บ้านไม้

“บ้านบางครุ” สัดสวนที่เหมาะสมของ บ้านไม้

บ้านไม้
บ้านไม้

บ้านไม้ ที่ออกแบบอย่างเรียบง่ายและธรรมดาที่สุดมักเป็นบ้านที่อยู่แล้ว สบายที่สุด ความพอดีนำมาสู่การจัดวางพื้นที่ใช้สอยและออกแบบสัดส่วนของบ้านได้เหมาะสมลงตัวอย่าง บ้านไม้ หลังนี้ โดยแทบไม่ต้องลงทุนประดับประดาให้มากความ


DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Arsom Silp Institude of the Arts

บ้านไม้
บ้านไม้
บ้านที่ออกแบบโดยถอดรหัสความเป็นเรือนไทยริมน้ำ ทั้งยังผสมผสานให้เข้ากับการก่อสร้างสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว เป็นบ้านที่มีวิถีชีวิตเป็น อันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ
บ้านไม้
ผนังงของบ้านที่ได้แรงบันดาลใจจากผนังของยุ้งข้าวในสมัยก่อน โดยออกแบบให้โครงคร่าวไม้อยู่ด้านนอกและตีฝาไม้ด้านในเพื่อให้ผนังด้านในเรียบเสมอกัน ความยากอยู่ที่การนำไม้เก่ามาคัดแยกและตัดให้มีขนาดใกล้เคียงกัน
ซุ้มประตู
คุณป้อมนำเศษไม้ที่เหลือจากการก่อสร้างบ้านมาตัดทำเป็นหลังคาซุ้มประตูทางเข้าที่แยกออกมาจากส่วนทางเข้ารถยนต์ เป็นไอเดียเก๋ๆ ที่นำไม้เก่ากลับมาใช้งานอย่างคุ้มค่า
ซุ้มประตู

ทีมงาน “บ้านและสวน” เดินทางมาที่ย่านพระราม 2 อันเป็นแถบชานเมืองที่เรายังเห็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ผู้คนและชุมชนที่ผูกพันกับสายน้ำ ผสมปนเปไปกับความเจริญที่ค่อยๆคืบคลานเข้ามา บ้านหลังนี้ไม่ได้มีดีแค่การออกแบบที่ผสมผสานภูมิปัญญาของบ้านไทยให้เข้ากับ เทคโนโลยีการก่อสร้างในปัจจุบันเท่านั้น แต่ที่มาของบ้านและที่ดินผืนนี้ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย คุณป้อม – จรัสศรี ศรีบำรุงเกียรติ เจ้าของบ้าน เล่าให้ผมฟังว่า “ที่ดินผืนนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากสถาบันอาศรมศิลป์มา ออกแบบจัดสรรให้เป็นบ้านพักสวัสดิการของครูในสถาบัน ให้สามารถมีบ้านบนที่ดินของตัวเองได้ในราคาต้นทุน โดยใช้ชื่อว่า ‘บ้านบางครุ’ ที่แปลว่า บ้านพักครู”

บ้านไม้สูง 3 ชั้นหลังนี้ออกแบบโดย คุณเก๋ง – นันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์ สถาปนิกจากอาศรมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ เขาเล่าถึงแนวคิดในการออกแบบว่า “ผมมองว่าที่ดินผืนนี้มีศักยภาพมาก ได้วิวดีทั้งจากทะเลสาบและคลอง ด้านหน้าบ้านหันออกทางทิศใต้พอดี ผมพยายามสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ทั้งสองนี้ ออกแบบให้บ้านตั้งอยู่ในแนวขนานทิศตะวันออกและตะวันตก วางตัวบ้านให้ขวางลมที่จะมาจากทางทิศใต้ ถอดรหัสเรือนไทยริมน้ำที่เรียบง่าย ทั้งการยกใต้ถุนสูง มีระเบียงกว้างเป็นชานไม้ขนาดใหญ่ไว้ทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงชายคาโดยรอบบ้านที่ยื่นยาว ป้องกันแดดและฝนได้เป็นอย่างดี นำส่วนบริการของบ้าน เช่น ห้องน้ำและผนังทึบมาบังแดด กันส่วนพักอาศัยให้อยู่ด้านใน ไม่รับแดดโดยตรง ทำให้บ้านอยู่สบาย”

