เมื่อภาพถ่ายเปลี่ยนชีวิตพิชัย แก้ววิชิต วินมอไซค์แห่งราชเทวี

เมื่อภาพถ่ายเปลี่ยนชีวิตพิชัย แก้ววิชิต วินมอไซค์แห่งราชเทวี

เมื่อภาพถ่ายเปลี่ยนชีวิตพิชัย แก้ววิชิต วินมอไซค์แห่งราชเทวี
เมื่อภาพถ่ายเปลี่ยนชีวิตพิชัย แก้ววิชิต วินมอไซค์แห่งราชเทวี

ระหว่างที่เขาใช้ชีวิตตามกิจวัตรประจำวัน ตื่นนอนมาเข้าห้องน้ำ ก่อนจะออกไปสวมเสื้อวินขี่มอไซต์คันเก่งสู้ชีวิตบนท้องถนน จากนั้นเขาก็พบว่าทันทีที่ the cloud เผยแพร่บทสัมภาษณ์แรกในชีวิตของเขาออกไปบนสื่อสังคมออนไลน์ ทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“10 โมง 13 นาที ชีวิตของผมเปลี่ยนไป” เขาเล่าถึงเหตุการณ์ที่ตกใจกับสิ่งที่เห็นในมือถือ หลังจากตื่นมาเข้าห้องน้ำในเช้าวันที่ 7 มีนาคม 2562

เปลี่ยนไปในความหมายของพี่เอก หรือคุณพิชัย แก้ววิชิต หนุ่มใหญ่วัย 43 ปี วินมอไซค์แห่งราชเทวีที่มีมุมมองการถ่ายรูปน่าสนใจแถมสวยไม่แพ้ช่างภาพวิชาชีพ และกำลังมีนิทรรศการครั้งแรกในชีวิตขณะนี้ หมายถึงคือหนึ่งวันก่อนนิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019 จะเริ่มขึ้น อินสตาแกรมแอ็คเคานต์ @phichaikeawvichit ของเขามียอดฟอลโลวเพิ่มขึ้นจากหลักพันเป็นหลักหมื่นในช่วงเวลาข้ามคืน

“มันเด้งตลอดเวลา” เขาบอก แม้กระทั่งตอนที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่นี้ เรายังเหลือบไปเห็นหน้าจอที่มีทั้งคนที่มากดไลค์ คอมเม้นต์รูปภาพ และกดติดตามเพิ่มขึ้นอย่างไม่ขาดสาย

ภาพถ่ายตึกรามบ้านช่องที่มีคำว่า “ตีฟ” อันเป็นศัพท์ที่รู้กันตามประสาช่างภาพเต็ก (สถาปัตยกรรม) ตรงเป๊ะแทบทุกภาพแถมองค์ประกอบโดยรวมยังสวยงามราวกับเจ้าของภาพถ่ายเหล่านี้เรียนจบวิชาถ่ายภาพมาโดยตรง แต่เปล่าเลย ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอของพี่เอกทั้งนั้น

ในวันที่เรามาถึง Craftsman x บ้านอาจารย์ฝรั่ง ก่อนเวลานัดเล็กน้อยเพื่อใช้เวลาช่วงคอยศิลปินทุกคนมากันพร้อมหน้า เดินชมผลงานที่แขวนประดับอยู่ภายในแกลเลอรีซึ่งแบ่งออกเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ 2 ห้อง และห้องขนาดเล็กอีก 1 ห้อง ไปพราง ๆ โดยให้หลังจากนั้นไม่นานศิลปินคนแรกก็มาถึง และนั่งคุยกับเราในวันนี้

เขาคือวินมอไซค์หัวใจช่างภาพ ที่อาจทำให้วินราชเทวีต้องลุกเป็นไฟในความร้อนแรงที่เขาบอกว่า “เขาไม่ได้ดัง เขาเหมือนเดิม มันเป็นแค่กระแสต่างหาก”

เมื่อภาพถ่ายเปลี่ยนชีวิตพิชัย แก้ววิชิต วินมอไซค์แห่งราชเทวี

ที่พี่บอกว่าชีวิตเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปที่ว่านี้มันดีไหม หรือแบบเดิมมันก็ดีอยู่แล้ว

