ฤกษณะ – ชุดผลงานศิลปะภาพถ่าย กับความเป็น “ราชบุรี”

ฤกษณะ ชุดผลงานศิลปะภาพถ่ายแนวสะท้อนชีวิตและสังคมที่ตั้งคำถามกับความเป็น “ราชบุรี” ผ่านการตีความแทนค่าความคิด ทั้งจากมุมมองของคนราชบุรีเอง และคนที่มองเข้ามาจากภายนอก เพื่อพยายามค้นหาและเข้าใจอัตลักษณ์ของชุมชนนี้

“เราเป็นบุคคลภายนอก เมื่อมองเข้าไปผ่านช่องหน้าต่างของบ้านหลังหนึ่งที่เปรียบเหมือนจังหวัดราชบุรี ในนั้นเราอาจได้เห็นข้าวของเครื่องใช้ สไตล์การตกแต่ง ฯลฯ ที่บอกถึงความเป็นอยู่ชีวิตบางแง่มุมของเจ้าของบ้าน แต่ก็คงไม่สามารถบอกได้ถึงนิสัยหรือตัวตนแท้จริงของเขาคนนั้น เช่นเดียวกันกับที่มองราชบุรีจากภายนอก เราอาจไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วตัวตนของราชบุรีเป็นอย่างไร”

ฤกษณะ

หากถามคนรุ่นเก่าว่าเมื่อพูดถึงราชบุรีแล้วนึกถึงอะไร หลายคนอาจบอกว่าโอ่งมังกร เครื่องปั้นดินเผา หนังใหญ่วัดขนอน ผ้าจกคูบัว ชาวไทยทรงดำ ฯลฯ ในขณะที่คนรุ่นใหม่จะรู้จักราชบุรีผ่านสวนผึ้ง รีสอร์ต แหล่งท่องเที่ยว หรือฟาร์มแกะ!

“เมื่อผมตั้งคำถามว่าราชบุรีคืออะไร สิ่งหนึ่งที่คนรุ่นใหม่มองคือ “แกะ” ผมจึงนำมาเป็นสัญลักษณ์ อย่างบนเพดานของร้านทวีผล ซึ่งคุณโต้ง-นิธิศ สถาปิตานนท์ จาก A49 ได้ออกแบบไว้สักพักแล้ว เพราะเรามองว่าสเปซนี้มีความน่าสนใจ เหมือนเพดานโบสถ์ ผมเลยนำ “แกะ” ซึ่งกลายเป็นจุดขายหลักและเป็นตัวแทนของราชบุรีมาไว้ในสเปซนี้ โดยสร้างภาพให้แกะมองลงมาจากเบื้องบนเหมือนเทพเจ้าแบบชาวฝรั่งกำลังก้มลงมองดูชาวราชบุรี”

จุดเด่นของงานครั้งนี้ ศิลปินเน้นเลือกใช้สัญลักษณ์ที่ใครบางคนกำหนดว่าเป็นนิยาม “ความจริง” ของราชบุรีมาใช้ โดยบางช่วงเวลานี่อาจเป็นเพียงภาพ “มายา” หรือสิ่งแปลกปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่านิยามนั้นจะเป็นอะไร ความสำคัญคงอยู่ที่ว่าเราต้องการจะรักษาความจริงที่สวยงามไว้ หรือเร่งสร้างมายาที่เป็นประโยชน์ให้กลายเป็นความจริง! ไม่แน่ผลลัพธ์นับจากนี้อาจเป็นมาตรฐานของความเป็น “ราชบุรี” ในอนาคตก็เป็นได้

ชฤต ภู่ศิริ  คือ หนึ่งในช่างภาพไทยจำนวนไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จได้รับรางวัลด้านการถ่ายภาพมากมายทั้งจากเวทีระดับประเทศและนานาชาติ ผลงานของเขาเน้นที่การใช้เทคนิคนำภาพถ่ายมาสร้างเป็นงานศิลปะร่วมสมัยเพื่อสะท้อนชีวิตและสังคม ได้รับการจัดแสดงผลงานมาแล้วอย่างต่อเนื่อง อาทิ นิทรรศการแสดงภาพถ่าย พรรฦก (ปี 2015) รฦก (ปี 2013) หรือ ฤ เรา ลืม (ปี 2011) และฯลฯ งานของชฤตทำให้เราสัมผัสถึงงานศิลปะภาพถ่ายอีกแขนงหนึ่ง นอกเหนือจากภาพแนว Street Photography ซึ่งนำเสนอโมเม้นต์แห่งความจริงที่สมบูรณ์แบบทุกเสี้ยวนาที เขาเลือกที่จะจำลองเรื่องราวขึ้นมาเพื่อเล่าเรื่อง และใช้เทคนิคดิจิทัลสมัยใหม่มาช่วยให้ผลงานแต่ละชิ้นสามารถเล่าเรื่องราวได้ชัดเจนขึ้น

นิทรรศการเปิดให้ชมถึง วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560

จัดแสดง 3 พื้นที่คือ
-หอศิลป์ร่วมสมัย d Kunst 10.00 น.-18.00 น. เว้นวันจันทร์ – อังคาร
-หอศิลป์ชุมชน พื้นที่ ที่ 4 ( LAS.4 ) ร้านทวีผล ทุกวัน10.00 น. – 17.00 น.
-พื้นที่แสดงงาน โรงงานเถ้าฮงไถ่ ทุกวัน 8.00 น. – 17.00 น.

 


เรื่อง MNSD ภาพ เอกสารประชาสัมพันธ์