บ้านของสถาปนิก

บ้านกล่องสีดำของนักออกแบบ บนที่ดินสี่เหลี่ยมคางหมูขนาด 18 ตารางวา

บ้านของสถาปนิก
บ้านของสถาปนิก

บ้านที่ออกแบบให้ตรงกับฟังก์ชันการใช้งานที่จำเป็น เเละใช้งานอยู่บ่อย ๆ จะทำให้บ้านหลังนั้น ๆ มีชีวิตชีวาขึ้นมาอย่างเเท้จริง เช่นเดียวกับบ้านของนักออกแบบหลังนี้ ที่หลอมรวมทุกความต้องการเเละความชื่นชอบ เพื่อให้ที่นี่เป็นทั้งที่พักอาศัยเเละพื้นที่ทำงาน ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นห้องทดลองการออกแบบ สามารถนำเทคนิคเเละไอเดียไปต่อยอดสู่งานของลูกค้าได้ในอนาคต 

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: PAA

บนที่ดินขนาดแค่ 18 ตารางวา ในซอยสุขุมวิท 67 นี้เป็นที่ตั้งของ บ้านสีดำหลังเล็ก ที่ได้รับการออกแบบโดย คุณหนึ่ง – ภานุพล ศีลแดนจันทร์ แห่ง PAA ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของแและผู้ออกแบบสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นด้วยตนเอง เพื่อเป็นบทพิสูจน์ในเรื่องของวัสดุ สี สเปซ และความเข้าใจในภาพรวมของงานออกแบบ ที่ต้องการให้ลูกค้าได้เห็นของจริงมากกว่าการตั้งคำถามจากการเห็นเพียงแปลนและภาพสามมิติ นอกจากนี้ก็ยังเป็นที่พักอาศัยส่วนตัวที่เขาได้ทดลองทำอาหารและขนมปังที่ชื่นชอบ

“อยากจะโชว์ให้ดูว่าการออกแบบในพื้นที่ขนาดเล็ก การออกแบบด้วยวัสดุที่มีความดิบ แต่ทำอย่างไรให้วัสดุเหล่านี้ดูเนี้ยบด้วย บางทีเวลาเราออกแบบไปลูกค้าก็จะมีคำถามเรื่องเหล่านี้บ่อยๆ พื้นที่ขนาดนี้จะพอเหรอ เล็กไปไหม ใหญ่ไปไหม วัสดุแบบนี้ดูราคาถูกไปไหม รวมถึงเรื่องของสี ลูกค้าจะเข้าใจว่าสีเข้มเป็นสีที่ทึบ ทำให้บ้านดูอึดอัด ทำให้บ้านดูแคบ ที่นี่ก็เลยจะทำอะไรให้สุดโต่งไปอีกด้านหนึ่งเลย” คุณหนึ่งอธิบายถึงพื้นฐานความคิดแรกเริ่มในการสร้างบ้านหลังนี้

บริเวณด้านหน้าบ้าน ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ว่างติดกับอาคารด้านขวา อีกด้านเป็นมุมถนนเกือบจะสุดซอย หน้าบ้านหันไปทางทิศใต้ คุณหนึ่งจึงออกแบบชั้นสองให้มีต้นไม้ช่วยสร้างร่มเงากันแดดและมีฟาซาดระแนงขึ้นไปด้านบน
ประตูทางเข้าของบ้านมีองค์ประกอบเรียบง่าย แต่ใช้เส้นสายของแผ่นไม้ช่วยสร้างเส้นนำสายตา ใช้สีดำช่วยให้บ้านดูลึก ปลายทางเป็นวิวสวนสีเขียวที่ทำให้พื้นที่ดูไม่อึดอัด
พื้นที่ของชั้นล่างเป็นครัวขนาดใหญ่พร้อมบาร์สไตล์ Chef Table ซึ่งมาจากความชื่นชอบในการทำอาหารของคุณหนึ่ง แก้ปัญหาเรื่องความแคบด้วยกระจกในรูปแบบต่างๆ

ด้วยความที่คุณหนึ่งเข้าใจเรื่องการใช้สอยและการมีปฏิสัมพันธ์ของคนต่อพื้นที่จริง ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้มามีความน่าประทับใจมาก ซึ่งมีองค์ประกอบหลายประการ อาทิ การนำแสงสว่างเข้ามาสู่ตัวบ้านผ่านช่องเปิดต่างๆ ให้เสมือนเป็นกล่องที่เปิดหัวท้าย แม้ภายในตัวบ้านจะมีความกว้างเพียง 3.50 เมตร (ที่ดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู หน้าบ้านกว้าง 4 เมตร ด้านหลังบ้านกว้าง 5 เมตร) และการดึงบรรยากาศภายนอกเข้ามาในบ้านได้อย่างลงตัว เพราะมีความเข้าใจในเรื่องทิศทางแสงและลมเป็นอย่างดี

คุณหนึ่ง ผู้ออกแบบและเจ้าของบ้าน ขณะกำลังทำขนมปังเพื่อรับประทานเอง ซึ่งต้องอาศัยความใส่ใจในรายละเอียดเป็นอย่างมาก

