FAQ : RAIN PROBLEM SOLUTIONS ถาม – ตอบ 12 ปัญหากวนใจจากน้ำฝน

ยังไม่ทันจะได้เตรียมตัวเตรียมใจ หยดน้ำฉ่ำเย็นก็รินตกเข้าบ้านเราอีกแล้ว ทำเอาปวดหัวกับปัญหาสารพัดที่มาพร้อมกับน้ำฝน เราจึงขออาสาตอบปัญหาคาใจที่ถามกันบ่อยในช่วงฤดูมรสุม เพื่อจะได้แก้ปัญหาและเตรียมการกันล่วงหน้าแต่เนิ่น ๆ

FAQ-01

01. ฝนตกทีไร น้ำขังทุกที แก้ปัญหายังไงดี

ตอบ : พื้นดินคือตัวช่วยดูดซับน้ำฝนตามธรรมชาติ ถ้าพื้นที่บ้านเป็นดินร่วนการซึมผ่านของน้ำจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หากเป็นดินเหนียว ด้วยมวลที่อัดแน่นจะทำให้น้ำซึมผ่านลงไปลำบาก จึงยังคงมีน้ำส่วนเกินเหลือบนผิวดิน แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังนี้ด้วยการถมดินรอบอาคารให้สูงกว่าระดับถนนหน้าบ้าน และปรับสโลปลาดเอียง อัตราส่วนอย่างน้อย 1 : 200 ออกสู่ทางระบายน้ำสาธารณะโดยตรง หรือรางระบายน้ำรอบที่ดิน

 

02. น้ำประปามีกลิ่นและสีผิดปกติทุกทีเมื่อเข้าหน้าฝน ปัญหานี้เกี่ยวกับน้ำฝนด้วยหรือเปล่านะ

ตอบ : หากถังเก็บน้ำประปาอยู่ใต้ดินก็อาจมีส่วน ลองเช็กดูว่ามีเศษดินหรือสิ่งสกปรกปนเปื้อนเข้าไปในถังเก็บน้ำหรือไม่ เพราะถังเก็บน้ำแบบใต้ดินมีโอกาสเกิดรอยรั่วซึมได้มากกว่าแบบตั้งบนดิน ดังนั้นจึงควรตรวจสอบถังเก็บน้ำประปาทุกเดือน และทำความสะอาดใหญ่ทุกปี แต่อีกสาเหตุหนึ่ง (ที่ไม่ได้เกี่ยวกับหน้าฝน) อาจเกิดจากท่อประปาแบบเหล็กอาบสังกะสีเสื่อมสภาพ เนื่องจากมีอายุการใช้งานเพียง 5 ปี จึงควรเปลี่ยนเป็นท่อพีวีซีจะดีกว่า

 

03. หากพื้นดินที่บ้านเป็นดินเหนียวจะทำระบบระบายน้ำแบบไหนดี

ตอบ : ควรทำระบบระบายน้ำใต้ดิน ช่วยเสริมประสิทธิภาพการระบายน้ำบนผิวดิน เพื่อป้องกันดินทรุดตัวจากการอุ้มน้ำมากเกินไป เริ่มต้นสำรวจแนวงานระบบใต้ดินที่มีอยู่เดิมก่อน แล้วค่อยวางท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 – 6 นิ้ว เจาะรูด้านบนสำหรับให้น้ำซึม คลุมทับด้วยแผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์ป้องกันดินอุดตัน ส่วนด้านล่างเป็นรางรองรับน้ำให้ไหลต่อไปยังบ่อพักที่ติดตั้งไว้ทุก ๆ ระยะ 4 เมตร

 

FAQ-02

04. จำเป็นต้องมีรางระบายน้ำฝนบนหลังคาไหม

ตอบ : จำเป็น เพราะเมืองไทยเป็นเขตร้อนชื้นที่มีฝนตกชุก ช่วงฝนตกหนัก ๆ น้ำฝนจะไหลตามความลาดเอียงของหลังคาลงมากระแทกกับพื้นด้านล่าง ยิ่งตัวบ้านสูงเท่าไหร่ แรงกระแทกของน้ำฝนยิ่งแรงตามไปด้วย จนอาจสร้างความเสียหายให้สวนและพื้นรอบบ้าน และหากรอบบ้านเป็นพื้นคอนกรีต น้ำฝนก็จะยิ่งตกกระแทกแรงกว่าเดิมจนกระเซ็นเข้าสู่ตัวบ้าน หากบ้านคุณอยู่ติดกับเพื่อนบ้านด้วยละก็ยิ่งต้องติดรางระบายน้ำเพื่อดักน้ำฝนไม่ให้สร้างความเดือดร้อนแก่บ้านข้างเคียง

 

05. ท่อระบายน้ำฝนตัวที่ต่อจากรางบนหลังคาทำให้บ้านดูไม่สวยเลย มีทางเลือกอื่นทดแทนได้ไหม

ตอบ : ถ้าวางแผนได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มสร้างบ้าน แนะนำให้ทำรางน้ำฝนซ่อนอยู่ในโครงสร้างของบ้าน แต่ต้องเลือกช่างมีฝีมือที่ไว้ใจได้ เพราะอาจเกิดปัญหาการรั่วซึมได้ภายหลัง หรือเลือกทำดีไซน์ใหม่ให้กับท่อไปเลย เช่น ถ้าบ้านเป็นสไตล์อินดัสเทรียลอาจฉาบปูนบาง ๆ ที่ผิวท่อ หรือปิดผิวด้วยแผ่นสเตนเลสสร้างลุคดิบเท่ หรือถ้าเป็นบ้านไม้สไตล์ธรรมชาติก็อาจใช้ลำไม้ไผ่แทนท่อพีวีซี สวยกลมกลืนไปอีกแบบ

 

06. รางระบายน้ำฝนอุดตันบ่อย ดูแลรักษายังไง

ตอบ : ทำตะแกรงครอบตลอดแนวรางระบายน้ำฝนบนหลังคาและภายในบริเวณบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เศษใบไม้ตกลงไปอุดตันจนทำให้น้ำไม่ไหล และต้องทำความสะอาดซ่อมแซมบ่อย ๆ โดยเฉพาะรางระบายน้ำฝนบนหลังคา เพราะเราคงไม่อยากปีนขึ้นไปเก็บสิ่งอุดตันกันบ่อย ๆ เป็นแน่ ดังนั้นก่อนเข้าหน้าฝนอย่าลืมเช็กสภาพรางและท่อระบายน้ำฝน ความหนาแน่นของข้อต่อ รวมทั้งการทำความสะอาดและซ่อมบำรุง เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก

 

FAQ-03

07. ฝนตกไม่นาน รางระบายน้ำก็เอ่อเสียแล้ว เป็นเพราะอะไรนะ

ตอบ : รางระบายน้ำหรือบ่อพักอาจเกิดการอุดตันจากใบไม้ หรืออาจเกิดจากขนาดของรางระบายน้ำ และบ่อพักที่แคบหรือตื้นเกินไป แก้ไขด้วยการตักเศษสิ่งสกปรกออกแทนที่จะฉีดไล่ด้วยน้ำแรงดันสูง เพราะอาจยิ่งทำให้สิ่งสกปรกไหลไปรวมกันจนอุดตันจุดอื่น เมื่อตักเศษใบไม้และเศษดินออกแล้วให้ปิดด้านหน้าด้วยตะแกรง ส่วนขนาดของรางควรมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 30 เซนติเมตร อัตราส่วนความลาดชันของรางต้องน้อยกว่า 1 : 100 บ่อพักมีขนาดอย่างน้อย 50 x 50 x 50 เซนติเมตร และติดตั้งให้ห่างกันไม่เกิน 4 เมตร

TIP : ความลาดชัน 1 : 100 หมายความว่าทุกระยะพื้นแนวราบที่ 100 ส่วน ให้ยกแนวตั้งด้านหนึ่งสูงขึ้น 1 ส่วน เช่น ถ้าพื้นแนวราบยาว 200 เมตร ให้ยกแนวตั้งด้านหนึ่งสูง 2 เมตร ระยะที่เกิดขึ้นจากปลายยกสูงไปถึงปลายราบอีกด้านคือความลาดชันที่อัตราส่วน 1 : 100

 

08. บ้านหลังคาแฟลตสแล็บ พอจะมีตัวช่วยอื่นนอกจากทำรางระบายน้ำด้านข้างอีกไหม

ตอบ : ช่วยได้ด้วยการทำช่องน้ำล้นหรือ Overflow ตรงขอบข้างที่ยื่นรอบหลังคาแฟลตสแล็บ ทำหน้าที่ระบายน้ำที่เอ่อล้นจนเกินกำลังของรางระบายน้ำ โดยเจาะช่องขนาด 5 x 15 เซนติเมตร สูงจากระดับพื้นหลังคา 5 – 10 เซนติเมตร แล้วสอดเหล็กรูปตัวซี (C) เข้าไปเป็นรางน้ำเสริมในลักษณะหงายขึ้น เมื่อน้ำที่ระบายไม่ทันเอ่อขึ้นมาจนถึงระดับของรางเหล็กก็จะล้นออกมาทางช่องนี้

 

