“สวนศิลป์” สวนที่ไม่มีรูปแบบตายตัว แต่สร้างขึ้นด้วยศิลปะ

วันนี้ผมจะพาไปชมสวนของบ้านหลังหนึ่งซึ่งดูเหมือนจำลองบ้านกลางป่า มาไว้ในเมืองเลยทีเดียว เมื่อขับรถเลี้ยวไปตามถนนในหมู่บ้านแถบชานเมืองแห่งหนึ่ง มองไกลๆจะเห็นบ้านหลังนี้โอบล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ สิ่งแรกที่สะดุดตาและทำให้ดูต่างจากบ้านทั่วไปก็คือ องค์ประกอบของบ้านเป็นสีเทาเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวบ้าน หลังคา สิ่งปลูกสร้างต่างๆ รั้ว รวมไปถึงพื้นโรยกรวดในสวน จนกลายเป็น ” สวนศิลป์ ”

garden-house-01-091

ไม่นานนักผมก็ได้พบ คุณมด – กิจจา ล่ามกิจจา สถาปนิกจากบริษัทิอาร์คิเน็ท จำกัด ซึ่งเป็นผู้ออกแบบบ้านหลังนี้ เขาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับบ้านสีเทาหลังนี้ให้ฟังว่า
“เดิมหมู่บ้านนี้มีแบบบ้านมาตรฐานและเจ้าของบ้านก็เลือกแบบไว้ก่อนหน้าแล้ว ตอนจะทำบ้านเราคุยกันว่าจะใช้โครงแบบบ้านเดิม แต่ขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นเป็นสองเท่า แต่เปลี่ยนฟังก์ชันต่างๆในบ้านใหม่ให้เหมาะกับการใช้งานที่เจ้าของบ้านต้องการ

garden-house-01-10

“เจ้าของบ้านชอบโทนสีเข้มๆเทาๆ เกือบทุกอย่างในบ้านจึงออกมาเป็นโทนสีอย่างที่เห็นครับ ตอนแรกก็มีบ้านหลังใหญ่ตรงกลางแค่หลังเดียว บังเอิญที่ดินแปลงติดกันยังว่างอยู่และมีจามจุรีต้นใหญ่ขึ้นในพื้นที่ เจ้าของบ้านเห็นแล้วชอบก็เลยขอซื้อเพิ่ม ต่อมาเห็นว่าพื้นที่สวนในบ้านมีน้อยเกินไป และเขาก็ชอบให้มีต้นไม้ใหญ่ๆในบ้าน จึงซื้อที่ดินที่ติดกันทางด้านหลังเพิ่มสำหรับจัดสวนโดยเฉพาะ และมีการขยายพื้นที่เพิ่มไปเรื่อยๆ พื้นที่ทั้งหมดเป็นรูปตัวแอล (L) รวมเนื้อที่ก็ประมาณ 2 ไร่ ใช้เวลาทำบ้านนานประมาณ 5 ปี จริงๆแล้วโครงบ้านแม้จะเป็นแบบมาตรฐานเดิมของทางหมู่บ้าน แต่เราก็ปรับเปลี่ยนใหม่เกือบทั้งหมด กลายเป็นสไตล์โมเดิร์นคอมเทมโพรารีที่ดูเรียบง่าย สวยงาม และทันสมัย

garden-house-01-051

“ในแบบเดิมหลังคาเป็นสีแดงเราก็เปลี่ยนใหม่เป็นหลังคาเซรามิกสีเทา เพื่อให้เข้ากับสีของตัวบ้าน ภายนอกตกแต่งด้วยหินเทียม พื้นเป็นแกรนิตโทนสีเทาเช่นกัน ภาพรวมของบ้านและสวนจะดูสงบนิ่ง ตามแบบที่เจ้าของบ้านต้องการ หน้าต่างประตูในบ้านเลือกใช้กระจกนิรภัยซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรง ทุบไม่แตก เพราะเจ้าของบ้านไม่อยากติดมุ้งและเหล็กดัด