“จริงๆ พี่ว่ามันเป็นการเรียนรู้นะ พี่ไม่คิดว่าพี่ดังนะ แต่กระแสมันดังเอง พี่ก็คงเหมือนเดิมแหละ ก็คงถ่ายรูป เรียนรู้การถ่ายรูปเพิ่มขึ้น พี่คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้เป็นจุดเริ่มต้น มันไม่ใช่การขึ้นรับรางวัล แต่เป็นจุดเริ่มต้นของกำลังใจที่เราจะต้องก้าวไป เรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มันเป็นจุดเริ่มต้นทางความคิดของคนในสังคมได้นะ บางทีเราคิดว่าเราทำงานเหนื่อย ๆ เครียด ศิลปะช่วยได้เยอะเลย ศิลปะมันคือจิตวิญญาณ ถ้าเรามีชีวิตแต่เราปฏิเสธศิลปะ เราจะค่อย ๆ เฉาตายลงเรื่อย ๆ”

“เหมือนกับคนที่ชอบกินเหล้าแล้วชอบร้องเพลง มันคือการได้ปลดปล่อยนะ แต่เราไปมองภาพสามัญสำนึกที่เรารู้ว่าพวกขี้เหล้าร้องเพลง แต่จริง ๆ แล้วคือความเป็นศิลปินที่เขาแสดงออกมา หรือจะเป็นการเคาะแก้ว เคาะขวด นั่นก็คือการแสดงออกทางศิลปะเหมือนกัน มันไม่ได้มีเงื่อนไข แต่ถ้าเราจะร้องเพลงสักเพลงแล้วเราไปนึกถึงเงื่อนไข ร้องเพลงแล้วเราต้องได้รางวัลนะ มันกลายเป็นว่าการร้องเพลงหรืองานศิลปะมันกลายเป็นสิ่งที่มีเงื่อนไข มันเป็นกำแพงที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งอยู่คนละโลกกับศิลปะ”

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019

พลังที่สื่อสารออกไปผ่านรูปถ่ายทั้ง 121 ภาพในอินสตาแกรมของคุณตอนนี้

“พี่คิดว่าจริง ๆ แล้วถ้าศิลปะมีพลังมากกว่านี้ เข้าถึงคนมากกว่านี้ สังคมเราจะน่าอยู่ เพราะความงามอยู่รอบ ๆ ตัวเรานี่แหละ ถ้าเดินไปไม่คิดไรมาก บ่น ๆ รถแม่งติดว่ะ ควันเหม็นว่ะ แต่รูปที่พี่ถ่ายมันก็อยู่ท่ามกลางกรุงเทพฯ ที่รถติด ร้อนก็ร้อนนั่นแหละ”

“รู้ไหมจริง ๆ พี่เป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง บวกกับเป็นคนที่ชอบคิดต่าง แต่คนที่คิดต่างแล้วไม่มั่นใจในตัวเองนี่แย่มากนะ แต่ก่อนพี่เป็นคนที่ใช้ความคิดเยอะมาก ซึ่งมันผิด หลัง ๆ พี่ก็ทำมาหากินไปเรื่อย ๆ วิ่งรถเลี้ยงครอบครัวไปก็เริ่มรู้สึกว่าชีวิตมันแค่นี้เหรอวะ ในเมื่อศิลปะมันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ทำไมเราไม่สนใจมันล่ะ พี่ก็ลองถ่ายภาพ แรก ๆ มุมมองในการถ่ายภาพมันก็ไม่ค่อยเอาไหน เราก็คิดว่ามันต้องมีกล้อง มีเลนส์ และก็ต้องเดินทางไปในที่ต่าง ๆ สินั่นถึงจะเรียกว่าเป็นช่างภาพ แต่พี่ไม่มีจะกินแบบนี้มันไม่มีทาง มันห่างไกลกันมาก มันมีเงื่อนไข อุปกรณ์อะไรเยอะแยะไปหมด ซึ่งตอนนั้นเขาเป็นกันอย่างนั้นจริง ๆ ในวงการถ่ายภาพ ยิ่งถ้าคนไม่ได้เรียนมาทางด้านศิลปะนี่จบเลย พี่ก็เลยทิ้งไป”