ชานบ้าน
ด้านหลังบ้านติดกับคลองสาธารณะที่ยังมีความเงียบสงบอยู่มาก สถาปนิกออกแบบให้มีชาน ขนาดใหญ่ที่รองรับกิจกรรมอเนกประสงค์ต่างๆ ภายใต้ชายคาที่ออกแบบให้ยื่นยาวปกคลุมตัวบ้านโดยรอบ  บ้านจึงไม่ร้อนเพราะไม่ได้สัมผัสแดดโดยตรง
ชานไม้
ชานไม้ขนาดใหญ่ด้านหลังบ้านซึ่งอยู่ติดกับคลองสาธารณะ  เป็นพื้นที่นั่งเล่นที่ทุกคนในบ้านชื่นชอบมานั่งพักผ่อนและทำกิจกรรมร่วมกันอยู่บ่อยๆ
พื้นไม้
โถงรับแขกหลักบนชั้น 2 ออกแบบให้พื้นที่นั่งเล่นต่อเนื่องไปยังส่วนรับประทานอาหาร มุมทำงาน ครัวที่อยู่ด้านหลังและระเบียงด้านข้าง เสมือนเป็นที่ว่างเดียวกันทั้งหมด  มุมนี้เราจะเห็นการเตรียมโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อรับกับโครงสร้างตงและพื้นไม้อย่างชัดเจน
ส่วนนั่งเล่น
ติดตั้งประตูอะลูมิเนียมบานกระจกที่ปรับเปลี่ยนได้ ช่วยให้บ้านดูโปร่งและเห็นวิวโดยรอบได้มากขึ้น เติมความสดใสด้วยหมอนอิงสีสด ช่วยเพิ่มสีสันให้บ้านโทนสีไม้ดูไม่น่าเบื่อเกินไป
หน้าต่างบานพับ
ออกแบบหน้าต่างในทิศใต้ที่รับลมให้มีขนาดใหญ่ โดยแบ่งช่วงกรอบบานหน้าต่างให้ถี่เพื่อความปลอดภัย ช่วยป้องกันการพลัดตกในกรณีที่ไม่มีราวกันตกได้
ราวบันได
บันไดหลักของบ้านออกแบบให้ดูโปร่งเบามีเฉพาะลูกนอนเท่านั้น  ร่วมกับการใช้แม่บันไดและราวกันตกเหล็กขนาดเล็ก ดูเบาสบายตา แต่ยังคงความแข็งแรง
บันได
บ้านไทยมักใช้วัสดุธรรมชาติอย่างไม้ ซึ่งเราสามารถตกแต่งพื้นผิวของผนังก่ออิฐฉาบปูนเรียบให้เป็นพื้นผิวแบบปูนเปลือยหรือผิวขัดมันได้  ช่วยให้บ้านดูร่วมสมัยขึ้น

เดิมทีสถาบันอาศรมศิลป์ได้จัดสรรพื้นที่จนเหลือที่ดินแปลงใหญ่ผืนนี้ที่ มีรูปทรงไม่เหลี่ยมเต็มผืนเหมือนที่ดินแปลงอื่นๆ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 120 ตารางวา มีมุมมองวิวที่ดีมาก ขนาบด้วยทะเลสาบซึ่งขุดแต่งมาจากบ่อกุ้งเดิม อีกฝั่งหนึ่งติดกับลำคลองสาธารณะ คุณป้อมเล่าว่า “ตอนแรกดูว่าที่ดินใหญ่เกินไปและไม่สวย มีส่วนเว้าแหว่ง แต่ พี่แบน – คุณธีรพล นิยม สถาปนิกมากฝีมือและเป็นผู้อำนวยการของสถาบันอาศรมศิลป์ แนะนำให้เลือกที่ผืนนี้ เพราะเป็นแปลงที่ดีที่สุด ทั้งทิศทางและมุมมอง ต้องขอบคุณสายตาของสถาปนิกที่ช่วยให้เรามีบ้านที่สวยและอยู่สบายหลังนี้”