garden-house-01-031

“สำหรับการจัดสวนผมขอให้ คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ ซึ่งเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมาช่วย ช่วงนั้นเขากำลังมีชื่อเสียง ได้รับหลายรางวัล ก็ยังกลัวว่าจะมาช่วยได้หรือเปล่า (หัวเราะ) แต่เขาก็มา สวนนี้ใช้เวลาเกือบ 3 ปีกว่าจะสมบูรณ์อย่างที่เห็น เราร่วมกันออกแบบมาตั้งแต่ต้น เพื่อให้ทั้งบ้านและสวนไปในแนวทางเดียวกัน ทำให้งานออกมาสมบูรณ์แบบที่สุดครับ”

garden-house-01-14

ความพิเศษของสวนแห่งนี้ที่ทำให้ดูต่างไปจากบ้านจัดสรรทั่วไปก็คือ การมีสวนด้านหลังบ้านซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางและปลูกต้นไม้ใหญ่หลากหลายชนิด ดูสงบร่มรื่นเหมือนเป็นป่าขนาดย่อมๆ งานนี้ได้คุณสุริยะจากบริษัทวอลลาเซีย จำกัด นักออกแบบจัดสวนมือหนึ่งที่คลุกคลีอยู่ในวงการจัดสวนมานานกว่า 16 ปี เจ้าของรางวัลเหรียญทองสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารประหยัดพลังงานและรักษาสภาพแวดล้อมอาคาร จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปีพ.ศ.2551 รางวัล AR Awards : Emerging Architecture Awards 2010 อีกทั้งยังได้รับเลือกเป็น New Trends of Architecture 2008-2010 /EU-Asia-Pacific Joint Project และอีกหลายรางวัลเป็นผู้ออกแบบ

“หลังได้พบและพูดคุยกับเจ้าของบ้าน ผมจับประเด็นได้ว่าค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่นิดหนึ่ง ชอบงานศิลปะ รักธรรมชาติ โดยเฉพาะไม้ไทยและไม้ดอกหอมจะชอบมากเป็นพิเศษ สวนที่ผมออกแบบก็จะดูสงบร่มรื่น ไม่เน้นเทรนด์ที่หวือหวามากนัก เลือกใช้ไม้ใหญ่เป็นหลัก มีไม้พุ่มและไม้ดอกบ้างในสัดส่วนที่เหมาะสม

garden-house-01-041
“สวนนี้ออกแบบให้ดูแลได้ง่าย จะเห็นว่าต้นไม้ที่ใช้ส่วนใหญ่ไม่ต้องบำรุงอะไรมากนัก มีบ้างบางช่วงในเทศกาลพิเศษอย่าง คริสมาสต์ก็จะนำไม้ดอกกระถางมาตั้งตามมุมสวนเพื่อช่วยเพิ่มสีสัน การจัดวางกลุ่มต้นไม้ในสวนก็ต้องดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ผมจะปลูกไม้ใหญ่ตามที่เจ้าของบ้านชอบ ซึ่งทำให้สวนค่อนข้างร่ม ปลูกหญ้าหรือไม้ระดับล่างอื่นๆก็คงไม่งามนัก เลยเลือกโรยกรวดแทน แล้วแทรกต้นไม้เล็กๆให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น

garden-house-01-071

“ผมชอบออกแบบสวนหลายแนวครับ เลือกให้เหมาะกับสถาปัตยกรรมของบ้านและความชอบของเจ้าของบ้านเป็นหลัก เน้นการใช้องค์ประกอบทางศิลปะค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องเส้นสาย สีสัน และแสงเงาที่ตกกระทบ ผมเป็นสถาปนิกมาก่อน จึงคิดว่าการออกแบบสวนก็เหมือนเป็นงานประติมากรรมชิ้นหนึ่ง เพียงแต่เปลี่ยนจากการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างมาเป็นต้นไม้แทน ข้อดีคือเราจะรู้ว่างานอาคารที่สถาปนิกออกแบบมาเป็นสไตล์ไหน และเราควรสานต่อด้วยสไตล์ไหน ควรมีฮาร์ดสเคปอะไรเพื่อให้สอดคล้องเชื่อมโยงกัน สวนนี้เราใช้เวลาค่อนข้างนานครับ มีการพูดคุยกับคุณมดตลอด โดยมี คุณแม้ว – มริสสา ล่ามกิจจา เป็นผู้คุมงานทั้งหมดอีกที ค่อยๆปรับกันจนทุกอย่างลงตัวอย่างที่เห็นครับ”

