[DAILY GUIDE] อยาก เลี้ยงปลา เริ่มยังไงดี?

                “น้ำ” มีส่วนในการสร้างบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย เสียงน้ำไหลรินเบาๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ผ่อนคลาย เมื่อนึกถึงน้ำสิ่งที่มักอยู่คู่กันเสมอคือ “ปลา” ซึ่งช่วยสร้างความเพลิดเพลินใจเมื่อมองเห็นฝูงปลาแหวกว่ายไปมาในสายน้ำ การ เลี้ยงปลา จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มักเป็นตัวเลือกในลำดับต้นๆ คู่กับการออกแบบสวนเสมอ

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับบ่อ เลี้ยงปลา ตลอดจนวิธีเลี้ยงปลาที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ปลาเจริญเติบโตได้ดี มีความสวยงาม ซึ่ง “บ้านและสวน” มีเกร็ดความรู้มาเล่าสู่กันฟัง แล้วคุณจะรู้สึกว่าการเลี้ยงปลาไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

 

gardenhome-02-01

ก่อนจะเริ่มเลี้ยงปลา

ตำแหน่งบ่อเลี้ยงปลาที่ดีควรประกอบด้วยปัจจัยดังนี้

1  ไม่อยู่ในบริเวณที่รับน้ำฝน โดยเฉพาะน้ำที่ไหลผ่านหลังคา เนื่องจากจะเป็นการนำเชื้อโรคและสารต่างๆ มาสู่บ่อ ส่งผลให้ปลาป่วยได้

2  ได้รับแสงแดดในปริมาณที่พอเหมาะ ถ้าอยู่ในที่ที่รับแสงแดดมากเกินไปจะทำให้ตะไคร่น้ำเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และน้ำในบ่อมีสีเขียว หากบ่ออยู่ในที่โล่งควรใช้ตาข่ายพรางแสงประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์

3  ควรอยู่ในบริเวณที่มีแนวกันลมและแสงแดด เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกะทันหัน

4  ตำแหน่งของบ่อควรอยู่ในบริเวณที่สามารถนั่งเล่นดูปลาและให้อาหารปลาได้สะดวก เพื่อจะได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับปลา

5  ไม่อยู่ในบริเวณที่มีเสียงดังอึกทึก เนื่องจากทำให้ปลาตกใจได้

6  ห่างไกลบริเวณที่มีการใช้สารเคมีหรือได้รับมลพิษ เช่น ใกล้ถนน อู่ซ่อมรถ หรือสารกำจัดศัตรูพืชต่างๆ

gardenhome-01-08

รูปแบบของบ่อเลี้ยงปลา

รูปแบบของบ่อเลี้ยงปลาโดยทั่วไปอาจแบ่งได้เป็น 2 แบบ แบบแรกคือ บ่อดิน เป็นบ่อขุดที่ดูเป็น ธรรมชาติ มีความลึกประมาณ 1 –  20 เมตร ระดับน้ำควรต่ำกว่าขอบบ่อประมาณ 20  – 30 เซนติเมตร และทำผนังให้มีความเรียบเพื่อลดการเสียดสีระหว่างผิวปลากับบ่อ ข้อดีของบ่อดินคือเป็นบ่อที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ปลาสามารถกินพืชน้ำและได้รับธาตุอาหารในธรรมชาติได้เต็มที่ อุณหภูมิของน้ำในบ่อค่อนข้างคงที่ แต่มีข้อเสียคือ ทำความสะอาดค่อนข้างยาก มีการปนเปื้อนจากสารต่างๆ เช่น สารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี จึงอาจเกิดโรคกับปลาได้ง่าย แบบที่สองคือ บ่อปูน เหมาะสำหรับผู้ที่คิดจะเลี้ยงปลาสวยงาม เพราะทำความสะอาดง่าย แต่ขั้นตอนการเตรียมบ่อปูนค่อนข้างยุ่งยาก และมีเรื่องการทำบ่อกรองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยสัดส่วนของบ่อต่อบ่อกรองคือ 3 : 1 หรือมีขนาด 30 เปอร์เซ็นต์ของบ่อเลี้ยงปลา ก้นบ่อกรองควรลึกกว่าก้นบ่อเลี้ยงปลา 20 เซนติเมตร หากบ่อเลี้ยงปลามีขนาดเล็กเพียง 15 –  18 ตารางเมตร อาจใช้วิธีติดตั้งเครื่องกรองสำเร็จรูปแทน การทำบ่อเลี้ยงปลาที่ดีควรคำนึงถึงการทำความสะอาดและเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นสำคัญ ระบบบ่อกรองที่นิยมในปัจจุบันเป็นบ่อกรองที่มีระบบน้ำหมุนเวียนขึ้นลงผ่านชั้นกรองต่างๆ แต่บ่อที่มีขนาดเล็กและมีความลึกไม่มาก อาจมีข้อจำกัดในเรื่องความหนาของชั้นกรอง ควรเลือกใช้ระบบกรองแนวราบแทน เนื่องจากระบบกรองแบบนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องชั้นกรองอุดตัน จึงช่วยยืดระยะเวลาการทำความสะอาดบ่อกรองได้นานขึ้น