แบบหลังคา

ทรง(หลังคา)ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

แบบหลังคา
แบบหลังคา

ฉบับที่แล้วเราได้แนะนำหลังคาที่เหมาะกับสภาพอากาศในเขตร้อนชื้น ซึ่งต้องมีความลาดชันสูง มุงด้วยวัสดุที่สามารถสู้ความร้อนจากแสงแดดได้ดี มีความโปร่งโล่งเพื่อให้มวลอากาศร้อนระบายออกจากใต้หลังคาได้สะดวก แบบหลังคาบ้าน

ครั้งนี้จึงขอพาคุณผู้อ่านไปทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของ “ทรงหลังคา” แต่ละประเภทที่เหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทย เพราะเมื่อเลือกทรงหลังคาได้ดีแล้ว บ้านก็จะอยู่สบายขึ้นอย่างแน่นอน แบบหลังคาบ้าน

แบบหลังคา

หลังคาปั้นหยา
หลังคาที่มีด้านลาดชันทั้งสี่ด้าน อาจเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือรูปแบบผสมผสานก็ได้ มักมีชายคายื่นยาวออกไปช่วยคุ้มแดดคุ้มฝน แต่ไม่มีด้านรับลมเหมือนหลังคาจั่ว จึงมักใช้การเพิ่มหน้าต่างรับลมใต้ชายคา หรือเว้นร่องฝ้าชายคา เพื่อให้สามารถระบายอากาศใต้หลังคาได้นั่นเอง
ข้อดี : มีความแข็งแรงกว่าแบบอื่นๆ ด้วยคุณลักษณะที่โครงสร้างทุกด้านวิ่งมาบรรจบกันบนยอดหลังคาทำให้เกิดความมั่นคง สามารถรับลมและฝนได้จากทุกทิศทาง รวมถึงเข้ากันได้กับตัวบ้านหลากหลายสไตล์
ข้อเสีย : รับลมเข้ามาระบายอากาศได้ไม่ดีเท่าหลังคาแบบอื่น แต่อาจแก้ปัญหาโดยการติดแผ่นฝ้าชายคาที่มีรูระบายอากาศ เพื่อให้มวลอากาศร้อนใต้หลังคาสามารถระบายออกไปได้
เหมาะสำหรับ : บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งต้องการความแข็งแรงในการรับแรงลมและฝน เช่น ชายฝั่งทะเล หรือบริเวณที่มีลมพัดแรงอยู่เสมอ

แบบหลังคาบ้าน

หลังคาจั่ว
เป็นหลังคาทรงพื้นฐานที่พบเห็นได้ทั่วไปในบ้านไทยพื้นถิ่นมาช้านาน มีลักษณะเป็นหน้าจั่วสามเหลี่ยมยาวไปตลอด มีด้านปะทะลมสองด้าน และด้านลาดชันสองด้าน
ข้อดี : ด้านปะทะลมของหลังคาจั่วนั้นออกแบบมาเพื่อให้อากาศเย็นจากภายนอกสามารถเข้ามาช่วยระบายมวลอากาศร้อนภายในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นหลังคาที่สามารถรับลมได้ดีที่สุดเมื่อวางตำแหน่งหน้าจั่วรับกับทิศทางของลมประจำถิ่น ซึ่งในการออกแบบบ้านแบบ Tropical นั้น จะมีการเปิดช่องให้ลมพัดผ่านใต้หลังคาหน้าจั่วอีกด้วย ทั้งยังก่อสร้างได้ง่ายกว่าหลังคาทรงปั้นหยาและมนิลา จึงประหยัดค่าก่อสร้างได้มากกว่า
ข้อเสีย :แม้ด้านปะทะจะรับลมได้ดี แต่อาจเกิดเหตุการณ์ฝนสาดได้ หากตัวบ้านและหน้าจั่วหันผิดทิศ
เหมาะสำหรับ : บ้านที่อยู่ในทำเลซึ่งมีลมประจำถิ่นพัดในทิศทางที่แน่นอน หรือบ้านที่ต้องการรับลมธรรมชาติ