เพิ่มสเปซทางความรู้สึกด้วยช่องเปิดในจังหวะที่พอเหมาะพอดี อย่างการเจาะช่องกระจกตรงเคาน์เตอร์ครัวและปลูกต้นไม้ไว้ริมรั้วให้พอดีกัน ทำให้บ้านดูโปร่งขึ้นพร้อมรับวิวสวย

เรื่องเลย์เอ๊าต์ เน้นการจัดวางพื้นที่ใช้งานแบบตรงไปตรงมา ซึ่งผ่านการคิดมาให้ตอบสนองการใช้ชีวิต เลย์เอ๊าต์ที่เรียบง่ายทำให้คนเข้าใจการใช้สอยได้ง่าย เสริมด้วยการใช้วัสดุที่ทำให้บ้านดูกว้างขึ้น

เรื่องสี คุณหนึ่งเลือกใช้สีดำเป็นหลักก็จริง แต่กลับไม่รู้สึกอึดอัด เพราะขึ้นอยู่กับว่าสีดำนั้นเป็นวัสดุอะไร คุณหนึ่งใช้กระจกลามิเนตสีดำ โดยมีเหตุผลในเรื่องของการทำให้เกิดการสะท้อน เพราะหากไม่นับกระจกเงาแล้ว กระจกสีดำก็ถือว่าเป็นกระจกที่สะท้อนได้ชัดที่สุด รวมไปถึงการใช้กระจกจะทำให้เสียพื้นที่น้อย หากมีการก่อผนังจะต้องเสียพื้นที่ (ความหนา) ไปถึง 10 เซนติเมตร และยังทำให้เกิดความรู้สึกหนาหนักด้วย ดังนั้นการใช้กระจกจึงช่วยให้เกิดความรู้สึกเบา แม้จะเป็นทางเดินที่กว้างเพียง 1 เมตร ก็ดูไม่อึดอัดนัก

หน้าต่างขนาดใหญ่บริเวณหลังบ้าน ทำราวกันตกเป็นเส้นสายของระเบียง เพื่อสร้างความรู้สึกกว้างให้ช่องเปิดนี้
ด้านหลังบ้านปลูกต้นไม้ใหญ่สร้างความร่มรื่นไว้เช่นกัน เราจะเห็นโครงสร้างเหล็กอย่างชัดเจน เพื่อให้อาคารทั้งก้อนดูเบา และยังช่วยประหยัดพื้นที่ภายในด้วย
ชั้นสองของบ้านใช้เป็นห้องประชุมงานเวลาที่ทีมงานมาคุยงาน จัดวางโต๊ะยาวทำจากไม้สนของประเทศลาวในตระกูลเดียวกับไม้หอมฮิโนกิของญี่ปุ่น พื้นที่ตรงนี้ใช้กระจกดำช่วยในการสะท้อนสร้างมิติตามแนวยาวตลอดห้อง

การทำเพดานให้มีความสูงกว่าปกติยังช่วยให้บ้านดูโปร่งด้วย แต่ระยะความสูงของเพดานก็มีผลต่อความยาวของบันได เพื่อให้ได้บันไดที่ใช้งานได้อย่างสบาย การออกแบบจึงไม่ยอมลดความกว้างของลูกนอนบันได ยังคงยึดความกว้างไว้ที่ 30 เซนติเมตร แต่จำกัดความแคบของทางเดินไว้ที่ 80 เซนติเมตร ทำให้ชั้น 1 และ 3 มีความสูงของเพดานที่ 2.80 เมตร ชั้น 2 สูง 3 เมตร ส่วนชั้นบนสุดมีความสูง 4.50 เมตร

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ช่วยให้บ้านหลังนี้ดูกว้าง อบอุ่น และน่าอยู่อาศัย อาทิ การใช้ไม้จริง การสร้างวิวสวนบนชั้นสองด้วยการปลูกต้นไม้ใหญ่ บันไดที่เลือกแบบไม่มีลูกตั้ง เพื่อให้ลมไหลเวียนจากช่องเปิดชั้น 4 ลงมา รวมไปถึงม่านและฟาซาดที่ออกแบบได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้การใช้พื้นที่เล็กๆ เกิดผลตามที่ตั้งใจไว้

ห้องนั่งเล่นบริเวณชั้น 2 อยู่สุดปลายด้านหลังบ้านที่ปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้
ห้องทำงานของคุณหนึ่ง ตั้งอยู่บริเวณหลังบ้านทางทิศเหนือที่ไม่ร้อนนัก

 “บางทีขนาดของห้องที่กำหนดบนกระดาษแปลนก็อาจบอกอะไรไม่ได้ เพราะประสบการณ์ของคนที่ใช้งานในแต่ละสเปซก็ไม่เหมือนกัน นอกจากการได้มาลองสัมผัสสเปซนั้นๆจริงๆ”

