เที่ยวภูฏาน

เยือน “ภูฏาน” ดินแดนหุบเขา แห่งมังกรสายฟ้า

เที่ยวภูฏาน
เที่ยวภูฏาน

อีก 20 นาทีก่อนเครื่องบินจะร่อนลง ณ ดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า ฉันเห็นเทือกเขาหิมาลัย สุดไกลโพ้นสายตา ผู้โดยสารเกือบทั้งหมดบนเครื่องบินสังเกตเห็นความสวยงามของเขาแห่งนี้ก่อนนักบินจะประกาศผ่านไมค์เสียอีก นักท่องเที่ยวหลายคนเลือกที่นั่งด้านซ้ายของเครื่องตามที่หนังสือท่องเที่ยวหลายเล่มได้กล่าวไว้ เพื่อจะเก็บภาพนี้ไว้ภายในกล่องความทรงจำ

 

/ เราถามไกด์ว่าเคยเจอพระองค์ท่านระยะประชิดบ้างไหม เขาตอบเราว่า บ่อย ๆ เพราะพระองค์ทรงเข้าหาและห่วงใยประชาชนทำทุกอย่างให้ประชาชนมีความสุข อีกทั้ง สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเยวังชุก พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์วังชุก ยังทรงริเริ่มปรัชญา“ความสุขมวลรวมประชาชาติ” อีกด้วย /

 

-1-
จุดเริ่มต้นของการมาเยือน “ ภูฏาน ” ครั้งนี้เกิดจากเหตุผลง่าย ๆ คือคิดถึง “ทิเบต” หลังจากที่ได้ไปสัมผัสมาเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เพราะที่นี่ได้รับอิทธิพลจากทิเบตอย่างมาก ทั้งภาษา ศาสนา และศิลปะ แม้ใจจะอยากไป แต่ก็ต้องคิดกลับไปกลับมาหลายตลบด้วยเหตุผลที่ว่า ชอบแบ็กแพ็คคนเดียว และไม่ชอบเที่ยวแบบมีไกด์ตามติด ซึ่งเป็นเรื่องยากมากถ้าอยากมาเที่ยวที่นี่ ฉันจึงลองสืบหาหลากหลายวิธีเพื่อจะเข้าประเทศนี้ได้โดยไม่ต้องผ่านเอเย่นต์ ทั้งการส่งอีเมลขอสมัครเป็น volunteer และให้เพื่อนช่วยหาคนรู้จักในภูฏาน แต่ไม่มีวิธีไหนสำเร็จ เสียเวลาทั้งหมดไปร่วมเดือน ในที่สุดก็ต้องกลับมาติดต่อผ่านบริษัทนำเที่ยวในภูฏานใช้เวลาเพียง 3 วัน ฉันก็ได้ทั้งวีซ่า ที่พัก ตั๋วเครื่องบิน พร้อมเดินทางอย่างรวดเร็ว

เที่ยวภูฏาน
บรรยากาศเเรกเมื่อเดินทางมาถึง

หลังเครื่องบินแตะรันเวย์ ฉันพบ Hem ที่ตรงประตูทางออก คำถามแรกที่ยิงใส่ไกด์ชาวภูฏานคนนี้คือ ทำไมรันเวย์ที่นี่สั้นจัง ขนาดที่ว่าพอเครื่องหยุด มองออกไปด้านหน้าก็เป็นภูเขาแล้ว ถ้าเบรกไม่อยู่ฉันแทบไม่อยากจะคิด เขาบอกว่า เพราะที่นี่มีพื้นที่ไม่มากนัก ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหุบเขา ขนาดจะสร้างสนามบินในเมืองหลวงยังเป็นไปไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้ต้องมาสร้างสนามบินที่ ปาโร (Paro) เมืองที่ห่างจากเมืองหลวงทิมพู (Thimphu) เพียงแค่ 1 ชั่วโมง