แบบหลังคาบ้าน ทรงจั่ว

หลังคาจั่วสองชั้น     
มีคุณสมบัติคล้ายหลังคาทรงจั่วซึ่งนำมาซ้อนทับกันในแนวตั้ง โดยหลังคาจั่วชั้นบนจะมีขนาดเล็กกว่าชั้นล่าง เพื่อบังแดดบังฝนให้ช่องเปิดบริเวณยอดหลังคา
ข้อดี : ช่องเปิดบนยอดของหลังคาสามารถระบายอากาศออกไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มวลอากาศด้านล่างถูกดึงขึ้นไป หลังคาประเภทนี้จึงเหมาะกับบ้านที่ประกอบอาหารภายในครัวเรือน หรือจะปรับเป็นห้องทำงานช่างก็เหมาะสม
ข้อเสีย : มักมีฝนสาดเข้ามาทางช่องเปิดในช่วงฝนเปลี่ยนฤดูหรือฤดูมรสุม จึงควรทำบานปิดที่ช่องเปิดระหว่างหลังคา เพื่อไว้กันฝนสาด
เหมาะสำหรับ :ห้องทำงานช่าง ร้านอาหาร

แบบหลังคาบ้าน ทรงมนิลา

หลังคามนิลา
เป็นหลังคาทรงปั้นหยาที่มีจั่วอยู่บนยอดของหลังคา ถือเป็นการรวมข้อดีของทั้งหลังคาจั่วและหลังคาปั้นหยาเข้าด้วยกัน ทำให้อาคารพื้นถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมเลือกใช้ทรงหลังคาประเภทนี้ เพราะทั้งแข็งแรง มั่นคง คุ้มแดดคุ้มฝนได้ดี และยังมีช่องระบายอากาศในยามที่ร้อนอบอ้าวอีกด้วย
ข้อดี :  มีความแข็งแรง รับได้กับทุกสภาวะอากาศ รวมถึงระบายอากาศได้ดี เรียกว่าเป็นหลังคาที่ออกแบบมาเพื่อบ้านที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นจริงๆ
ข้อเสีย : เนื่องจากเป็นโครงสร้างที่เกิดจากการผสมผสานลักษณะเฉพาะของหลังคาทั้งสองแบบ จึงมีความสลับซับซ้อนและยากกว่าหลังคาแบบทั่วไป และอาจใช้งบประมาณมากกว่าหลังคาแบบอื่น
เหมาะสำหรับ :บ้านที่อยู่ในเขตร้อนชื้น

แบบหลังคาบ้าน ทรงหมาแหงน

หมาแหงนและหลังคาแบน
ด้วยสภาพอากาศแบบร้อนชื้นในประเทศไทย หากเลือกใช้หลังคาที่แบนราบเกินไป (Flat Roof) หรือหลังคาเพิงหมาแหงน ก็อาจเกิดการสะสมความร้อน ไม่สามารถระบายอากาศและน้ำฝนได้ดีพอ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการรั่วขึ้นได้และแม้จะติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันก็จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่มากเกินจำเป็น
ข้อดี :  สร้างง่าย ประหยัดวัสดุโครงสร้าง
ข้อเสีย :  มีความเสี่ยงในการเกิดการรั่วซึมได้มาก ระบายน้ำฝนได้ไม่ดี และหลังคาทั้งผืนต้องรับความร้อนตลอดทั้งวัน
เหมาะสำหรับ :  สตูดิโอทำงานหรือบ้านแบบโมเดิร์น

ดังนั้นการเลือกใช้ทรงหลังคาใดๆจึงควรพิจารณาข้อดีและข้อเสียให้ถี่ถ้วน เพราะเมื่อตัดสินใจไปแล้วหากจะปรับเปลี่ยนก็ยากที่จะแก้ไขได้ในทันที การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น สถาปนิก จึงเป็นวิธีการที่จะทำให้คุณเลือกรูปแบบของหลังคาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมที่สุดสำหรับสภาพอากาศของบ้านเรา

เรื่องและภาพ : “วุฒิกร สุทธิอาภา”

มาทำความรู้จัก “หลังคา” รูปแบบต่างๆกันเถอะ

รวมวัสดุหลังคาโปร่งแสงยอดนิยม

คำนวณจำนวนกระเบื้อง ด้วยวิธีการคิดพื้นที่หลังคา

วัสดุมุงหลังคาแต่ละแบบ ดี ด้อย ต่างกันอย่างไร