จนมาถึงการลงรูปวัดรุณฯ รูปแรกที่พี่ลงในอินสตราแกรม มุมมอง ณ ตอนนั้นเป็นอย่างไร

“พี่คิดว่าถ้าเราไปวัด เราจะไม่ถ่ายวัดจ๋าเลย มันจะมีคนที่ไปวัดแล้วถ่ายวัดจ๋า ซึ่งไม่ได้ผิด แต่ไอเดียของรูปนี้ (ชมได้ที่นี่ รูปแรกในไอจี) มันไม่ใช่วัดจ๋า มันมีเส้นบันได คน และเงา

มีวิธีคิดหรือจัดคอมโพสต์อย่างไร

“ตอนนั้นก็แค่นั่งกับพื้นแล้วหยิบกล้องมาถ่าย ไม่ได้คิดอะไร เพราะจะกลับบ้านแล้ว พอดีเห็นน้องคนนั้นยืนอยู่ แล้วฉากหลังมันเป็นวัดอรุณฯ ในมุมที่เราไม่เคยเห็น”

กับบางคนที่อาจไม่เข้าใจหรือรู้วิธีการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม ภาพที่ได้มักจะเบี้ยว ในความหมายของช่างภาพสถาปัตย์คือตีฟล้ม แต่ภาพของพี่ตีฟตรงเป๊ะทุกรูป ศึกษาเทคนิคพวกนี้จากที่ไหน

“บางทีมันก็เบี้ยว พี่ก็จัดให้ตรง คร็อปมุมไม่น่าสนใจออก พี่มองว่าพวกนี้อยู่ที่จังหวะของมัน พี่มองว่าสวยดีพี่ก็ถ่าย แรก ๆ พี่ถ่ายแบบยังไม่รู้คาแร็กเตอร์ตัวเอง ก็จะถ่ายเงาสะท้อนบ้าง เป็นเส้นบ้าง แบบไหนเราชอบเราก็ถ่ายไป พักหลัง ๆ พอถ่ายไปเรื่อย ๆ เราเรียนรู้ทุกวัน ๆ คาแร็กเตอร์มันเริ่มมา เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เน้นสีสัน ปรับความคมเข้ม ถ้าบางทีมันมืดไปพี่ก็ปรับให้มันสว่าง”

พิชัย แก้ววิชิต วินมอไซค์ราชเทวี

หลังจากบทสัมภาษณ์ออกสื่อครั้งแรกในชีวิตถูกเผยแพร่และแชร์ออกไป เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งเราจะกลายมาเป็นคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนในสังคมอีกมากมายอย่างตอนนี้

“พี่แค่อยากให้คนเห็นว่า สิ่งที่คนไม่เห็นคุณค่าของมัน อยากให้กลับไปมองมันให้ลึกซึ้งมากขึ้น มองด้วยหัวใจว่ามันมีความงามอยู่ในนั้น ขนาดพี่มองสิ่งแบบนี้ในแง่ดีมันยังส่งผลดีให้กับตัวเราเลย ถ้าเรามองมนุษย์ด้วยกัน มองกันในแง่ดีมากขึ้น พี่ว่ามันต้องเกิดสิ่งที่สวยงามมากกว่านี้ มันเป็นเรื่องของมุมมอง ไม่ว่าเราจะมองภาพ มองคน มันมีผลกับชีวิตเราจริง ๆ”

เทียบกับชีวิตที่ต้องอยู่บนท้องถนนหลาย ๆ ชั่วโมง

“พอพี่อายุมากขึ้น พี่เริ่มรู้สึกว่า นี่รถมันเยอะขึ้นเปล่าวะ แล้วก็ขับแย่ขึ้น”

ตั้งแต่ขับวินมาพี่เคยล้มหรือไปเฉี่ยวชนใครบ้างไหม

“แบบหนัก ๆ ไม่มี แต่มีไปชนท้ายบ้าง”

การถ่ายภาพจึงช่วยเยียวยาใช่ไหม

“สิ่งพวกนี้มันทำให้พี่อยู่ได้ ทำให้พี่มีโลกของพี่ ช่วงเช้า ๆ เก้าโมงสิบโมง ช่วงที่คนไม่ค่อยเยอะต้องหาอะไรทำ ไม่งั้นเราจะแย่”

พี่ไปถ่ายรูปทั่วกรุงเทพฯ  

“ไปทั่ว แต่ถ้าตึกพี่ถ่ายจริง ๆ จะอยู่แถวสีลม สุขุมวิท แถวสำเพ็ง เพราะเราไปถ่ายแล้วสามารถกลับมาวิ่งรถได้อีก”

