“ไต้หวันสไตล์” : ภาพสะท้อนของความคล้ายในรูปแบบของตัวเอง

ไต้หวันสไตล์ : ภาพสะท้อนของความคล้ายในรูปแบบของตัวเอง

เมื่อหกปีที่แล้วผมในฐานะช่างภาพพร้อมทีมงานนิตยสาร room เคยยกทีมกันไปตามล่างานดีไซน์ในประเทศไต้หวันกันมาแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากปรับตัวกับความแปลกหูแปลกตาได้พวกเราต่างพยายามสังเกตุหาลักษณะเด่นของงานดีไซน์ในแบบไต้หวันเพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์ในบทความ ระหว่างมื้ออาหารในเย็นวันหนึ่งเราหยิบยกประเด็นเรื่อง”ความคล้าย”มาพูดถึงเพราะทุกคนต่างมีความเห็นตรงกันว่าหลายๆอย่างที่พบเจอไม่ว่าจะอาหาร งานออกแบบ หรือ กระทั่งแฟชั่น สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายที่ผสมผสานของหลากหลายวัฒนธรรมบางอย่างคล้ายจีน บ้างอย่างคล้ายญี่ปุ่น ในขณะที่บางอย่างข้ามไปคล้ายทางฝั่งยุโรปเลยทีเดียว ผมหันไปถามบก.นิตยสารตกแต่งบ้านของไต้หวันผู้รับบทเป็นไกด์ในทริปนั้นว่าเธอมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ เธอปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้คล้ายแต่มันคือ “Taiwanese style”

 

ไต้หวันสไตล์
Taipei 101 ตึกสูงที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของไต้หวันยุคใหม่
2
blue and glueห้องพักผลงานของ Hao Design ที่ออกแบบโดยหลอมรวมทุกความต้องการไว้ด้วยกันในพื้นที่เดียวเนื่องจากที่ดินมีราคาแพง สะท้อนลักษณะการอยู่อาศัยของครอบครัวเจเนอเรขั่นใหม่ในไต้หวันได้เป็นอย่างดี

 

หลังจากกลับมาจากทริปนั้น ผมยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของงานดีไซน์ของไต้หวันผ่านสื่อต่างๆมาโดยตลอด ทําให้เริ่มเห็นรูปแบบของ “ไต้หวันสไตล์” ที่ชัดเจนและโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ สําหรับประเทศที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แข็งแรงการจะสะท้อนอัตลักษณ์ของตัวเองออกมาในรูปแบบของวิถีชีวิตและงานศิลปะแขนงต่างๆคงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร แต่สําหรับ“ไต้หวัน”เกาะเล็กๆที่ได้รับผลกระทบจากสงครามมาตั้งแต่สมัยล่าอาณานิคม ต่อเนื่องมาถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่2 และล่าสุดยังมีกรณีพิพาททางทะเลจีนใต้ที่ยังไม่จบกระทั่งตอนนี้ อย่าว่าแต่เรื่องของศิลปวัฒนธรรมเลยแค่การดูแลเรื่องปากท้องของประชาชนในประเทศใหอยู่ดีกินดียังเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่ไต้หวันแสดงออกมาให้ชาวโลกเห็นกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามโดยด้วยการเปลี่ยนประเทศที่ยากจนเป็นประเทศอุตสาหกรรมผู้ส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก ส่วนในเชิงวัฒนธรรมภาครัฐบาลได้ใช้วางแผนวิจัยและพัฒนาด้วยการระดมนักวิชาการมาร่วมกันศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบทางประวัติศาสตร์ และค้นหาตัวตนอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันซึ่งพวกเขายืนยันว่าแตกต่างจากวัฒนธรรมต้นฉบับจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่างแน่นอน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลให้นประชาชนในประเทศได้รู้จักรากที่แท้จริงของตัวเอง

 

3
ปีนี้เป็นปีแรกที่ดีไซเนอร์ไต้หวันสามารถคว้ารางวัล Reddot Design Award สาขา Interior มาครอบครอง จากโปรเจค Bright open space ของ Chang Ching-ping

 

หลายสิบปีก่อนไทยกับไต้หวันอาจจะไม่ต่างกันมากนักแต่วันนี้เขากลับทิ้งเราไปแบบไม่เห็นฝุ่น ในขณะที่ประเทศที่มีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและองค์ความรู้ที่โดดเด่นไม่แพ้ชาติใดในโลกอย่างเรากําลังถกเถียงเรื่องทศกัณฑ์แคะขนมครก ไต้หวันกําลังพยายามต่อยอดวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอยู่ เพียงไม่มากนักให้เข้ากับบริบทที่ทันสมัยในปัจจุบันจนเป็นที่รู้จักของชาวโลก ผมจึงไม่แปลกใจเลยที่ปีนี้ “ไทเป” เพิ่งได้รับเลือกให้เป็นเมืองดีไซน์น่าจับตา(World Design Capital) แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยระยะเวลาสั้นๆ แต่เกิดจากวางแผน “วิจัยและพัฒนา” ที่มีระบบต่อเนื่องมานานหลายปีจนสามารถปลูกฝังทัศนคติเรื่องนี้ให้กับคนในชาติได้ “ไต้หวันสไตล์”จึงน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจให้กับก้าวต่อไปในการพัฒนางานดีไซน์และวัฒนธรรมของไทยได้เป็นอย่างดี

 

4
At will ห้องพักสุดเท่ที่เป็นปก room ฉบับล่าสุด ผลงานการออกแบบของ Ganna Design สตูดิโอออกแบบที่กําลังมาแรงสุดๆของไต้หวันในตอนนี้

อ่านต่อ : THE GLAMOUR OF CONFLICT – ปะทะความดิบเท่ ด้วยสีสันเจ็บจี๊ด

ปล. ถ้าอยากรู้ว่าเรื่องราวงานดีไซน์ไต้หวันแบบลงลึกมากขึ้นติดตามต่อได้ใน room magazine ฉบับเดือนตุลาคม 2016


ภาพ : Ganna design,wikipeidia.com, reddot.de,www.archdailly.com