ซึมซับอดีตแห่งเมืองอีโปห์ที่ Sekeping Kong Heng

หากคุณถามเพื่อนคนไทยว่าควรไปเที่ยวเมืองไหนของประเทศมาเลเซียดี คำตอบที่ได้รับกลับมาน่าจะหนีไม่พ้นกัวลาลัมเปอร์ มะละกา หรือปีนัง แต่ถ้าคุณถามคนมาเลเซีย เขาจะบอกคุณว่าลองไปเที่ยวเมืองอีโปห์ดูสิ

อีโปห์

อีโปห์ (Ipoh) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างกรุงกัวลาลัมเปอร์กับเมืองปีนัง เดินทางด้วยรถยนต์ใช้เวลาประมาณสามชั่วโมง เมืองแห่งนี้รายล้อมไปด้วยขุนเขาและมีความโดดเด่นเรื่องอาหาร  รวมถึงมี ย่านเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยงานสตรีทอาร์ตเก๋ๆ โดยเขตเมืองเก่านี้ย้อนประวัติกลับไปได้ถึงยุคปี 1820 สิ่งที่ทำให้เมืองอีโปห์มีความคึกคักและขยายตัวขึ้นอย่างเด่นชัดนั้นเริ่มมาจากการก่อตั้งเหมืองดีบุกในยุค 1920  ซึ่งนำพาให้ชาวจีนฮักกาหรือจีนแคะเข้ามาทำงานเหมืองและตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่นับแต่นั้น ทว่าต่อมาเหมืองดีบุกได้ปิดตัวลง ก็พลอยทำให้เมืองเงียบเหงาตามไปด้วย แต่ยังมีผู้คนที่รักถิ่นเกิด นำโดยนักออกแบบและร้านค้าในย่านเมืองเก่าได้ริเริ่ม “ปรุงเมือง” ขึ้นใหม่ และร่วมมือกันนำเสนอเสน่ห์ของเมืองอีโปห์มาแสดงให้ชาวโลกได้รับรู้เหมือนกับที่พวกเขาเห็น

Sekeping Kong Heng คือบูติกโฮเต็ลขนาดกำลังดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการนำพาเมืองอีโปห์กลับมาเป็นจุดหมายที่น่าสนใจบนแผนที่อีกครั้ง และด้วยความที่เป็นเมืองบ้านเกิดของ Mr. Ng Sek San ประธานบริษัท Seksan Design ซึ่งเป็นผู้ออกแบบโรงแรมแห่งนี้ การออกแบบจึงมีความซับซ้อนในเชิงบริบทมากกว่าที่อื่น เพราะไม่ใช่แค่การนำเสนอเสน่ห์ดิบๆอันงดงามของโรงแรม หรือการนำธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมได้อย่างลงตัวเท่านั้น หากยังเติมเต็มวิถีชีวิตของเมืองที่โรงแรมได้สอดแทรกตัวตนลงไปในย่านเมืองเก่าได้อย่างกลมกลืน

อาคารห้องแถวสามชั้นซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมแฝงด้วยกลิ่นอายแบบนีโอคลาสสิก โดยชั้นล่างยังคงเป็นร้านกาแฟมีชื่อของย่าน ซึ่งเสิร์ฟทั้งกาแฟและอาหารขึ้นชื่ออย่างก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ฮกเกี้ยน หมูสะเต๊ะ เปาะเปี๊ยะ และที่ขาดไม่ได้คือ White Coffee กาแฟมอลต์ เมนูเด่นของเมืองอีโปห์ ด้วยจังหวะชีวิตดั้งเดิมเหล่านี้คือสิ่งที่ Sekeping Kong Heng ให้ความสำคัญ โดยใช้พื้นที่ชั้นบนของร้านกาแฟเป็นส่วนห้องพัก การเข้าถึงจึงต้องค่อยๆ เดินเข้าไปยังซอยข้างๆ ก่อนจะพบกับส่วนต้อนรับที่ซ่อนตัวอยู่ด้านหลังร้านกาแฟและมีบันไดเหล็กแคบๆ นำพาเราขึ้นไปสู่ชั้นบน

นอกจากห้องพักสามแบบคือ ห้องเดี่ยว ห้องรวม และห้องสวีทแล้ว  สิ่งที่ทำให้บูติกโฮเต็ลแห่งนี้ไม่เหมือนที่อื่นก็คือประสบการณ์ของการได้อยู่ใน “พื้นที่” จริงๆ คุณจะตื่นมาพร้อมกับได้กลิ่นหอมของ White Coffee ที่โชยมาจากชั้นล่าง นั่งอ่านหนังสือท่ามกลางบรรยากาศ “ล้งเล้ง” ที่ดูมีชีวิตชีวาของครัวร้านอาหาร หรือเดินทะลุสู่ซอกซอยอื่นๆ ของย่านเมืองเก่าได้สะดวกสบาย เพียงแต่คุณอาจต้องสังเกตหาประตูเหล่านั้นอยู่บ้าง เพราะทุกอย่างดูกลมกลืนไปกับความเก่าจนหมดสิ้น ซึ่งนั่นคือหัวใจของงานออกแบบโรงแรมแห่งนี้ “เปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุด” ไม่ว่าจะเป็นห้องพักหรือพื้นที่ส่วนกลางที่คงสภาพของอาคารและเฟอร์นิเจอร์ไว้อย่างดี อาจมีการปรับการใช้งานให้ทันสมัยขึ้นบ้าง เช่น ห้องน้ำฝักบัว หรือการปรับพื้นที่ใต้หลังคาให้เป็นเตียงสไตล์ลอฟต์ที่ดูน่าสนใจ

โครงสร้างอาคารทั้งหมดเป็นของเดิม แต่มีการเปิดพื้นที่สำหรับใช้งานใหม่ๆ ทั้งในส่วนของโรงแรม และร้านอาหาร Plan B บริเวณชั้นล่าง ซึ่งดัดแปลงจากโกดังร้านเฟอร์นิเจอร์เก่า เข้ากันได้ดีกับการออกแบบสวนที่สอดประสานเป็นส่วนเดียวกับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นคอนกรีตที่เจาะช่องให้ต้นไม้เติบโตและเปิดรับแสงจากสกายไลท์เข้ามาภายในอาคาร หรือร้านรวงที่จะเปิดวันเสาร์-อาทิตย์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำลายขอบกั้นที่แบ่งภายในและภายนอกออกจากกัน และมากกว่านั้นคือการเป็นโรงแรมที่เชื่อมโยงร้านค้ารายรอบ ย่านเมืองเก่า และงานศิลปะสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกันอย่างแยกไม่ออก

นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดีๆ ของการพัฒนาที่ทำความเข้าใจต่อ “คุณค่า” ของวิถีชีวิตดั้งเดิม และต่อยอดได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่เพียง Sekeping Kong Heng เท่านั้น แต่ร้านค้าร้านอาหารรอบๆ ยังรวมตัวกันเข้าเป็นสมาคมเพื่อร่วมกันวางแผนพัฒนาและพลิกฟื้นให้เมืองอีโปห์กลับมาคึกคักเหมือนเช่นในอดีตและก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน เปลี่ยนให้เมืองเก่าที่เคยซบเซาสามารถหาแนวทางเดินต่อไปได้ในโลกยุคดิจิทัล 4.0 ใบนี้

Sekeping Kong Heng 74, Jalan Bandar Timah เมืองอีโปห์ รัฐเประก์ ประเทศมาเลเซีย

www.sekeping.com/kongheng / FB : Sekeping Kong Heng

 

ออกแบบ : Seksan Design โดย Mr. Ng Sek San

เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ


เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x