HOUSE FOR TREES บ้านของต้นไม้และครอบครัว

หลังจากที่ทีมสถาปนิก Vo Trong Nghia จากประเทศเวียดนามเปิดตัวตึกทรงกล่องเท็กซ์เจอร์แปลกตาจำนวน 5 หลังสูงต่ำแตกต่างกัน ทิ้งความสงสัยให้คนรักงานสถาปัตยกรรมเดากันไปต่าง ๆ นานาว่าเป็น แบบบ้านปูน สำหรับอะไรกันแน่

แท้ที่จริงแล้วนี่คือบ้านสำหรับครอบครัวขนาดเล็ก นอกจากจะเซอร์ไพร้ส์ด้วยการนำไม้ยืนต้นมาปลูกไว้บนหลังคาแล้ว บ้านหลังนี้ยังพ่วงดีกรีรางวัลชนะเลิศงานออกแบบประเภทบ้านพักอาศัยในปี 2014 จากหลายสถาบัน ทั้งในประเทศอย่าง Ashui Awards และระดับโลกจาก The Architectural Review อีกด้วย

/ กระถางต้นไม้ขนาดยักษ์เป็นทั้งร่มเงาให้ผู้อยู่อาศัย
และเป็นโอเอซิสสีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางชุมชน /

แบบ้านปูน Vo Trong Nghia
จากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่งจำเป็นต้องเดินออกนอกตัวอาคารก่อน วิธีนี้ช่วยดึงผู้ใช้งานให้ออกมาสัมผัสกับธรรมชาติด้านนอก เกิดปฎิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมโดยตรง

“เดิมที่ดินแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของโรงงานมาก่อน และยังคงมีความสำคัญต่อจิตใจของครอบครัวนี้เป็นอย่างมาก เมื่อคิดจะรื้อโรงงานออก เจ้าของบ้านจึงต้องการให้สร้างบ้านใหม่บนที่ดินเดิม แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่ถูกปิดล้อมด้วยชุมชนหนาแน่นวุ่นวาย มีทางเข้า – ออกเป็นตรอกเล็ก ๆ พื้นที่ไม่สมมาตรและมีพื้นที่สีเขียวน้อย เจ้าของจึงต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จึงเกิดเป็นไอเดียทำกระถางต้นไม้ขนาดยักษ์ล้อมรอบคอร์ตยาร์ดเพื่อให้คนในบ้านได้สัมผัสธรรมชาติตลอดเวลา และเผื่อแผ่ถึงคนในชุมชนได้สัมผัสพื้นที่สีเขียวซึ่งหาได้ยากในย่านที่พักอาศัยแห่งนี้”

นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ความพิเศษอีกอย่างที่กลายมาเป็นเงื่อนไขหลักในการออกแบบบ้านหลังนี้คือคุณพ่อวัย 50 ปี ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวซึ่งมีอาการของโรคซึมเศร้า ทีมสถาปนิกจึงต้องการดีไซน์บ้านเพื่อให้ท่านได้ผ่อนคลาย ไปกับอากาศบริสุทธิ์ท่ามกลางธรรมชาติและแมกไม้เขียวขจี ด้วยการแยกพื้นที่ภายในบ้านออกเป็น 5 ส่วน โดยต้องเดินออกนอกบ้านก่อนจึงจะเข้าไปยังห้องอื่น ๆ ได้ การออกแบบเช่นนี้มีส่วนช่วยให้คุณพ่อและสมาชิกทุกคนได้ขยับร่างกายด้วยการเดิน ขณะเดียวกันยังเป็นการได้สัมผัสและเผชิญหน้ากับสิ่งแวดล้อมดี ๆ รอบบ้าน ทั้งเพื่อนบ้านอากาศบริสุทธิ์ เสียงนกร้อง ท่วงทำนองและสัมผัสแห่งธรรมชาติเหมือนเป็นการบำบัดให้สภาพจิตใจแจ่มใสไปด้วยในตัว

แบบ้านปูน Vo Trong Nghia
ถึงแม้จะอยู่ในอาคารก็สามารถมองเห็นความเป็นไปทุกส่วนของบ้านได้ชัดเจน เกิดความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างผู้ที่อยู่ทั้งข้างในและนอกบ้าน โดยยังคงไม่รบกวนความเป็นส่วนตัวซึ่งกันและกัน

 

แบบ้านปูน Vo Trong Nghia
เท็กซ์เจอร์ผนังบ้านด้านนอก เกิดจากเทคนิคการนำไม้ไผ่มาเป็นแม่พิมพ์กดลงไปบนผิวคอนกรีตที่ยังไม่แห้งดี ด้วยลักษณะของไม้ไผ่ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของปล้องจากโคนถึงปลายยอดเล็กลงเรื่อย ๆ จึงต้องจัดเรียงไม้ไผ่สับหว่างกันระหว่างโคนกับปลาย เพื่อให้ได้ระยะห่างที่สวยงามและมีลวดลายบรรจบกันพอดี

“อาคารทั้ง 5 หลังได้แรงบันดาลใจจากกระถางต้นไม้ พอมาอยู่ท่ามกลางย่านที่พักอาศัย ที่นี่จึงเป็นเสมือนโอเอซิสสีเขียวขนาดย่อม อาคารแต่ละหลังวางตัวตามแนวกำแพงเพื่อนบ้าน จึงเป็นเหมือนขอบเขตให้บ้านไปโดยอัตโนมัติ จากมุมที่แตกต่างกันทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์ที่น่าสนใจหลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้น อาคารแต่ละกล่องมีปฏิสัมพันธ์กับแสงอาทิตย์ ทำให้โทนสีแตกต่างกันไปตลอดทั้งวัน บางกล่องมืด บางกล่องสว่าง ช่วงเช้ารู้สึกได้ถึงความนุ่มนวล พอตกบ่าย ด้วยเงาที่ทอดผ่านแรงมาก ทำให้เห็นเส้นขอบของอาคารชัดเจน จึงเป็นความสนุกอีกอย่างเมื่อเจ้าของบ้านได้มองบ้านของเขาเปลี่ยนแปลงไปตามแสงเงาของธรรมชาติ”

ผนังรับน้ำหนักทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของอาคารทุกหลัง พื้นผิวภายนอกดูมีดีเทลน่าสนใจด้วยแม่พิมพ์ไม้ไผ่กดด้วยมือ เทคนิคของช่างฝีมือไม้ไผ่โดยเฉพาะ นอกจากผนังทั้งหมดจะรับน้ำหนักโครงสร้างของบ้านแล้ว ยังต้องรับน้ำหนักดินที่อุ้มน้ำจากสวนบนหลังคาบ้านด้วย โดยชั้นดินมีความหนาถึง 1 เมตรสำหรับปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ต่างจากสวนดาดฟ้าทั่วไปที่ใช้ชั้นดินหนาเพียง 30 เซนติเมตร

แบบบ้านปูน
อาคารแต่ละกล่องมีปฏิสัมพันธ์กับแสงอาทิตย์ ทำให้โทนสีแตกต่างกันตลอดทั้งวัน จึงเป็นความสนุกอีกอย่างเมื่อเจ้าของบ้านได้มองบ้านของเขาเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ

“เราต้องการให้ชั้นดินนี้ทำหน้าที่กักเก็บน้ำไปในตัว เพราะโฮจิมินห์มีฝนค่อนข้างชุก จึงตามมาด้วยปัญหาน้ำท่วมขัง การทำเช่นนี้ก็เพื่อช่วยชะลอความเร็วของมวลน้ำ แล้วลำเลียงไปยังส่วนกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันต่อไปเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาน้ำท่วมได้ ส่วนเรื่องการขนต้นไม้ใหญ่ เนื่องจากทางเข้าบ้านค่อนข้างแคบจึงเป็นอุปสรรคในการใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ เราจึงใช้รอกแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมมาช่วยดึงขึ้นไปแทน”

ก่อนจะจบบทสนทนากับทีมสถาปนิก เราถามความคิดเห็นของเขาถึงผลงานชิ้นนี้ที่ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากทั่วโลก และตามด้วยรางวัลมากมาย “ดีไซน์เรียบ ๆ เข้าใจง่าย คือจุดแข็งของโปรเจ็กต์นี้ เราพยายามเสนอไลฟ์สไตล์ที่ทำได้จริงในประเทศเมืองร้อนอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้หลาย ๆ ที่จะสร้างอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ปริมาณการใช้พลังงานก็ยังสูงมากจากการใช้เครื่องปรับอากาศ การออกแบบของเราจึงเป็นทางเลือกเพื่อสร้างไลฟ์สไตล์ที่เปิดรับธรรมชาติมากขึ้นบนบรรทัดฐานของความสะดวกสบาย”

ความสำเร็จของบ้านหลังนี้ นอกจากช่วยเปลี่ยนคุณพ่อจากอาการซึมเศร้าให้มีสุขภาพดีร่าเริงแจ่มใสตามโจทย์ที่อยากสร้างความรู้สึกไว้วางใจและปลอดภัย ยังเป็นการดึงธรรมชาติที่มีอยู่เดิมมาจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านเครื่องมือที่เรียกว่าการออกแบบและสถาปัตยกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาการใช้ชีวิตให้ดีขึ้นพร้อมกับเกื้อกูลสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน

แบบบ่านปูน
ระดับความสูงที่ลดหลั่นกัน ทำให้มุมมองของธรรมชาติแผ่กระจายไปได้ทุกส่วนทั้งแนวดิ่งและแนวราบ สามารถขึ้นไปนั่งเล่นและดูแลต้นไม้บนชั้นดาดฟ้าได้ง่ายดาย

TIP : การทำสวนดาดฟ้าจำเป็นต้องเตรียมการตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างบ้าน เพราะต้องเตรียมพร้อมในการออกแบบเรื่องการรับน้ำหนักของน้ำ ดิน และต้นไม้ได้อย่างแข็งแรง โดยเริ่มจากเตรียมผิวพื้นดาดฟ้าด้วยการทาน้ำยาเคลือบผิวกันซึม เสร็จแล้วปูทับด้วยแผ่นตาข่ายพลาสติกชั้นหนึ่งก่อนจะลงชั้นดิน รองพื้นชั้นดินด้วยกรวดและถ่านไม้หนา 10 – 20 เซนติเมตร แล้วบรรจุดินผสมปุ๋ยหมักหนา 1 เมตร เพื่อยึดไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ปิดผิวหน้าดินด้วยการปลูกไม้พุ่มขนาดเล็กหรือหญ้า พร้อมกับฝังท่อระบายน้ำภายในโครงสร้าง และติดตั้งฟิลเตอร์ที่ปากท่อระบายน้ำสำหรับกรองไม่ให้ดินอุดตันในท่อ แต่หากเป็นบ้านเก่าที่อยากทำสวนดาดฟ้าบ้าง เราแนะนำเป็นสวนกระถางแทน โดยตั้งกระถางต้นไม้ขนาดใหญ่ตรงพื้นที่หัวเสาหรือแนวคานที่รับน้ำหนักได้ดี และควรวางกระถางแยกออกเป็นกลุ่มเพื่อกระจายน้ำหนัก ให้โครงสร้างรองรับน้ำหนักได้สม่ำเสมอกัน

ออกแบบ : Vo Trong Nghia


เรื่องโดย : skiixy
ภาพโดย : Hiroyuki Oki