บ้านหลังนี้ใช้งบประมาณก่อสร้างถูกว่าบ้านในประเภทเดียวกันประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากได้ความอนุเคราะห์เรื่องไม้และช่างทั้งหมดจากสถาบันอาศรมศิลป์ โดยนำไม้เก่ากลับมาใช้ใหม่มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้ไม้ใหม่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ คุณใหญ่ พี่สาวของคุณป้อมยังออกไอเดียนำเศษไม้ที่เหลือจากงานก่อสร้างมาทำเป็น เครื่องใช้ไม้สอยภายในบ้านด้วยตัวเองอีกด้วย ยิ่งช่วยลดงบประมาณลงได้มาก แถมยังมีเฟอร์นิเจอร์เก๋ๆไว้ใช้งานอีกด้วย

ห้องนอนไม้
ภายในห้องนอนบนชั้น 2  นำไม้ชิ้นเล็กๆ มากรุบนผนังและฝ้าด้วยรายละเอียดแบบบังใบที่มีการเว้นร่องระหว่างแผ่นไม้ประมาณ 5 มิลลิเมตร นำวงกบไม้เดิมมาประยุกต์ให้กลายเป็นที่วางของอเนกประสงค์และกรอบรูปได้อย่างน่าสนใจ
ชั้นไม้
เฟอร์นิเจอร์ไม้้

เมื่อเดินเข้ามาภายในบ้านเราจะพบใต้ถุนบ้านขนาดใหญ่ที่ออกแบบให้โปร่ง โล่งและต่อเนื่องกันทั้งหมด ทั้งยังเชื่อมโยงบ่อน้ำหน้าบ้านออกไปยังคลองหลังบ้านได้ดี มีครัวแยกออกมาเป็นสัดส่วน พื้นที่ส่วนนี้คุณป้อมและครอบครัวใช้นั่งพักผ่อน รับประทานอาหาร รดน้ำตัดแต่งกิ่งไม้ เรียกว่ามีการใช้งานตลอดทั้งวัน และด้วยการวางตัวบ้านที่ดี ทำให้ลมธรรมชาติพัดผ่านพื้นที่นี้ตลอด แม้ในช่วงฤดูร้อนก็ตาม

เดิมทีบ้านหลังนี้ออกแบบเป็นบ้านสองชั้น ต่อมาได้เพิ่มส่วนใต้ถุนหรือชั้น 1 เข้ามา โดยยังคงใช้แบบบ้านสองชั้นของเดิม เพียงแต่กลายมาเป็นชั้น 2 และ 3 ชั้น 2 จัดเป็นส่วนรับแขกที่ดูเป็นทางการขึ้น ต่อเนื่องไปยังส่วนรับประทานอาหาร และครัว (หนีน้ำ) ที่ออกแบบไว้ในกรณีที่หากเกิดน้ำท่วมก็ยังมีครัวสำรองให้ใช้งานได้ ชั้นสามเป็นส่วนพักอาศัย ประกอบด้วยห้องนอน 3 ห้อง และห้องพระ ซึ่งออกแบบให้เชื่อมต่อถึงกัน จึงใช้งานร่วมกันได้สะดวก

