3 ประเภทพรรณไม้ที่ ‘พ่อ’ เคยสอนให้ปลูก

เราต่างรู้กันแล้วว่าฤดูกาลที่ผิดเพี้ยนและภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นทุกปีนั้น มีสาเหตุหลักๆ มาจากการทำลายและทำร้ายธรรมชาติที่มีอยู่ดั้งเดิม โดยเฉพาะเรื่องของป่าไม้ ด้วยเพียงเพราะต้องการนำไม้มาใช้ประโยชน์กันแค่เฉพาะตัว แต่ผลที่ตามมาคือภาวะแห้งแล้ง การเสื่อมโทรมของพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และดินที่ไม่สามารถอุ้มน้ำป่าไว้ได้อีกต่อไป สร้างผลกระทบต่ออาชีพทางการเกษตร ต่อเนื่องไปถึงอุทกภัยสู่คนเมืองอย่างที่เราได้เจอกันมาแล้ว

แต่ความเดือนร้อนเหล่านี้ก็พบทางออก เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรามหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระราชดำริในการพัฒนาฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับคืนสู่สภาพความเป็นธรรมชาติและมีความสมดุลอย่างยั่งยืน ด้วยแนวทางผสมผสาน โดยใช้วิธี ‘ปลูก ไม้ 3 อย่าง ให้ประโยขน์ 4 ประการ’ ขึ้นมา คือ ไม้ผลหรือไม้กินได้ ไม้โตเร็ว และไม้เศรษฐกิจ ให้กับหน่วยพัฒนาต้นน้ำทุ่งจ๊อ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2519 ตามมาด้วยแนวทางการปลูกไม้ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำของศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ในปีพ.ศ.2525 ด้วยไม้ 3 อย่างคือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ และไม้เศรษฐกิจ

โดยประเภทของไม้ 3 อย่างนี้ก็คือ

ไม้ผลหรือไม้กินได้  เป็นไม้ที่ให้หน่อ ใบ ดอก ผล ซึ่งสามารถใช้เป็นอาหารและสมุนไพรได้ เพื่อให้ชุมชนมีแหล่งอาหารจากธรรมชาติไว้กินไว้ใช้อย่างไม่ขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็น มะหาด ฮ้อสะพานควาย เป้าเลือด บุก กลอย งิ้ว กระท้อน ขี้เหล็ก มะขม มะแข่น สมอไทย ตะคร้อ เสี้ยว คอแลน ผักหวานป่า มะไฟ มะขามป้อม มะเดื่อ มะปืนดง เพกา แค สะเดา เมี่ยง มะม่วงป่า มะแฟน มะเม่า หวาย ดอกต้าง กระถิน ก่อเดือย หว้า กล้วย ลำไย มะกอกเกลื้อน มะระขี้นก ประคำดีควาย ตะคร้อ กระบก ผักปู่ย่า มะเฟือง แคหางด่าง ขนุน มะปราง มะหลอด คอแลน มะเม่า ส้มป่อย

ขี้เหล็ก
ขี้เหล็ก
มะเฟือง
มะเฟือง

ไม้โตเร็ว เป็นไม้ฟืนหรือเชื้อเพลิงสำหรับชุมชนไว้หุงต้มปรุงอาหาร สร้างความอบอุ่นในฤดูหนาว ไล่ยุง เหลือบ ริ้น ไร หากไม่มีการจัดการที่ดี ป่าก็จะขาดไม้ฟืนที่มีความจำเป็นไปได้ แต่ไม้ฟืนเป็นไม้ปลูกโตเร็วจึงสามารถปลูกทดแทนได้ง่าย เช่น ไม้หาด สะเดา เป้าเลือด มะกอกเกลื้อน ไม้เต้าหลวง กระท้อน ขี้เหล็ก ตีนเป็ด ยมหอม ลำไยป่า มะขม ดงดำ มะแขว่น สมอไทย ตะคร้อ ต้นเสี้ยว บุนนาค ตะแบก คอแลน แดง เต็ง รัง พลวง ติ้ว หว้า มะขามป้อม แค ผักเฮือด เมี่ยง มะม่วงป่า มะแฟน กาสามปีก มันปลา นางพญาเสือโคร่ง มะมือ ลำไย รกฟ้า ลิ้นจี่

