CHARM-LEARN STUDIO ริ+เริ่ม=ผล

“เรามีสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข จึงอยากแชร์ให้คนอื่นที่เขาสนใจให้เป็นพื้นที่แบ่งปันอีกพื้นที่หนึ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ”

“ชามเริญ” ชื่อของสตูดิโอเปิดใหม่ที่กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะแรงบันดาลใจในย่านเมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร คำว่า “ชาม” หมายถึง เซรามิก ซึ่งเป็นความถนัดหลักของผู้ก่อตั้ง ส่วน “เริญ” ย่อมาจากคำว่า เจริญ ซึ่งมีความหมายในแง่ของการเติบโต ในขณะที่คำพ้องเสียงภาษาอังกฤษก็มีความหมายแสนน่ารัก “Charm-Learn: เสน่ห์ของการเรียนรู้” ชื่อที่ผู้ก่อตั้งบรรจงคิดเพื่อสื่อความหมายถึงสิ่งที่พวกเขาได้ลงมือทำด้วยความรัก

คุณมิค – ณัฐพล วรรณาภรณ์ คุณใหม่ – ธนติา โยธาวงษ์ และ คุณบุบ – ชาญชัย บริบูรณ์ คือ 3 ดีไซเนอร์ที่ผันตัวเองจากการทำงานออฟฟิศมาสู่การทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก จากจุดเริ่มต้นของสตูดิโอสำหรับทำงานเซรามิกส่วนตัว วันนี้ได้กลายมาเป็นแหล่งรวมตัวของเพื่อน ๆ จนเป็นแชร์สเปซที่เปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ระหว่างกัน

“เราอยากเปิดให้คนที่คิดคล้าย ๆ กันเข้ามาเวิร์คชอปร่วมกับเราแบบโฮมเมดสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มครอบครัวหรือเพื่อน ๆ ที่นี่คือสถานที่ให้คุณหลีกหนีจากความวุ่นวายข้างนอก แล้วปล่อยให้ชีวิตช้าลงเหมือนอยู่ในบ้าน โดยเน้นไปที่งานคราฟต์ สอนให้ทำเองและนำกลับไปใช้เอง” คุณใหม่อธิบายคอนเซ็ปต์การเปิดคลาสเรียนให้เราฟัง

“จุดเด่นของที่นี่คือเราจะไม่บังคับว่าต้องทำโน่นทำนี่ อาจจะมีแนวทางให้นิดหน่อย แต่สุดท้ายแล้วคุณก็ทำตามจินตนาการเอง วิธีนี้ทำให้คนสอนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ไปพร้อม ๆ กันด้วย” คุณบุบเสริม แต่ไม่ใช่แค่งานปั้นเซรามิกเท่านั้นที่เปิดสอน เหล่าผู้ก่อตั้งเห็นพ้องกันว่าการแลกเปลี่ยนไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว สตูดิโอแห่งนี้จึงกลายเป็นพื้นที่ให้คนทำงานคราฟต์คนอื่น ๆ มาแชร์ความรู้และความคิดกันอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพ งานย้อมคราม ไปจนถึงแหล่งรวมตัวของคนรักจักรยานตามไลฟสไตล์ของพวกเขาทั้งสามคน

นอกจากการริเริ่มและการทำงานที่น่าสนใจแล้ว ทำเลที่ตั้งก็เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่แพ้กัน ใครเลยจะคิดว่าซอยแพร่ง-สรรพศาสตร์ที่เกือบรกร้างและเป็นมุมอับจะได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ตั้งของสตูดิโอศิลปะ จากเดิมที่เคยเป็นโรงพิมพ์และอู่รถสามล้อ แต่ด้วยรูปแบบอาคารที่มีเสน่ห์ ดีไซเนอร์ทั้งสามจึงยังคงสภาพอาคารเดิมเอาไว้เกือบสมบูรณ์ เพียงแค่ทุบผนังและกั้นห้องบางส่วนเพื่อใช้ทำงานเท่านั้น

“คนที่อยู่ตรงนี้เขาบอกว่า จากที่เคยเป็นซอยมืด ๆ เรามาทำให้มันสว่างขึ้น ทำให้มีคนกล้าเดินเข้ามาในซอยนี้ ทำให้ผมเข้าใจว่าศิลปะเป็นภาษาสากล ทุกคนสามารถเข้าใจได้ง่าย ไม่ได้แบ่งชั้นวรรณะ ไม่มีคนต่อต้าน และทุกคนยินดีต้อนรับ” คุณบุบเล่าถึงกระแสตอบรับของชาวบ้านย่านนี้ให้เราฟัง

จากการพูดคุยกับพวกเขาทั้งสามคนทำให้เราเห็นว่า ไม่ใช่แค่มีฝีมือ มีน้ำใจ และไลฟ์สไตล์ที่มีเสน่ห์เท่านั้นที่ดึงดูดให้ผู้คนมากมายมาเยือนที่นี่ แต่ความคิดของพวกเขาทำให้คู่สนทนา มีแรงบันดาลใจได้อย่างเหลือล้น การลงมือสร้างสรรค์ผลงานของพวกเขาได้แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ เหมือนกับสโลแกนของพวกเขา “ริ + เริ่ม = ผล”

 

เรื่อง: กษมา
ภาพ: ธนกิตติ์