garden-house-01-11

คุณสุริยะยังเล่าอีกว่าหลักการออกแบบสวนของเขาเริ่มต้นจากการมองทัศนียภาพโดยรวม (Perspective) ของสวนก่อน
“ผมว่าการที่เรารู้จักต้นไม้และนำแต่ละต้นมาปลูกร่วมกันเป็นเรื่องสนุกมากนะ ครับ โดยเฉพาะถ้าคุณรู้จักและเขียนภาพเพอร์ สเป็คทีฟมาก่อน เวลาเรามองภาพรวมของสวน โฟร์กราวนด์ใช้ต้นไม้ใบใหญ่สีเข้ม มองไกลเป็นใบละเอียดสีอ่อน มองไกลออกไปอีกเป็นใบสีอ่อนที่โดนแสง แล้วมีแบล็กกราวนด์เป็นใบใหญ่สีเข้ม สวนก็จะดูมีมิติ เปรียบแล้วก็เหมือนกับการวาดรูปครับ องค์ประกอบศิลป์จึงเป็นเรื่องสำคัญในการออกแบบ

garden-house-01-081

“สวนนี้ผมเริ่มลงต้นไม้ใหญ่ตามที่เจ้าของบ้านชอบก่อนเป็นอันดับแรก ที่เหลือก็จะเป็นเรื่องของลักษณะทรงต้น ลักษณะใบ บางจุดก็เป็นทรงโปร่ง บางจุดก็เลือกทรงแผ่หน่อย เลือกตำแหน่งลงที่เหมาะสม พิจารณาเรื่องระบบรากด้วย ถ้าตำแหน่งไหนที่ต้องลงต้นไม้ใหญ่ใกล้บ้านก็เลือกที่มีระบบรากไม่น่ากลัว ไม่มีผลกับตัวอาคาร เนื่องจากพื้นที่ของสวนค่อนข้างกว้าง ผมจึงแบ่งให้มีระดับต่างกัน เพื่อให้ดูมีมิติมากขึ้น และยังช่วยแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน บางส่วนใช้แผ่นทางเดินเพื่อให้เดินชมสวนได้สะดวก บางส่วนเลือกโรยกรวดเม็ดละเอียดเพื่อให้อารมณ์ต่างออกไป บางส่วนก็เป็นก้อนหินหรือก้อนกรวดขนาดใหญ่ ดูหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยส่วนนั้นอาจเป็นส่วนที่ไม่ได้ใช้เดิน หรือถ้าจะเข้าไปเดินจริงก็อาจเดินยากนิดหน่อย ก็สนุกดีครับ

garden-house-01-16

“ผมใช้เวลาจัดสวนนี้นาน 2-3 ปีครับ ทำพร้อมกับการปลูกสร้างอาคาร เราอยากให้บ้านเสร็จพร้อมๆกับที่ต้นไม้โต ที่นี่มีคนสวนโดยเฉพาะ เราก็เทรนด์ให้เขารู้ว่าต้องดูแลอะไรอย่างไร นอกจากเป็นเรื่องใหญ่ๆ เราก็จะมาดูแลให้”
ตามที่คุณสุริยะเล่ามาว่าเขาชอบออกแบบสวนหลายๆแนว ในช่วงท้ายของการสนทนา ผมจึงถามเขาว่าแล้วสวนแห่งนี้จะเรียกว่าเป็นสวนสไตล์ไหนดี คุณสุริยะยิ้มนิดหนึ่งก่อนตอบว่า
“ผมก็ตอบยากเหมือนกันนะครับ จะว่าเป็นสวนป่าก็ไม่ใช่ สวนโมเดิร์นก็ไม่เชิง เอาเป็นว่า ผมขอเรียก ‘สวนศิลปะ’ แล้วกันนะครับ”

วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ชัยพฤกษ์ โพธิ์แดง