เคยขับไปไกลที่สุดคือที่ไหน สมมติมีคนเรียกพี่ไปลาดกระบังพี่ก็ไม่ปฏิเสธลูกค้าใช่ไหม

“ไปๆ โซนรังสิตพี่ก็ไป”

พิชัย แก้ววิชิต วินมอไซค์ราชเทวี

รูปท่อระบายน้ำนั้นคือที่ไหนครับ

“คลองหลอดครับ คลองหลอดเราสวยงามเหมือนกันนะ ถ้ารู้จักมอง”

พิชัย แก้ววิชิต วินมอไซค์ราชเทวี

ความสุขของการถ่ายภาพคืออะไร

“ความสุขแบบไม่มีเงื่อนไข พี่อยากให้คนมีความสุขแบบไม่มีเงื่อนไข บางทีถ้าเราจะมีความสุขกับอะไรสักอย่างสมัยนี้เงื่อนไขเยอะมากจนหาความสุขไม่เจอ แบบนี้ง่าย ๆ มีกล้องตัวหนึ่ง ก็เดินไป แต่เวลาพี่ถ่ายรูป พี่ก็ไม่ได้วางแผนนะว่าพี่จะต้องได้รูปแบบนี้ ๆ พี่เดินสุ่มๆ ไปเรื่อย พี่จะไม่ใช้ความคิด เพราะว่าการที่เราใช้ความคิดมันจะเป็นอดีต เพราะทุก ๆ ความคิดมันคืออดีต ในขณะเดียวกันเราใช้อดีตวางแผนนั่นคือเราสร้างอนาคต ทั้ง ๆ ที่มันยังไม่ถึง ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันได้ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรมันจะสร้างสรรค์ อย่าเอาอดีตมาใช้ เพราะการเรียนรู้จริง ๆ  มาจากปัจจุบัน มันใช้ได้กับทุกอาชีพจริง ๆ”

อาชีพแบบพี่วางแผนยากเหมือนกันนะ เพราะวันหนึ่งเราก็ไม่รู้ล่วงหน้าว่าลูกค้าจะเรียกไปไหนบ้าง

“…….เขายิ้ม”

ศิลปะในความหมายของพี่เป็นแบบไหน

“ศิลปะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกในการแสดงออกบางสิ่งบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง การวาดรูป การปั้น การประดิษฐ์ประดอยอะไรก็ตาม ให้มันอยู่ในสภาวะที่จดจ่อหรือเรียกว่าสมาธิกับสิ่งนั้น ๆ ที่เขาทำแล้วเขารู้สึกว่าอยากเรียนรู้กับมันโดยที่ไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย เขาอยากที่จะแสดงออกอย่างเต็มที่ ศิลปะก็ไม่ควรมีกำแพง ไม่ควรมีกฏ และศิลปะทำให้ตัวผมเองได้ตระหนักว่า เราทำอะไร เราชอบอะไร เราเห็นอะไร เราต้องโฟกัสที่เราเอง จริง ๆ แล้วการค้นหาตัวเองมันไม่ยากหรอก ถ้าเราย้อนกลับไปเป็นเด็กอีกทีเราจะรู้ว่าเราเป็นใคร แต่ตอนพี่เป็นเด็ก ตอนที่ครอบครัวพี่มีปัญหา พี่ก็จะมีโลกของพี่ จินตนาการไปเรื่อย พี่ก็ต้องหาเวลาอยู่ในโลกของพี่เหมือนกัน”

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019

ศิลปะมีความหมายต่อการใช้ชีวิตของพี่อย่างไร

“ศิลปะช่วยพี่ได้เยอะ ถ้าเราเอาศิลปะมาเชื่อมโยงกับมนุษย์โดยไม่รู้สึกแตกแยกว่าไอ้เนี่ยต้องเรียนมาถึงทำได้ คนบางคนไม่สามารถดันตัวเองออกมาได้ก็จมลง พี่ว่าคนเราทุกคนมันมีความอัจฉริยะ มีจิตวิญญาณ อย่างลายนิ้วมือเรายังไม่เหมือนกันเลย แล้วจิตวิญญาณมันจะซ้ำกันได้ยังไง”

ถึงตอนนี้ยังกลัวอยู่ไหม ที่บอกว่าพี่คิดต่างแต่ไม่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองคิดว่ามันดี

