้นฐานต่อโลกและชีวิตแก่เด็กอย่างไร

แน่นอนว่าเดี๋ยวนี้เราเปิดเพลงจากสมาร์ทโฟนได้ แต่คงไม่มีเพลงไหนที่มีความหมายกับลูกเท่าเพลงที่แม่ร้อง ยิ่งสำหรับเด็กเล็ก ริมฝีปากแม่ที่ขยับพร้อมกับมีเสียงเพลงออกมาจากหัวใจ ช่วยให้เขาเรียนรู้ภาษาในรูปแบบที่เป็นการสื่อสารที่มีความหมายอย่างแท้จริง

ทุกบ้านใช้เครื่องซักผ้า แต่จะมีสักช่วงเวลาได้ไหมให้เด็กได้นั่งลงขยี้ผ้าเล่นฟองในกะละมัง ให้เขาเรียนรู้ว่าเสื้อผ้าสะอาดด้วยกำลังมือกำลังแขนของเขาก็ได้ ไม่ใช่เพียงการโยนผ้าเข้าไปในเครื่องสี่เหลี่ยมแล้วออกมาสะอาดเลย

ทุกบ้านมีเตาแก๊สหรือเตาไฟฟ้า แต่เด็กจะเข้าใจได้ไหมว่าความร้อนที่ทำให้อาหารสุกนั้นเกิดขึ้นมาจากไหน หากไม่เป็นการรบกวนเพื่อนบ้านมากเกินไป อาจมีบางวันที่พ่อแม่นึกสนุก ชวนลูกจุดเตาถ่านทำขนม
กิจกรรมอันปลั๊กเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่จะช่วยให้เด็กเห็นว่าโลกนี้เป็นไปอย่างไร ด้วยภาพที่เข้าใจได้มากกว่าการเสียบปลั๊กกดปุ่ม และเพราะเด็กๆ เรียนรู้จากการลงมือทำ จึงช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกได้ที่บ้านโดยไม่ต้องออกไปหากิจกรรมนอกบ้านให้สิ้นเปลืองเงินทอง
การจัดพื้นที่ในบ้านเพื่อการใช้งานร่วมกันของเด็กและผู้ใหญ่ อาจสรุปได้เป็นสามข้อสั้นๆ คือ ปลอดภัย ช่วยเหลือตัวเองได้ และดึงธรรมชาติเข้าใกล้ตัว จากนั้นผู้ใหญ่เพียงเปิดหูเปิดตาเปิดใจ ให้เวลา รับฟัง และสังเกต เราก็จะได้พบช่วงเวลามหัศจรรย์แห่งการเติบโตของมนุษย์ เราไม่จำเป็นต้องเร่งรัดให้เด็กโต แต่ควรให้เขามีประสบการณ์กับพัฒนาการแต่ละขั้นของเขาเองอย่างเต็มที่ เพราะวัยเด็กผ่านไปอย่างรวดเร็วและไม่อาจย้อนไปแก้ไขอะไรได้

ใครกำลังวางแผนออกแบบห้องให้เด็กๆในบ้าน ลองหาอ่านเรื่องการจัดพื้นที่ในบ้านสำหรับเด็กเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “บ้านนี้มีเด็ก”สำนักพิมพ์บ้านและสวน

 

 

 

 

 

 

 

 

สั่งซื้อหนังสือได้ที่นี่ : https://www.facebook.com/Baanlaesuanbooks/

เรื่อง: “ลัญชนา ศาสตร์นุ”
ภาพ: คลังภาพบ้านและสวน