เที่ยวภูฏาน
บ้านของชาวภูฏานบนภูเขา

ฉันชอบเที่ยวแบบเนิบ ๆ ค่อย ๆ ซึมซับบรรยากาศ และเรื่องราวรอบตัวฉันจึงบอกไกด์ประจำตัวให้เข้าใจตรงกัน นอกจากนี้เรายังมีผู้ร่วมทางอีกหนึ่งคนคือ Pee Dee ทำหน้าที่เป็นคนขับรถระหว่างทางจากปาโรสู่ทิมพู ฉันขอให้เขาหยุดรถเป็นบางช่วงเพื่อลงเดินและซึมซับอากาศบริสุทธิ์บนความสูง 2 พันกว่าเมตร โดยไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดอาการขาดออกซิเจนบนที่สูง หรือ Altitude Sickness ซึ่งมีเฮ็มลงมาเดินด้วย การได้พูดคุยกับเขาทำให้มุมมองการเที่ยวแบบมีไกด์ของฉันเปลี่ยนไป เราแชร์ความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ด้วยกัน ความรู้สึกที่ว่า ดินแดนแห่งนี้ลี้ลับและเข้าถึงยากค่อย ๆ ลดลง

เที่ยวภูฏาน
สะพานไม้ข้ามแม่น้ำปาชู หนึ่งในสะพานที่เก่าเเก่ที่สุดในประเทศ ภูฏาน

ระหว่างที่แวะเดินบน สะพานไม้ข้ามแม่น้ำปาชู 1 ใน 7 สะพานเก่าแก่ที่ยังคงเหลืออยู่ เขาค่อย ๆ เล่าตำนานของสะพานแห่งนี้ ธงมนตร์ที่แขวนโดยรอบ สถูปบนเนินเขาที่ผู้คนกราบไหว้และเวียนทักษิณาวัตร ไปจนถึงเรื่องราวชีวิตของเขาเอง เราได้รู้ว่าเขาเรียนจบด้านสื่อสารมวลชนที่อินเดีย แต่กลับไม่มีโอกาสมากนักที่จะทำงานด้านนี้ที่ภูฏาน เขาจึงหันมาทำงานเป็นไกด์บอกเล่าเรื่องราวประเทศตนเองให้ นักท่องเที่ยวได้รับรู้แทน ซึ่งถือเป็นงานที่รักและไม่เคยรู้สึกเบื่อ แม้จะต้องเดินขึ้นภูเขาเดิม ๆ กว่า 500 ครั้งกับนักท่องเที่ยวจากหลากหลายประเทศทั่วโลก

เที่ยวภูฏาน
ธงมนตร์ถูกติดไว้ที่ราวสะพาน เเต่ละผืนบอกเล่าเรื่องราวมากมายของชาวภูฏาน

รายได้หลักของที่นี่อันดับแรกมาจากการขายไฟฟ้าพลังงานน้ำให้อินเดีย อันดับสองคือการท่องเที่ยว และสามคือเกษตรกรรม การปลูกพืชผักของที่นี่ถูกควบคุมโดยรัฐบาล มีกฎไม่ให้ใช้ยา ปุ๋ย หรือสารเคมี ทุกอย่างต้องมาจากธรรมชาติเท่านั้น เฮ็มกล้าท้าว่าผลผลิตที่นี่คือออร์แกนิกอย่างแท้จริง หลังอาหารกลางวัน เขาจึงพาฉันแวะไปตลาดสุดสัปดาห์ที่มีเฉพาะศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ในทิมพู ที่ซึ่งชาวบ้านออกมาจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมาก

เที่ยวภูฏาน
บรรยากาศในตลาด

ตัวตลาดสร้างเป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างขายผลผลิตทางการเกษตรหน้าตาสวยงามจากอินเดีย ซึ่งแน่นอนว่าเต็มไปด้วยสารเคมี ชั้นบนเป็นพืชผักหน้าตาบูดเบี้ยวไร้ยาและสารเคมีที่ปลูกภายในประเทศ คนเยอะทั้งข้างบนข้างล่าง ฉันแอบงงว่าทำไมคนถึงเลือกซื้อผักจากชั้นล่างทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีทั้งยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี แถมผักออร์แกนิกก็ไม่ได้ซื้อยากแบบบ้านเราที่ต้องไปห้างสรรพสินค้าชั้นนำ แค่เดินขึ้นชั้นสองก็ซื้อหาได้แล้ว คำตอบก็คือสินค้าออร์แกนิกราคาแพงกว่านั่นเองซึ่งก็เป็นปัญหาคล้าย ๆ กับบ้านเราที่ไม่เห็นผลเสียในระยะยาวว่าสารเคมีก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง แต่สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา การเอาตัวรอดให้มีอาหารกินในแต่ละวันอาจมีความสำคัญกว่าการเลือกผักปลอดภัยก็เป็นได้

เที่ยวภูฏาน
ทางเดินข้ามฝั่ง ไปโซนขายสินค้าหัตถกรรม

จาก Weekend Market ข้ามฝั่งถนนไปเป็นตลาดหัตถกรรมและเสื้อผ้าที่น่าแปลกใจคือคนที่นี่สื่อสารภาษาอังกฤษดีมาก พ่อค้าแม่ค้า ลูกเล็กเด็กแดงพูดกันคล่อง เฮ็มเฉลยให้ฟังว่า ภาษาอังกฤษคือภาษาที่สอง เด็ก ๆ จะเรียนกันตั้งแต่เล็กในโรงเรียนทุกวิชายกเว้นวิชาภาษาซองคา (ภาษาประจำชาติ) อีกทั้งต้องพูดภาษาอังกฤษกับเพื่อนและคุณครูด้วย ตัวเขาเองก็พูดดีมากทั้งสำเนียงอังกฤษและอเมริกัน เขาบอกว่าเพื่อน ๆ หลายคนมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ประเทศไทย ซึ่งฉันไม่เคยรู้มาก่อน จึงขอชื่นชมสุด ๆ และกล้าบอกได้เต็มปากว่าภาษาอังกฤษของคนที่นี่ดีกว่าบ้านเรามาก ในขณะที่การพัฒนาประเทศอาจล้าหลังกว่าแต่การให้ความสำคัญด้านภาษาของรัฐบาลที่นี่น่ายกย่องจริง ๆ

เที่ยวภูฏาน
สินค้าเเละเสื้อผ้า จากงานฝือมือของคนท้องถิ่น

เมืองหลวงทิมพูมีประชากรอยู่ราว 100,000 คน เป็นเมืองที่ไม่มีไฟจราจรตามสี่แยก มีเพียงตำรวจจราจรยืนรำโบกรถให้สัญญาณแทนถนนเส้นหลักกลางเมืองจะเต็มไปด้วยร้านค้าสองข้างทาง ผู้คนพลุกพล่านในวันหยุด รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่แวะซื้อของฝาก จากตลาดเฮ็มพาฉันไปที่ ตาชิโชซ่ง (Tashichho Dzong) ศูนย์กลางการปกครองและสัญลักษณ์ของเมืองนี้ที่มีความหมายว่า “ป้อมแห่งศาสนาอันเป็นมงคล”

เดินเข้าไปภายในจะเห็นลานกว้าง ล้อมรอบไปด้วยอาคารต่าง ๆ ทั้งสำนักราชเลขาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง วัดและเขตของสงฆ์ เฮ็มบอกว่าทุกซ่งในภูฏานจะรวมด้านการเมืองและการศาสนาเอาไว้ด้วยกัน พระราชวังของกษัตริย์อยู่ไม่ไกลจากที่นี่ พระองค์สามารถเสด็จฯมาทรงงานที่ตาชิโชซ่งได้ เราถามไกด์ว่าเคยเจอพระองค์ท่านระยะประชิดบ้างไหม เขาตอบเราว่าบ่อย ๆ เพราะพระองค์ทรงเข้าหาและห่วงใยประชาชนทำทุกอย่างให้ประชาชนมีความสุขอีกทั้ง สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์วังชุก ยังทรงริเริ่มปรัชญา“ความสุขมวลรวมประชาชาติ” อีกด้วย

– อ่านต่อหน้า [2] –