“ตอนนี้ไม่กลัวแล้ว มันมีกำลังใจ มันเหมือนปลดปล่อยจากสิ่งที่กลัวตอนแรก พี่หมดความกลัวตั้งแต่ภาพแรกที่พี่เริ่มลงในอินสตาแกรมแล้ว พอพี่ก้าวข้ามตรงนั้น พี่ก็เริ่มพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ ในแต่ละวัน ในแต่ละรูป มุมมองต่าง ๆ ความกลัวน่าจะหมดไปตั้งแต่รูปแรกแล้ว” 

อยากบอกอะไรกับคนที่ยังกลัวอยู่

“ถ้าคิดอยากจะทำงานศิลปะอย่าไปนึกถึงกฏเกณฑ์ว่าถูกหรือผิด มองความรู้สึกตัวเองให้ชัดเจน แล้วก็มั่นใจว่าเราได้ทำมันด้วยความรู้สึกตรงนั้นจริง ๆ ไม่ได้ทำเพราะว่าอยากให้ใครชม แต่อยากให้เกิดจากความรู้สึกของเราจริงๆ ไม่ต้องพะวงว่าจะผิดหรือถูกเพราะว่าศิลปะมันเป็นอะไรก็ได้”

พอมีคนมาติดตามเราเยอะ ๆ แบบนี้ ต่อจากนี้พี่ตั้งเป้าหมายไหมว่าจะต้องถ่ายภาพวันละกี่ภาพ

“พี่ก็ถ่ายเหมือนเดิมปกตินะ เหมือนที่บอก กระแสมันดัง แต่พี่ไม่ได้ดัง พี่ก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม ถ้ามีเวลา มันเป็นความสุขของพี่ พี่ก็ต้องออกไปเดินถ่ายรูปเหมือนเดิม เป็นการเรียนรู้เรื่อย ๆ ส่วนภาพเคลื่อนไหวจะเอาพื้นฐานจากภาพนิ่งนี่แหละไปใช้ ถ้าวันหนึ่งมันเคลื่อนไหวขึ้นมา มุมแต่ละมุม ทุก ๆ ช็อตที่มันเคลื่อนไหวได้มันท้าทายมาก กล้องพี่มันก็ถ่ายวีดีโอได้อยู่ แต่พอถ่ายเสร็จกระบวนการต่อไปคือตัดต่อ เพราะถ้าเราถ่ายเองแล้วให้คนอื่นตัดต่อ ความรู้สึกหรือว่าจินตนาการหรือว่าเรื่องราวในหัวมันจะผิดเพี้ยนไป แต่ถ้าเราถ่ายเองอยากจะสร้างสตอรี่แบบไหนมันก็จะอยู่ในเรื่องราวเดียวกัน ในความรู้สึกเดียวกัน” 

คาดหวังให้คนที่มาดูในนิทรรศการนี้คิดอย่างไร

“ไม่ได้คาดหวัง มันเกินสิ่งที่พี่หวังแล้ว จริง ๆ ความสำเร็จของพี่มันจบตั้งแต่พี่กดชัตเตอร์แล้วได้ภาพที่ต้องการแล้วนะ นี่มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ พี่ ทุกวันนี้คือการเรียนรู้จริง ๆ”

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019 ณ Craftsman x บ้านอาจารย์ฝรั่งศิลป์ พีระศรี ถนนราชวิถี เชิงสะพานซังฮี้ จัดแสดงระหว่างวันที่ 8 – 31 มีนาคม 2562 เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 7.00 – 19.00 น. นอกจากนี้ยังเปิดจำหน่ายโปสการ์ดประชาสัมพันธ์นิทรรศการในราคาใบละ 20 บาท และโปสเตอร์ในราคา 100 บาท รายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะถูกนำไปบริจากให้กับภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อ “ช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการมองเห็น ให้สามารถมองเห็นโลกที่สวยงามได้เหมือนเดิม” ตามความตั้งใจของคุณเอก-พิชัย แก้วพิชิต 

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019


เรื่อง : นวภัทร
ภาพ : นันทิยา

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019ACCIDENTALLY PROFESSIONAL นิทรรศการจับนักวิเทศน์สัมพันธ์ วินมอไซค์ และกราฟิกดีไซเนอร์ มาเผยตัวตนอีกด้านที่บ้านอาจารย์ฝรั่งฯ