สะเดา
สะเดา
ตะแบก
ตะแบก

ไม้เศรษฐกิจหรือไม้ใช้สอย เป็นไม้สำหรับการปลูกสร้างบ้านเรือน เครื่องเรือน คอกสัตว์ เครื่องมือการเกษตร เช่น เกวียน คันไถ ด้ามจอบ เสียม และมีด รวมถึงไม้ที่นำมาทำเป็นเครื่องจักสาน กระบุง ตะกร้า สำหรับใช้ในครัวเรือน ต่อยอดไปถึงการพัฒนาฝีมือสู่งานอุตสาหกรรมครัวเรือนสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีก ไม้เหล่านี้ก็มี มะขามป่า สารถี ซ้อ ไผ่หก ไผ่บง ไผ่ซาง มะแฟน สัก ประดู่ กาสามปีก จำปี จำปา ตุ้ม ทะโล้ หมี่ ยมหอม กฤษณา นางพญาเสือโคร่ง ไก๋ คูณ ยางกราด กระถิน เก็ดดำ มะหาด ไม้เติม มะห้า มะกอกเกลื้อน งิ้ว ตีนเป็ด ยมหอม มะขม ขะแข่น สมอไทย ตะค้อ เสี้ยว บุนนาค ปีบ ตะแบก ตอง คอแลน  รัง เต็ง แดง พลวง พะยอม ตะเคียน ฮักหลวง

พะยอม
พะยอม
จำปี
จำปี

ส่วนประโยชน์ 4 ประการที่จะได้จากไม้ 3 อย่างก็คือ

  1. การปลูกไม้ที่เหมาะสมและมีคุณสมบัติที่ดี ทำให้ชุมชนสามารถนำไปใช้สอยและเสริมสร้างอาชีพเพิ่มเติมรายได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อจัดการวางแผนดูแลรักษาร่วมกันในชุมชน เพื่อให้มีไม้ไว้ใช้สอยอย่างไม่ขาดแคลน และไม่สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่
  2. ไม้ฟืน ช่วยให้ชุมชนมีวัสดุเชื้อเพลิงเพื่อสนับสนุนกิจกรรมหุงต้มในครัวเรือน ไม่ต้องใช้เงินซื้อให้สิ้นเปลือง
  3. ไม้กินได้ ทั้งพืชและสมุนไพรรวมถึงสัตว์แมลงที่มาพร้อมป่า เป็นอาหารธรรมชาติที่มีคุณค่าปลอดสารพิษ ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยให้กับชุมชน แถมประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อหา และถ้ามีปริมาณมากเกินต้องการก็ยังใช้เป็นสินค้าเสริมรายได้เพิ่มขึ้นอีก
  4. ป่าไม้พันธุ์ต่างๆ ที่ปลูกให้เติบโตและขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ธรรมชาติเกิดความหลากหลายและเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมถึงพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้กับธรรมชาติและชุมชนไปด้วย

ที่สำคัญคือไม้ 3 อย่างที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรามหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเน้นให้ใช้นั้นเป็นพันธุ์ไม้ที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น เพราะเป็นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดี เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และเป็นที่รู้จักของชุมชน โดยเลือกใช้พื้นที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรมหรือป่าใกล้หมู่บ้านสำหรับปลูก และควรปลูกเสริมแบบธรรมชาติ คือไม่จับต้นไม้เข้าแถว แต่ให้โตผสมผสานกันเพื่อสร้างสภาพป่าแบบธรรมชาติไว้ได้อย่างยั่งยืน

เรื่อง: ภัทรสิริ   โชติพงศ์สันติ์
ภาพประกอบ: สำนักพิมพ์บ้านและสวน

เทคนิคการจัด สวนเกษตรพอเพียง ตามรอยพ่อ
ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง