KOOPREE “กูปรี” by jird

KOOPREE “กูปรี” คอลเล็คชั่นเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างงานอุตสาหกรรมและงานช่างฝีมือ แม้รูปลักษณ์ที่เผยเนื้อแท้แห่งวัสดุ อาจทำให้เรานึกไปถึงความดิบเปลือยของสไตล์ล็อฟท์ที่บอกเล่าถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หากแต่ลวดลายและสีสันเฉพาะตัวของไม้เนื้อแข็งสายพันธุ์พื้นถิ่นก็สะท้อนถึงกลิ่นอายความเป็นไทยได้อย่างแปลกตา

คอลเล็คชั่นนี้เกิดขึ้นภายในสตูดิโอกลางสวนป่าของ ศุภพงศ์ สอนสังข์ ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ jird เขาตั้งใจพัฒนาช่างฝีมือรุ่นใหม่ในชุมชนให้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับแบรนด์

KOOPREE

003
03 ข้อต่อเหล็กแต่ละชิ้นผลิตจากแผ่นเหล็กหนา 6 มิลลิเมตร ตัดตามแพทเทิร์นด้วยเครื่องเลเซอร์ ก่อนพับให้ได้ตามแบบ ด้วยรูปทรงที่มีห่วงรัดขาไม้ ทำให้ดูคล้ายกับ “กูปรี” จึงเป็นที่มาของชื่อคอลเล็คชั่น โดยทุกคอลเล็คชั่นของ jird มักเป็นชื่อของสัตว์ป่าสำคัญอย่าง กูรัม กระจง กุญชร ฯลฯ เพื่อสะท้อนถึงความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ

002

อุตสาหกรรมครึ่งหนึ่ง คราฟท์ครึ่งหนึ่ง

“ตั้งแต่เริ่มทำคอลเล็คชั่นนี้พยายามสอนให้เด็กๆ ในชุมชนมาช่วยทำ ดังนั้นงานออกแบบจึงต้องออกแบบให้ง่ายที่สุด งานไม้ที่เห็นก็จะเรียบง่าย  เพราะให้มานั่งทำเดือยข้อต่อเอง เราไม่ถนัด ทั้งใช้เวลานาน เลยวิเคราะห์ว่าต้องดีไซน์ข้อต่อเหล็กให้เป็นตัวกลางรัดชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ให้แข็งแรง และต้องผลิตง่ายด้วย เป็นการแก้ปัญหาเรื่องทักษะงานช่างโดยใช้เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเข้ามาทดแทน”

สวยตั้งแต่กระดูก

“ทุกคอลเล็คชั่นตั้งใจเผยเนื้อไม้สีธรรมชาติ และโชว์โครงสร้างทั้งหมดให้เห็น แบบไม่มีการปกปิด ดีไซน์ตรงไปตรงมา อยากให้งานของเราสวยตั้งแต่กระดูก”

ความต่างอยู่ที่เนื้อไม้

“คอลเล็คชั่นนี้อาจดูเป็นสไตล์ล็อฟท์ แต่เราก็อยากจะได้เสน่ห์โฟล์คนิดๆ  เลยเลือกใช้ไม้พื้นถิ่นของไทย ผมรู้สึกว่าเฟอร์นิเจอร์ไทยทุกวันนี้ดีไซน์จะมาในแนว ๆ เดียวกัน ยิ่งใช้ไม้โอ๊คหรือไม้บีช ยิ่งเหมือนกันเข้าไปใหญ่ จึงเลือกใช้ “ไม้รกฟ้า” ซึ่งเป็นไม้ที่ทางแถบอีสานมักนำไปเผาถ่าน เนื่องจากเนื้อไม้แข็งมากจนเครื่องมือช่างโบราณผ่าเพื่อนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ไม่ไหว ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ลายไม้มันสวยมาก”

ฐานทดลองพันธุ์ไม้

“ที่สตูดิโอเป็นฐานทดลองพันธุ์ไม้ไทยด้วย สตูดิโอผมใกล้อำเภอบางแพ ราชบุรี ซึ่งมีธุรกิจรื้อบ้าน เอาเสาเอาไม้เก่ามาขาย สถาปนิกส่วนใหญ่จะมาที่นี่เพื่อสั่งเอาไปทำรีสอร์ท เนื่องจากไม้ไทยแห้งสนิทและทนทาน ไม้บางชนิดถ้าผ่ามาจะเห็นว่าเนื้อไม้สวยมาก ก็เลยไปซื้อมาใช้ในการทำเฟอร์นิเจอร์ เริ่มจากไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้มะค่าแต้สีดำ ไม้เต็งเนื้อออกสีน้ำตาล มีไม้ชื่อแปลกๆ ที่คนไทยไม่รู้จัก อย่างเช่น ไม้กันเกราสีอมเหลืองทอง”

“ในสวนเราปลูกไว้เกือบทุกชนิดมีอยู่ร้อยสี่สิบสายพันธุ์ เราศึกษาตั้งแต่เมล็ดจนโตเป็นไม้ใหญ่ นำมาทำเฟอร์นิเจอร์ได้ เรียกว่าเราทำธุรกิจลงลึกไปจนถึงที่มาของวัตถุดิบ อาจจะต้องใช้เวลาอีกยี่สิบสามสิบปีก็ไม่เป็นไร ในระยะยาวเราเป็นธุรกิจที่มีวัตถุดิบไม้สำรองเป็นของเราเอง”