อีกจุดหนึ่งที่โดดเด่นของบ้านหลังนี้คือครัวชั้นล่างสุด เพราะสิ่งแรกที่คอยต้อนรับแขกผู้มาเยือนไม่ใช่พื้นที่นั่งเล่นหรือโซฟาแบบห้องรับแขก แต่เป็นครัวและพื้นที่ปรุงอาหารขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ การออกแบบในส่วนนี้ก็มาจากไลฟ์สไตล์ของคุณหนึ่งที่ชื่นชอบการทำอาหาร พื้นที่ในส่วนนี้จึงออกแบบมาให้มีอารมณ์แบบ Chef Table ที่แขกผู้มาเยือนสามารถเข้ามานั่งเคาน์เตอร์สังสรรค์กับเจ้าของบ้านได้ ช่วงนี้คุณหนึ่งกำลังทดลองทำขนมปังอิตาลีอย่าง Ciabatta ซึ่งถือเป็นขนมปังที่แม้มีส่วนผสมไม่มาก แต่ต้องใช้ความพิถีพิถันในการทำให้อร่อยแบบกรอบนอกนุ่มใน

“เราเกิดมาในครอบครัวแต้จิ๋ว สังเกตว่าในยุคของอาม่า อาหารหลายๆ อย่างเราทำเอง ทำเองในที่นี้หมายถึง ทำเต้าหู้ก็โม่แป้งเอง ทำบะหมี่ก็โม่แป้งเอง ที่บ้านจะมีเครื่องโม่แป้ง ซึ่งเราถือว่าเป็นเครื่องมือหลักของคนแต้จิ๋วที่จะต้องมีทุกบ้าน” ดังนั้นความตั้งใจต่อไปของคุณหนึ่งคือการทำเส้นบะหมี่เอง

การออกแบบชุดครัวเลือกใช้หน้าบานอะลูมิเนียมสำเร็จรูปของ IKEA แต่คุณหนึ่งได้ศึกษาสัดส่วนของชุดครัวราคาแพงอย่างละเอียด เพื่อนำมาปรับให้เหมาะกับโมดูลาร์หน้าบาน ทำให้ชุดครัวเรียบเท่นี้ดูดีและหรูหราเป็นอย่างมาก นับเป็นลูกเล่นที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อลดงบประมาณ โดยยังคงความสวยงามในแบบที่ต้องการ

ห้องนอนบนชั้น 4 วางเฟอร์นิจอร์ลอยตัวง่ายๆ เจ้าของบ้านมีที่พักเป็นคอนโดอีกแห่งในกรุงเทพฯ และมีที่พักอีกแห่งคือโรงแรมอินจันทรี ดูภู จังหวัดกาญจนบุรี

ไม้สนลาวที่นำมาใช้ป็นวัสดุทำพื้น ผนัง และเพดานตามจุดต่างๆ ของบ้าน แต่มีการเลือกฟินิชชิ่งของผิวที่แตกต่างกันไป สลับกับงานเหล็ก งานกระจก และสีเข้มในโทนดำ

พื้นที่ชั้นสองเป็นห้องประชุมที่ได้รับวิวจากต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกบนโครงสร้างหลังคาโรงรถชั้นสอง มีโต๊ะไม้จริงขนาดใหญ่จัดวางในแปลนที่เรียบง่าย บางครั้งก็ใช้คุยงานกับน้องๆ ที่บริษัทออกแบบของคุณหนึ่งเอง เวลาที่ให้ทีมงานมาหาที่บ้านนี้ ชั้น 3 ส่วนหนึ่งเป็นห้องทำงานส่วนตัวที่เรียบง่าย ชั้น 4 มีช่องแสงลงมาจากดาดฟ้าซึ่งปลูกไม้กระถางที่วางในจุดที่สร้างวิวให้แก่บ้าน เมื่อเปิดประตูบนดาดฟ้าและประตูด้านหน้าบ้านก็จะเกิดการไหลเวียนอากาศที่ดีในบ้าน ผ่านช่องบันไดที่โปร่งไม่มีลูกตั้งของขั้นบันได งานระบบต่างๆก็ร้อยท่ออยู่ภายนอกอาคาร และมีการสร้างแผงไม้เป็นผนังชั้นที่สองกั้นแสงแดดและความร้อนให้บริเวณห้องนอนชั้น 4

หลังจากใช้เวลาสำรวจพื้นที่ต่างๆ ของบ้านแล้ว เราเห็นความปรารถนาอันแรงกล้าทั้งสองด้านของเจ้าของบ้าน ซึ่งสร้างมันขึ้นมาด้วยแนวคิดการออกแบบที่ต้องการท้าทายข้อจำกัด ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือความชื่นชอบในการทำอาหารแบบใส่ใจในรายละเอียด ซึ่งต่างก็เป็นความหลงใหลที่ถ่ายทอดออกมาในทุกตารางเมตรของบ้านหลังนี้อย่างแท้จริง ผ่านองค์ประกอบต่างๆ และประสบการณ์การทำงานออกแบบมาทั้งชีวิตของผู้ชายคนนี้


เรื่อง : สมัชชา วิราพร
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

หนังสือแบบบ้าน
หนังสือ HOUSE PLANS แบบบ้านอยู่สบายในเขตเมือง


เรื่องที่น่าสนใจ