09. อยากได้ไอเดียซ่อนทางระบายน้ำแบบแนบเนียนไปกับสวน

ตอบ : ง่ายที่สุดเลยก็ด้วยการโรยกรวดหรือก้อนหินขนาดเล็กทับลงบนรางระบายน้ำที่ปิดผิวหน้าด้วยตะแกรงเหล็กแล้ว น้ำส่วนเกินสามารถแทรกซึมผิวกรวดลงไปยังท่อได้ หรือใช้การเว้นร่องตามแนวรอยต่อระหว่างพื้นผิวสองแบบ อย่างผนังปูนกับพื้นกระเบื้องหรือพื้นปูน โดยปรับองศาการลาดเอียงให้น้ำระบายออกอย่างรวดเร็ว โดยยังคงมีดีไซน์สอดคล้องกับงานสถาปัตยกรรม

 

FAQ-04

10. ประตูบานเลื่อนและหน้าต่างกรอบอะลูมิเนียม มีวิธีป้องกันน้ำซึมเข้ามาอย่างไร

ตอบ : ก่อนการติดตั้ง ควรเลือกทำธรณีประตูขึ้นมาประมาณ 5 – 7 เซนติเมตร ทำหน้าที่เป็นคันกั้นน้ำฝนที่อาจสาดเข้ามาจากช่องว่างรอยต่อบนพื้น ส่วนการติดตั้งรางเลื่อน ควรเลือกชุดรางเลื่อนและกรอบประตูหน้าต่างอะลูมิเนียมหรือ uPVC ที่ได้มาตรฐาน สามารถป้องกันน้ำซึมอย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจเลือกรุ่นที่เพิ่มรูระบายน้ำเสริม โดยปรึกษากับตัวแทนจำหน่ายได้เลย

 

11. ประตู – หน้าต่างก็ปิดสนิทแล้ว ทำไมน้ำฝนยังซึมเข้ามาได้

ตอบ : ถ้าลองเช็กการปิดของหน้าต่างและประตูดีแล้ว ลองตรวจสอบรอยต่อระหว่างผนังกับวงกบดู หากมีช่องห่างให้ยาแนวด้วยซิลิโคน แต่หากวงกบยังติดแน่นดี น้ำฝนอาจซึมเข้ามาทางรอยต่อระหว่างบานประตูและวงกบ ให้เซาะร่องเล็ก ๆ ขนาด 1 x 1 เซนติเมตร บริเวณใต้วงกบด้านบนร่นเข้ามาจากขอบนอก 3 เซนติเมตร สำหรับเป็นบัวหยดน้ำเพื่อหยุดทางน้ำที่กำลังจะไหลซึมเข้าขอบด้านใน และสังเกตว่ามีบังใบที่ขอบวงกบหรือไม่ เพราะบังใบเป็นดีเทลเล็ก ๆ ช่วยป้องกันน้ำฝนซึมได้ แต่ทางที่ดีคือ ควรติดตั้งกันสาดเหนือวงกบบานประตู – หน้าต่าง ป้องกันน้ำไหลเข้าช่องเปิดด้านบน

 

12. เข้าหน้าฝนทีไร ชักโครกกดไม่ลงทุกที จะแก้ไขอย่างไรดี

ตอบ : หากบ้านของคุณใช้ระบบบ่อซึมอาจเกิดจากดินอุ้มน้ำไว้มากเกินไปจนทำให้น้ำจากบ่อซึมไหลออกไปไม่ได้ หรืออาจมีน้ำจากพื้นดินแทรกซึมเข้าไปในถังบำบัด ทั้งนี้ควรตรวจสอบสาเหตุให้แน่ชัด เพราะนอกจาก 2 สาเหตุที่ว่าไปแล้วยังอาจเกิดจากเหตุอื่น เช่น การชำรุดหรืออุดตันของถังบำบัดหรือปริมาตรถังบำบัดไม่เพียงพอกับปริมาณการใช้งานภายในบ้าน

 

DID YOU KNOW ?

อุปกรณ์ประกอบราง : อุปกรณ์ทำรางน้ำฝนทำได้จากวัสดุทั้งสเตนเลส ไฟเบอร์กลาส และไวนิล ราคาเฉลี่ยอยู่ที่เมตรละประมาณ 400 – 1,200 บาท (รวมค่าติดตั้ง) ขึ้นอยู่กับขนาดและเกรดของวัสดุ ถ้าราคาย่อมเยาลงมาหน่อยก็จะเป็นสังกะสี ราคาเมตรละประมาณ 300 – 500 บาท ทั้งนี้นอกจากท่อรางน้ำฝนยังต้องมีอุปกรณ์ประกอบอื่น ๆ อีก เช่น ฝาปิดปลายราง ครอบมุม ครอบรางตรง ครอบเชื่อมรางข้องอ ตะขอแขวนราง ปรับมุมเชิงชายคลิปรัดท่อ เป็นต้น ปัจจุบันมีรางน้ำฝนไวนิลแบบจัดชุดสำเร็จรูปจำหน่าย ประกอบติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว คงทนในการใช้งานไร้รอยต่อ พร้อมดีไซน์ที่เข้ากับตัวบ้าน

 

เรื่อง : skiixy
ภาพประกอบ : คณาธิป