เรือนไม้โบราณ หลังนี้หัวใจไม่เคยลืม


DESIGNER DIRECTORY :

เจ้าของ : คุณธีรพงษ์และคุณสิริพันธ์ พฤฒิพิบูลธรรม


เรือนไม้โบราณ ทุกครั้งที่ผมกลับบ้าน เมื่อมองออกไปนอกกระจกรถ ภาพที่ปรากฏตรงหน้ามักฉายตัดสลับกับภาพความทรงจำในหัวเสมอ

เรือนไม้โบราณ ทั้งร้านโปรดประจำแก๊งค์วัยเด็ก ป้ายรถโดยสารไปโรงเรียน ร้านอาหารโปรด ยิ่งใกล้บ้านเราเท่าไร ภาพความทรงจำเหล่านั้นดูจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเปิดประตูบ้าน ความทรงจำดูจะฟุ้งกระจายในทุกอณูของอากาศ แจ่มชัดราวกับว่าเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน และเชื่อว่าทุกคนใน “บ้านจิตต์สัมพันธ์” บ้านแสนรักที่ผมมาเยือนในครั้งนี้ก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน

เรือนไม้โบราณ

ริมถนนตลาดใหม่เยื้องกับโรงแรมวังใต้ โรงแรมเก่าแก่คู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เรือนไม้โบราณ หลังงามยังคงตั้งอย่างสง่างาม เปิดต้อนรับแขกและญาติพี่น้องเหมือนเช่นในวันวาน งานสถาปัตยกรรมไม้อันสวยงามสะท้อนความละเมียดละไมของงานช่างพื้นบ้านในอดีต ไม่แปลกใจเลยเมื่อได้ทราบว่าบ้านหลังนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2554 แต่ถึงแม้ไม่มีรางวัลอะไรการันตี บ้านหลังนี้ก็ยังคงเต็มไปด้วยคุณค่าทางจิตใจสำหรับทุกคนที่เคยผ่านเข้ามาในสถานที่แห่งนี้

“บ้านหลังนี้เดิมเป็นบ้านของช่างไม้ค่ะ ต่อมาขายต่อให้คุณตา จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘บ้านจิตต์สัมพันธ์’ ซึ่งเป็นการผสมชื่อของคุณตาและคุณยาย (คุณสัมพันธ์ – คุณสุจิตต์ เชาวนปรีชา) เมื่อพวกท่านอายุมากขึ้นก็ย้ายไปอยู่บ้านอีกหลังเพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิต แต่ก็ดูแลซ่อมแซมบ้านหลังนี้อยู่เรื่อยๆ จนวันหนึ่งจ๊าดตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่สุราษฎร์ธานี ประกอบกับคุณพ่อคุณแม่ท่านก็ถึงวัยเกษียณแล้ว จึงตกลงใจกลับมาปรับปรุงบ้านหลังนี้ให้คุณพ่อคุณแม่อยู่อีกครั้งค่ะ” คุณจ๊าด – นุชนภา ทรัพย์สมบัติชัย ลูกสาวของ คุณธีรพงศ์และคุณสิริพันธ์ พฤฒิพิบูลธรรม เจ้าของบ้าน เล่าถึงที่มาของบ้านหลังนี้ให้ฟัง ขณะพาเข้าไปชมส่วนต่างๆภายในบ้าน

“ตั้งแต่จำความได้เราก็อยู่บ้านหลังนี้แล้ว จะอยู่ที่ไหนก็คิดถึงที่นี่ตลอด เมื่อก่อนคุณตาเลี้ยงคนเยอะก็จะมีญาติพี่น้อง แม่บ้าน มีช่างไม้อยู่กันหลายคน สนุกสนานดี แต่ถ้าไม่ได้ซ่อมแซม เราก็มาอยู่ไม่ได้ แล้วตอนนั้นยังทำธุรกิจอยู่ พอน้องจ๊าดมาซ่อมแซมใหม่ก็รู้สึกดีที่ได้กลับมา” คุณแม่สิริพันธ์ เล่าถึงความประทับใจที่ได้กลับมาอยู่ที่บ้านเกิดหลังนี้อีกครั้ง

ตัวบ้านเป็นเรือนไม้มนิลาซึ่งเป็นการผสมระหว่างหลังคาจั่วกับหลังคาปั้นหยา ซึ่งแบบหลังเป็นเอกลักษณ์ของบ้านในภาคใต้ เฟอร์นิเจอร์และของประดับส่วนใหญ่เป็นของเก่าที่คุณยายของคุณจ๊าดและสมาชิกคนอื่นๆเก็บสะสมเอาไว้ ขณะเดินชมบ้านก็ได้ฟังเรื่องราวต่างๆที่ทุกคนในบ้านผลัดกันเล่าเสริมอยู่เรื่อยๆ ผู้ฟังอย่างผมก็ได้ทั้งความรู้และความสนุกจากเรื่องเล่าและจินตนาการตามไปด้วย

“จ๊าดอยู่บ้านหลังนี้ตั้งแต่จำความได้ ก็จะไปๆมาๆระหว่างบ้านของคุณพ่อคุณแม่กับบ้านหลังนี้ เพราะทุกเย็นก็ต้องมากินข้าวกับคุณตาคุณยาย ก็เลยผูกพันกับบ้านหลังนี้เป็นพิเศษ รุ่นคุณแม่ก็จะมีญาติมาอยู่เยอะแยะ พอมารุ่นจ๊าดก็จะมีลูกพี่ลูกน้องกลับมาเยี่ยมมาวิ่งเล่นกันอยู่เสมอ พออยู่ม.ปลาย หลังเลิกเรียนเราก็จะมีเพื่อนมานั่งเล่นที่บ้าน มากินข้าวเย็น มาทำการบ้าน ทำพานไหว้ครู ใช้ประโยชน์จากบ้านเยอะมาก ตอนนี้พอปรับปรุงบ้าน เพื่อนทุกคนก็จะพูดถึงและจดจำได้เหมือนกัน”

ระหว่างที่ผมนั่งรับประทานอาหารและพูดคุยกับเจ้าของบ้านอยู่สักพัก เสียงเคาะประตูบ้านก็ดังขึ้น ไม่นานแขกอีกคนของบ้านก็ปรากฏตัวขึ้น พร้อมเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม บ้านหลังนี้มักมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงผลัดกันมาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ ไม่ทันได้ร่ำลาแขกคนเก่า ครอบครัวแขกใหม่อีกชุดก็มาเยือน ความโกลาหลดูจะเป็นเรื่องเดียวกับความสุข นี่เป็นสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นแบบไทยๆซึ่งเห็นได้ชัดเจนในบ้านหลังนี้

แม้บ้านจิตต์สัมพันธ์จะเปลี่ยนแปลงจากในอดีตไปบ้าง ทว่าจากแววตา รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะของทุกคนในบ้านก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ความรักไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทุกครั้งที่ก้าวออกจากบ้าน เหมือนมีเส้นใยบางๆโอบรัดผูกเกี่ยวผู้คนที่เคยมาเยือนบ้านหลังนี้ให้กลับมาอีกครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่านานเท่าใดบ้านหลังนี้ยังคงอยู่ในใจของพวกเขาเสมอ…ผมเชื่ออย่างนั้นครับ

เรื่องโดย : ปัญชัช ชั่งจันทร์
ภาพโดย : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
เจ้าของ : คุณธีรพงษ์และคุณสิริพันธ์ พฤฒิพิบูลธรรม


ชมบ้านไม้แบบอื่นๆ

l l l l l l l l l l l l ll l l l l l l l l l l l l