IMG_5868

คราฟท์ไม่ใช่กระแส แต่เป็นยุทธศาสตร์

“ผมว่าสตูดิโอในสวนเข้ากับจริตช่างไทย เขาทำงานอย่างสบายใจ เพราะพื้นฐานบ้านเราเป็นเกษตรกรรม พอเอาคนเข้ามาทำงานในโรงงาน ก็ไม่ใช่วัฒนธรรมของเขา เราพิสูจน์มาตั้งยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้วว่าเราพัฒนาไปทางอุตสาหกรรมอย่างเดียวไม่ได้ คราฟท์คือแนวทางที่หลงเหลืออยู่ และควรเป็นยุทธศาสตร์ชาติ”

“ในยุคอุตสาหกรรม คราฟท์อาจคือจุดอ่อนเพราะผลิตได้ช้า แต่ในปัจจุบัน มันอาจจะกลายเป็นจุดแข็ง เพราะเราไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องจำนวนการผลิตอย่างเดียว ผมว่าคราฟท์คือทางรอดของนักออกแบบและศิลปินบางกลุ่ม เพราะเครื่องจักรเพียงไม่กี่ตัว เครื่องมือช่างอีกไม่กี่ชิ้นก็สร้างงานได้แล้ว  ผมเลยเข้าใจว่ากระแสคราฟท์ที่มาแรงในช่วงหลัง เพราะอุตสาหกรรมมันแข่งขันสูง ผลิตเยอะแต่กลับไม่ถูกจริง สู้เราทำน้อยๆ (ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้แพงไปกว่าทำเยอะ) แต่คล่องตัวกว่า”

“ผมว่าตอนนี้ใครไหวตัวทันกระโดดออกมาจากกระแสอุตสาหกรรมได้ก่อนก็รอด เพราะแม้ว่าการทำงานคราฟท์ยังมีปัญหาเรื่องความเร็วในการผลิต แต่ถ้าแก้ปัญหาตรงนี้ได้ มันจะทดแทนงานแมสในไม่ช้า เพราะงานแมสไม่ตอบโจทย์ความชอบส่วนตัวหรือความเป็นปัจเจกที่คนยุคใหม่ต้องการ”

IMG_5869-(1)

คราฟท์ไม่ใช่สไตล์ แต่คือกระบวนการ

“คราฟท์เป็นเรื่องของ Skill หรือทักษะที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างตาและมือ ผมมองว่าเครื่องมือที่ใช้ในงานคราฟท์มันเป็นไปตามยุคสมัย เมื่อพันปีที่แล้ว มนุษย์คิดได้แค่มีดคมๆ แต่มาวันนี้ เราคิดเครื่อง CNC ได้ มันก็ไม่แปลกที่เราจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการสร้างงานคราฟท์ ผมว่าคราฟท์คือกระบวนการตั้งแต่เตรียมวัสดุไปจนเสร็จสิ้น ซึ่งเป็นกระบวนการซับซ้อนมากกว่าการป้อนวัสดุให้เครื่องจักรทำงาน แต่ถึงจะเป็นเครื่องจักรเดียวกันแต่เมื่อมีคนเข้าไปจัดการ มันจะมีเสน่ห์บางอย่างที่เราดูออก”

ช่างเฟอร์นิเจอร์ไม้ไทยยังไปต่อได้อีก

“ช่างไม้ไทยยังไปไกลได้อีก ตอนนี้ช่างเฟอร์นิเจอร์ไทยทำงานในลักษณะทำตามๆกันไป เรียนรู้มาแค่ไหนก็ทำเท่านั้น คนทำงานคราฟท์ไม่ควรเป็นแค่ช่าง ควรเป็นดีไซเนอร์ด้วย ต้องสร้างสรรค์และแก้ปัญหาได้ งานคราฟท์ไทยอยู่ในขนบมานานเพราะเริ่มต้นมาจากในวัดกับในวัง เป็นวิชามีครู แต่ถ้าปล่อยให้คนรุ่นใหม่ลองสร้างสรรค์บางอย่างบ้าง อาจมีสไตล์ใหม่ไม่เคยมีมาก่อน”

การศึกษากับคราฟท์ไทย

“อย่างในการศึกษาด้านการออกแบบของไทย บางทีหลายๆ สถาบันการศึกษาไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กเข้าเวิร์คช็อปงานช่าง เพราะกลัวได้รับอันตรายจากเครื่องมือ ซึ่งพอไม่ได้ฝึกทักษะลงมือทำงานไม้จริง ความเข้าใจในการออกแบบก็ผิดพลาด เขาเน้นสอนเรื่องการออกแบบมากกว่า คงเพราะเห็นว่าเรามีภาคอุตสาหกรรมรองรับแล้ว ดังนั้นเด็กทุกคนจบมาก็มีความรู้อย่างละนิดๆ เท่าๆ กัน ไม่ได้ลงลึกกับเรื่องที่ตัวเองสนใจอย่างจริงจัง  ดังนั้นถ้าเชื่อว่าคราฟท์แก้ปัญหาเศรษฐกิจและวิชาชีพได้  เราต้องหยุดผลิตเด็กเป็นเหมือนการตัดเสื้อโหลป้อนโรงงาน การศึกษาควรช่วยให้เด็กได้เป็นเจ้าของกิจการด้วตัวเอง จบมาสามารถสร้างสตูดิโอออกแบบของตัวเอง ซึ่งมันจะนำไปสู่การงอกงามของสายคราฟท์”


ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม JIRD DESIGN GALLERY
โทร. 086-303-6200 [email protected]
Fb: @hathome