BANGKOK PUBLISHING RESIDENCE รีโนเวตตึกแถวเก่า เป็นโรงแรมระดับไฮเอนด์สุดชิค

ท่ามกลางย่านเก่าบนถนนหลานหลวง ที่นี่เป็นที่ตั้งของตึกแถว 6 คูหา ที่ได้รับการแปลงโฉมให้กลายเป็นโรงแรมระดับไฮเอนด์สุดชิคนามว่า Bangkok Publishing Residence โดยมี คุณอุ้ม-ปณิดา ทศไนยธาดา ผู้บริหาร  Aree Garden เป็นเจ้าของ ก่อนการรีโนเวตเดิมโรงแรมนี้เคยเป็นอาคารโรงพิมพ์เก่าซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของตระกูล

เเต่เนื่องจากตัวสถานที่มีสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ดังนั้นเพื่อให้สถานที่นี้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง คุณอุ้มจึงตัดสินใจรีโนเวตอาคารใหม่ทั้งหมด โดยยังคงเก็บรักษาร่องรอยความทรงจำแห่งอดีตเอาไว้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของอาคารโรงพิมพ์เก่าผ่านบริบทใหม่ กระทั่งเปลี่ยนสถานะมาเป็นสถานที่พักผ่อนใจกลางพระนครแห่งนี้ Bangkok Publishing Residence

ฺBangkok Publishing Residence
กั้นพื้นที่ใช้งานด้วยบานเปิดกระจกกรอบตารางเหล็กสีดำเพื่อลดความรู้สึกทับตัน สามารถเปิด-ปิดเชื่อมพื้นที่ได้แล้วแต่ลักษณะการใช้งาน
ฺBangkok Publishing Residence
ภายในบริเวณโถงต้อนรับยังคงเก็บดีเทลคานเดิมที่เป็น 45 องศาเอาไว้ ควบคู่กับการเดินระบบไฟและแอร์แบบเปลือยท่อสไตล์อินดัสเทรียล เพิ่มความน่าสนใจด้วยการแมทช์โคมไฟใสทรงกลมและเฟอร์นิเจอร์เก่าหลายรูปแบบ

ระหว่างขั้นตอนการรีโนเวตคุณอุ้มได้ทีมสถาปนิกที่เคยทำงานร่วมกันตั้งแต่โปรเจ็กต์ Aree Garden อย่าง คุณศรัณย์ สุนทรสุข และ คุณพงศกร กิจขจรพงษ์ มาช่วยเรื่องการออกแบบ แต่เนื่องจากตัวอาคารเดิมมีความทรุดโทรมอย่างหนัก ทั้งยังพบปัญหาอยู่หลายข้อจึงต้องปรับปรุงฐานรากอาคารใหม่หมด เมื่อเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างเดิมก็ยิ่งพบว่าเสาบางต้นหายไปเพราะเกิดจากการทุบออกตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นโรงพิมพ์ แถมไม่มีแนวคานที่ชัดเจน ทีมสถาปนิกและวิศวกรจึงต้องเดินแนวคานบางส่วนเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการบิดตัวของอาคาร

ภายนอกอาคารยังคงรักษาเค้าโครงเดิมของตึกแถวไว้ ให้ความสอดคล้องกับบริบทโดยรอบ โดดเด่นด้วยสีเทาเข้มของอาคารที่ตัดกับจังหวะของวงกบหน้าต่างบานยาวสีไม้ธรรมชาติขับเน้นตัวอาคารดูเรียบเท่ขึ้น
ฺBangkok Publishing Residence
ดีไซน์ผนังล็อบบี้ด้วยการกรุเส้นตารางเหล็กสีดำบนผนังไม้ เพื่อสร้างความต่อเนื่องล้อไปกับดีไซน์ของบานหน้าต่างกรอบเหล็กลายตาราง

