บ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี

“กาลเวลาได้นำพาทุกสิ่ง…” นั่นเป็นสิ่งที่ผมคิดขณะกำลังเดินทอดน่องไปพร้อมกับกล้องคู่ใจ เสพบรรยากาศของอาคารเก่าสองข้างทางที่ทอดยาวเคียงคู่ไปกับชีวิตริมแม่น้ำจันทบูร จากวันที่รุ่งเรืองจวบจนถึงปัจจุบันอาคารเหล่านี้ผ่านบทบาทและการดำเนินชีวิตของผู้คนมามากมาย ณ อาคารหลังหนึ่งที่ตั้งริมทางเดิน แสงไฟจากดวงโคมถูกจุดขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับเปิดม่านแสดงบทบาทใหม่ในฐานะ “บ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี”

จากความร่วมมือกันของชุมชนริมน้ำจันทบูร สำนักงานพาณิชย์จังหวัดจันทบุรี และสถาบันอาศรมศิลป์ ตลอดระยะเวลากว่าสี่ปี ชุมชนริมน้ำแห่งนี้ได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูผ่านแผนแม่บทการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ภายใต้วิสัยทัศน์วัฒนธรรมนำการค้า จนกลายเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวในวงกว้าง  ก่อนหน้านี้ก็ได้ปรับปรุง “บ้านขุนอนุสรณสมบัติ” ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมของชุมชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา บริษัทจันทบูรรักษ์ดี จำกัด ซึ่งเกิดจากการเปิดระดมทุนของชาวชุมชน ชาวจันทบุรี และบุคคลทั่วไปที่มีเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ปรับปรุงอาคารเก่า ได้เลือกปรับปรุงบ้านหลวงราชไมตรีเพื่อเป็นบ้านพักประวัติศาสตร์รองรับการท่องเที่ยวของชุมชน โดยรายได้บางส่วนจะนำไปดำเนินการพัฒนาชุมชนต่อไปในระยะยาว

บ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรีเดิมเป็นของหลวงราชไมตรี พ่อค้าและบุคคลสำคัญอันดับต้นๆของจังหวัดจันทบุรีและภาคตะวันออกในยุคสมัยนั้น ท่านเป็นผู้บุกเบิกการค้าขายและการปลูกยางพารา จนได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งยางพาราภาคตะวันออก ต่อมาจนถึงปัจจุบันบ้านพักหลังนี้ได้ตกเป็นของทายาท และได้ปรับปรุงให้กลายเป็นบ้านพัก โดยเก็บรักษาลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมรูปแบบเดิมไว้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่กรอบผนังด้านนอกไปจนถึงผนังปูนด้านใน นอกจากนี้พื้นที่ส่วนต้อนรับยังจัดเป็นโถงแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติและผลงานของหลวงราชไมตรี ผ่านภาพถ่าย เอกสารสำคัญ และข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน ช่วยให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้และซึมซับบรรยากาศได้มากยิ่งขึ้น เหมือนมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์และสถานที่พักผ่อนในที่เดียวกัน ล่าสุดองค์การยูเนสโกก็เพิ่งประกาศให้ที่นี่ได้รับรางวัลดี (Award of Merit) จากการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2558

ผมเดินสำรวจนิทรรศการด้านล่างอยู่นาน ตั้งแต่โถงด้านหน้าไปจนถึงชานริมน้ำด้านหลังซึ่งเผยให้เห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำจันทบูรที่เคยเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญของภาคตะวันออก ฝั่งตรงข้ามมีต้นไม้ใหญ่และไม้ริมน้ำขึ้นหนาแน่นดูเย็นตา

สำหรับห้องพักแบ่งเป็น 12 ห้อง กระจายอยู่ตามส่วนต่างๆของบ้าน ภายใต้การตกแต่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกันเลย แต่ละห้องจะบอกเล่าเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับประวัติของบ้าน เช่น ห้องนักเรียนชาย ห้องครัวนายแม่ ห้องอีสต์เอเชียติ๊ก หรือห้องลูกยาง แม้ว่าห้องเหล่านั้นจะเปลี่ยนการใช้งานไปเป็นห้องพัก แต่ก็ยังมีภาพถ่ายหรือเอกสารที่ทำให้เราทราบถึงที่มาของชื่อห้องพักได้

ผมเดินออกมายังระเบียงบ้าน ทอดสายตามองดูผู้คนที่สัญจรไปมาและใช้ชีวิตทำมาหากิน ตลอดช่วงถนนที่มีฉากหลังเป็นอาคารเก่าดูสวยงามแปลกตา ในครั้งหนึ่งคงมีบุคคลในอดีตผ่านไปผ่านมาหรือมาชมภาพชีวิตอยู่ตรงนี้เหมือนผมเช่นกัน บางครั้งการมองดูอาคารเก่าเหล่านี้ก็ไม่ได้นำเสนอเพียงความเสื่อมของวัตถุที่พร้อมจะเลือนหายไปตามกาลเวลาเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำเสนอชีวิตของทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตที่ยังคงแสดงบทบาทที่อาจเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ ภายใต้มหรสพแสนงดงามนามว่า “วิถีชีวิต” บ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรียังคงวาดลวดลายการแสดงของตนไปกับชีวิตของผู้คนและอาคารเก่าในละแวกนี้ได้อย่างน่าชม เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และความรักยังคงวนเวียนไปตามวิถีอย่างไม่รู้จบเช่นเดียวกับในวันวาน

บ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี 252 ย่านท่าหลวง ชุมชนริมน้ำจันทบูร ถนนสุขาภิบาล ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองฯ จังหวัดจันทบุรี

โทรศัพท์ 08-8843-4516, 0-3932-2037

www.baanluangrajamaitri.com