เปลี่ยนบ้านให้ใช้ได้กับคน ทุกวัย

คิดว่าหลายครอบครัวคงมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ร่วมกันในบ้าน และคงประสบปัญหาเรื่องการใช้งานที่อาจไม่สะดวกสำหรับท่านเหล่านี้ เช่น เดินขึ้นบันไดไม่ไหว เพราะปวดเข่า เดินสะดุดหรือลื่นล้มในห้องน้ำ ครั้นจะใช้อุปกรณ์ช่วยเดินหรือรถเข็นก็ลำบากอีก เพราะระดับพื้นห้องที่ไม่เท่ากัน วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือการปรับปรุงบ้านให้รองรับการใช้งานของสมาชิก ทุกคนในครอบครัว อย่างบ้านของผมเองก็เพิ่งผ่านการปรับปรุงครั้งใหญ่ไปเช่นกัน ใน “รู้ทีละนิด”ฉบับนี้ ผมขอหยิบเอาแนวคิด “อารยสถาปัตยกรรม” (Universal Design) ซึ่งเป็นการออกแบบเพื่อคน ทุกวัย ทั้งยังเอื้อต่อผู้สูงอายุและผู้พิการให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรจะรู้ไว้ เพื่อเป็นแนวทางให้คุณผู้อ่านได้เลือกนำไปใช้ปรับปรุงบ้านของคุณกันครับ

ทุกวัย

ประตู ความกว้างของประตูควรมากกว่า 90 เซนติเมตร และมีพื้นที่หน้าประตูไม่น้อยกว่า 1.50 x 1.50 เมตร ต้องเปิด-ปิดได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้แรงเยอะ ไม่ควรมีอุปกรณ์บังคับประตูให้ปิดเอง ลูกบิดประตูควรใช้ชนิดก้านโยกหรือแบบแกนผลัก ติดตั้งสูงจากพื้นประมาณ 1 – 1.20 เมตร ระหว่างพื้นห้องไม่ควรมีการเปลี่ยนระดับ ถ้ามีต้องมีลักษณะเป็นทางลาด ไม่ควรมีธรณีประตู

work2

ราวจับ ทำจากวัสดุที่มีลักษณะกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 – 4 เซนติเมตร มีผิวเรียบ ไม่ลื่น ติดตั้งสูงจากพื้น 80 – 90 เซนติเมตร และควรติดไว้ตามทางลาดหรือทางเดินที่ใช้งานบ่อย ส่วนราวกันตกหรือผนังกันตกต้องมีความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 110 เซนติเมตร

บันได ควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร ลูกตั้งของขั้นบันไดสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร ส่วนลูกนอนต้องลึกไม่น้อยกว่า 28 เซนติเมตร ต้องมีราวจับทั้งสองด้านของบันได มีชานพักบันไดทุกระยะตามแนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร ลูกตั้งไม่ควรเป็นช่องโล่ง ลูกนอนควรใช้วัสดุที่มีพื้นผิวไม่ลื่น มีจมูกบันไดที่มีสีแตกต่างจากสีของบันได เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน

work1

ห้องน้ำ มีพื้นที่ว่างภายในเพื่อให้รถเข็นหมุนตัวกลับได้ โดยควรมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร พื้นห้องน้ำเลือกใช้วัสดุที่ไม่ลื่น กันน้ำ ทำความสะอาดง่าย ประตูที่เหมาะสมควรเป็นบานเลื่อน สุขภัณฑ์ในห้องน้ำควรมีชุดราวจับ โถสุขภัณฑ์ควรใช้แบบ Flush Tank ชนิดมีปุ่มปล่อยน้ำด้านข้าง อ่างล้างมือควรสูงจากพื้นถึงขอบบนอ่าง 75-80 เซนติเมตร ประตูห้องน้ำควรใช้ลูกบิดที่ไม่มีรูกุญแจ แต่จะมีช่องตรง ๆ ที่ใช้เหรียญไขเข้าไปช่วยเหลือได้กรณีมีอุบัติเหตุในห้องน้ำ

work3

ทางลาด ถ้าทางลาดมีความยาวน้อยกว่า 6 เมตร ความกว้างควรมากกว่าหรือเท่ากับ 90 เซนติเมตร ถ้าทางลาดมีความยาวเกิน 6 เมตร ความกว้างควรมากกว่าหรือเท่ากับ 1.50 เมตร และต้องมีชานพักยาว       1.50 เมตรทุก 6 เมตร และต้องมีราวกันตก ความลาดชันที่แนะนำคือ 1 ต่อ 12 แต่หากพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยก็ใช้อัตราส่วนที่ต่ำกว่านั้นได้

ที่จอดรถ ควรออกแบบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความกว้างไม่น้อยกว่า 2.40 เมตร และยาวไม่น้อยกว่า 6 เมตร และต้องมีที่ว่างด้านข้างที่จอดรถกว้าง 1 เมตร เพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้สูงอายุและคนพิการขึ้น-ลงรถได้สะดวก

work4

 

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จากคู่มือการออกแบบสภาพแวดล้อมสำหรับคนพิการและคนทุกวัย ของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมันคงของมนุษย์ ซึ่งดาวน์โหลดได้ที่ http://dep.go.th/sites/default/files/files/services/NEP8_07.pdf ครับ

 

ข้อมูลเพิ่มเติม “จุดที่ควรระวังในบ้าน” อ่านได้ที่นี่ คลิกเลย!!

 

เรื่อง : “ณัฐภูมิ พงษ์เย็น”

ภาพประกอบ : OIC Studio