นอกจากโครงสร้างที่ต้องดูแลและแก้ไขอย่างละเอียดแล้ว ด้วยความที่อาคารอยู่ติดกับถนนใหญ่ และมีป้ายรถเมล์หน้าอาคาร จึงมีทั้งมลภาวะทางเสียงและผู้คนพลุกพล่านตลอดทั้งวัน นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญลำดับต้น ๆ ที่ทีมสถาปนิกต้องแก้ปัญหา นำไปสู่การดีไซน์ผนังทึบหน้าตึกในบริเวณส่วนต้อนรับชั้น 1 เพื่อลดทอนเสียงจากภายนอก และเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้แขกที่เข้าพัก ใช้ประโยชน์จากผนังทึบด้านในโดยใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและพื้นที่บริการอาหารเช้า เมื่อก้าวเข้าสู่โถงล็อบบี้ สถาปนิกได้ลดความรู้สึกเหมือนถูกปิดล้อมด้วยการทำช่องเปิดบริเวณเหนือส่วนรับแขกทะลุขึ้นไปถึงชั้น 4 ช่วยสร้างบรรยากาศโปร่งโล่งและเชื่อมต่อสเปซในแนวตั้ง โดยมีแสงธรรมชาติส่องลงมาได้ตลอดวันจากหน้าต่างที่มีอยู่เต็มผนังทางด้านทิศเหนือ สร้างความรู้สึกต่อเนื่องให้ตัวอาคารทั้งพื้นที่ภายในและบริบทภายนอก

ออกแบบโครงเหล็กทรัสแบบปิดทึบสไตล์อินดัสเทรียลเท่ ๆ ครอบโครงสร้างคานที่เพิ่มขึ้นมาภายหลัง ส่วนเส้นสายวงกบลายตารางของหน้าต่างตั้งแต่ชั้น 2 – 4 ก็ช่วยสร้างมุมมองที่ดูต่อเนื่องกันทั่วทั้งอาคาร
ดีไซน์ลิฟต์แบบโบราณโดยใช้เหล็กเป็นโครงสร้างหลัก ตัวกล่องลิฟต์ออกแบบให้โปร่งด้วยผนังตะแกรงเหล็กฉีก ล้อไปกับการตกแต่งโดยรวม ส่วนโถงทางเดินที่เชื่อมกับห้องพักทุกห้องได้รับการออกแบบให้ต้องเดินผ่านคอร์ตซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งของอาคาร ซึ่งถือเป็นการออกแบบพื้นที่ภายในที่คำนึงถึงพฤติกรรมและการสัญจรของผู้ใช้เป็นสำคัญ

และเนื่องจากเป็นอาคารเก่าที่ผ่านการใช้งานและปรับปรุงมาหลายครั้ง ระดับพื้นในแต่ละชั้นจึงไม่เท่ากัน รวมไปถึงความต้องการที่จะให้พื้นแต่ละชั้นเก็บเสียงและลดเสียงสะท้อน คุณอุ้มจึงยอมเพิ่มความหนาของพื้นขึ้นไป 7เซนติเมตร ด้วยการเสริมลูกยางจากพื้นเดิมแล้วกรุพื้นไม้ทับอีกรอบเพื่อลดเสียงรบกวนระหว่างชั้น นอกจากนี้คุณอุ้มยังตั้งใจโชว์ให้เห็นตงบนฝ้าเพดานชั้น 2 จึงต้องเก็บพื้นไม้เดิมของชั้น 3 ไว้ ซึ่งนั่นทำให้ระดับความสูงของฝ้าเพดานแต่ละชั้นไม่เท่ากัน ส่งผลต่อเนื่องไปถึงแนวบันไดในแต่ละชั้นที่ไม่เท่ากันด้วย ดังนั้นจึงต้องปรับแก้แบบกันอยู่หลายครั้ง กว่าจะได้ระดับขั้นบันไดที่ลงตัว