ประตูไม้
พื้นที่ชั้น 1 ซึ่งทำเป็นใต้ถุนโล่ง มีประตูบานคู่เปิดเข้าไปยังครัวที่ใช้งานประจำของบ้าน
ท่าน้ำ
พื้นที่นั่งเล่นบริเวณศาลาริมน้ำหลังบ้าน นำเศษไม้เก่าที่เหลือมาตัดอย่างง่ายๆ ทำเป็นรั้วโปร่ง ช่วยให้ลมผ่านได้ แถมไม่บังวิวอีกด้วย
ส่วนรับแขก
มุมพักผ่อนส่วนนี้อยู่บริเวณใต้ระเบียงบ้านชั้นสองที่ปูพื้นไม้เว้นร่อง  เวลาฝนตกจะใช้งานไม่ได้  จึงแก้ปัญหาโดยนำไม้มายึดเข้ากับคานด้วยเหล็กฉาก  ให้ไม้อยู่ในระดับที่ต่ำลงมา  จากนั้นสอดหลังคาอะคริลิกลอนใสเข้าไประหว่างช่องของพื้นเพื่อป้องกันฝน
บันไดไม้
แบ่งพื้นที่ข้างบ้านด้านหนึ่งปลูกผักสวนครัวอย่างง่ายๆ จัดวางตุ่มน้ำตรงกับตำแหน่งของรางน้ำฝนเพื่อรองน้ำไว้ใช้ในครัวเรือน  ช่วยประหยัดทรัพยากรน้ำได้อีกทาง
แปลงผักสวนครัว
บ้านไม้ริมน้ำ

บ้านหลังนี้ยังมีรายละเอียดการประกอบงานไม้ที่น่าสนใจ อาทิ ผนังบ้านที่ได้แรงบันดาลใจจากผนังของยุ้งข้าว เราจะเห็นโครงคร่าวไม้จากภายนอกแล้วประกอบแผ่นไม้ทีละแผ่นในลักษณะบังใบต่อ กันที่ด้านใน ซึ่งตัวบังใบนี้เองจะช่วยกันน้ำฝนไม่ให้ไหลซึมเข้ามาในบ้าน โดยไม่ต้องตีซ้อนเกล็ด เน้นให้ผนังภายในบ้านเรียบเสมอกัน รวมถึงการนำไม้เก่ามาต่อกันเพื่อทำเป็นตงไม้โดยใช้วิธีฝากไม้ ไม้จึงรับน้ำหนักของตัวมันเองได้มากขึ้น เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาในการก่อสร้างบ้านไทยที่เราควรอนุรักษ์ไว้

ผนังไม้
ผนังไม้ที่ได้แรงบันดาลใจจากผนังของอาคารยุ้งข้าวที่มักขึ้นงานโครงคร่าวไม้ไว้ภายนอก และวางไม้แนวนอนต่อขึ้นไปทีละแผ่นด้วยรายละเอียดแบบบังใบ  โดยจะมีส่วนเหลื่อมของไม้ ลงเป็นสลักซึ่งกันและกันเพื่อให้ผนังภายในเรียบเสมอกัน
ไม้เป็นวัสดุธรรมชาติที่บางครั้งไม่สามารถหาขนาดความยาวตามที่ต้องการได้มากนัก ช่างสมัยก่อนจึงคิดวิธีต่อไม้หรือฝากไม้ โดยบากไม้แล้วนำมาเข้าสลัก  หรือการนำเศษไม้ 2 ชิ้นมาประกอบเป็นชิ้นเดียว ช่วยแก้ปัญหาไม้ยาวไม่พอ
เก้าอี้นั่งเล่นในห้องรับแขก คุณใหญ่นำเศษไม้ที่เหลือจากการก่อสร้างบ้านมาทำ แต่เพราะเก้าอี้มีขนาดใหญ่ จึงทำเป็นสลักที่สามารถยกขึ้นมาประกอบบนห้องนั่งเล่นชั้น 2 ได้

บ้านไทยหลังนี้จึงเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ออกแบบได้ใกล้ชิด ธรรมชาติ ไม่ต้องปรุงแต่งให้มากความ ถือเป็นบ้านที่งดงามอย่าง (บ้าน) ไทยจริงๆครับ

DESIGNER DIRECTORY :

เจ้าของ : คุณจรัสศรี ศรีบำรุงเกียรติ
ออกแบบ : บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด โดยคุณนันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์

ทีมช่าง : ช่างเกษม ช่างทอง ช่างตุบ ช่างหลุยส์


เรื่อง : ศุภชาติ บุญแต่ง

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

สไตล์: วนัสนันท์ ธีรวิฑูร

บ้านตถตา เรือนไทยล้านนา 

เรือนไทยในอ้อมกอดของขุนเขา