หน้าต่างบานกระทุ้งที่ดีไซน์ไว้เต็มผนังทางทิศเหนือของอาคาร ช่วยให้แสงธรรมชาติส่องถึงพื้นที่ภายในได้ตลอดวัน เพิ่มมุมมองที่สวยงาม แปลกตา เมื่อมองจากด้านล่างขึ้นไป
จากมุมบน มองเห็นทางเดินสลับด้านกันระหว่างชั้น 2 กับชั้น 3 รวมถึงมองเห็นการใช้วัสดุปูพื้นที่แตกต่างกันเพื่อสร้างลูกเล่นสนุก ๆ ดูไม่จำเจ

ส่วนการออกแบบภายในได้ดึงบรรยากาศความเป็นโรงงานสไตล์อินดัสเทรียลย้อนยุคมาใช้ วัสดุที่พบเห็นส่วนใหญ่จึงเน้นงานเหล็กและไม้ บางพื้นที่โชว์แนวคานและเปลือยระบบท่อสายไฟบนฝ้าเพดาน รวมทั้งใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้และดูแลรักษาง่าย

เลือกใช้โทนสีสว่างในห้องน้ำเพื่อให้ดูกว้างขึ้น และกรุกระเบื้องเซรามิกสีขาวบนผนังครึ่งล่างช่วยให้ดูแลทำความสะอาดง่าย เพิ่มความวินเทจอีกนิดด้วยพื้นกระเบื้องลายตารางหมากรุก และกรุไม้เซาะร่องสีเขียวพาสเทลที่ผนังตัดกับสีไม้ธรรมชาติของหน้าต่างได้อย่างลงตัว
ฝ้าเพดานที่เป็นโครงสร้างพื้นชั้น 3 ของตึกเดิม ผนังห้องกรุไม้แนวตั้งเซาะร่อง สร้างมิติให้ห้องดูโปร่งสูงด้วยเส้นสายที่เป็นระเบียบ

นอกจากตั้งใจให้เป็นสถานที่พักผ่อนที่ตอบโจทย์แล้ว คุณอุ้มยังตั้งใจให้สถานที่นี้เป็นโรงแรมกึ่งพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ บอกเล่าเรื่องราวธุรกิจโรงพิมพ์ของครอบครัว  โรงแรมนี้จึงมีเพียง 8 ห้องเท่านั้น โดยออกแบบให้แต่ละห้องมีธีมการตกแต่งและใช้เฟอร์นิเจอร์แตกต่างกัน โดยเลือกนำเครื่องใช้บางส่วนที่เคยอยู่ในโรงพิมพ์กลับมาตกแต่ง ร่วมด้วยเฟอร์นิเจอร์บางส่วนที่เลือกมาจากที่บ้าน และของสะสมของตนเองมาจัดวางอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ได้กลิ่นอายของโรงพิมพ์ในอดีต

แม้ตึกเก่า 6 คูหานี้จะเคยได้รับการปรับปรุงมาหลายครั้ง แต่ Bangkok Publishing Residence ไม่ได้เป็นเพียงการรีโนเวตพื้นที่เก่าเพื่อใช้ฟังก์ชันใหม่เท่านั้น แต่เรากลับมองว่าคุณอุ้มได้ทำการเรียบเรียงเรื่องราว จัดระเบียบความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นที่นี่ ให้กลับมามีสีสันอีกครั้งในบริบทที่เปลี่ยนไปได้อย่างลงตั

 

ตฺามไปพักได้ที่ Bangkok Publishing Residence
พิกัด : 31-33-35-37-37/1 ถนนหลานหลวง แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
โทร.0-2282-0288 ,08-1780-6229

E-mail : [email protected] www.bpresidence.com
FB : www.facebook.com/bangkokpublishingresidence

เจ้าของ : คุณปณิดา ทศไนยธาดา
ออกแบบ  : คุณศรันย์ สุนทรสุข, คุณพงศกร กิจขจรพงษ์, คุณบัญญัติ ลิ้มตระกูล

ชมคาเฟ่และโรงแรมเพิ่มเติมกันต่อได้ที่ : ROOM DIRECTORY

 


เรื่อง  wannch ภาพ นันทิยา
เรียบเรียง Parichat K.