ปลูก ไม้เลื้อย ช่วยป้องกันฝุ่นและมลพิษได้นะ !

 ลักษณะเด่นของพรรณไม้ที่เรียกว่า “ ไม้เลื้อย ”  คือ เมื่อเติบโตขึ้นจะเลื้อยพันหรือพาดกับวัตถุหรือสิ่งพยุงใกล้เคียง บางชนิดให้เถาเลื้อยพร้อมดอกสวยงาม แต่อีกหลายชนิดแม้จะสวยแต่ก็เกะกะจนต้องตัดแต่งให้เข้าที่

ทำไมพรรณไม้ต้องทอดเลื้อย  เพราะเป็นการปรับตัวเพื่อให้ต้นและใบรับแสงแดดและอากาศ แข่งขันกับพืชอื่นในธรรมชาติ เพื่อให้ต้นเติบโตผลิดอกออกผล สืบพันธุ์ต่อได้ไม่สูญพันธุ์ไป  นี่คือสิ่งที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ได้ศึกษาพฤติกรรมการเลื้อยของพืช เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว และรวบรวมข้อมูลไว้ในหนังสือ “The Movements and Habits of Climbing Plants” ไม้เลื้อย

พวงแสด ไม้เลื้อย
พวงแสด ไม้เลื้อยที่ชอบอากาศเย็น หากปลูกในภาคกลางมักไม่ออกดอก

 

หัวใจแนบ ไม้เลื้อย
หัวใจแนบ ไม้เลื้อยที่เกาะเลื้อยด้วยรากยึดกับไม้ใหญ่

ไม้เลื้อยแต่ละชนิดมีอวัยวะที่ช่วยในการเลื้อยพันหลายแบบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งยกตัวอย่างเช่น  มือพันที่ม้วนงอ  (tendril) ซึ่งเปลี่ยนรูปมาจากใบ เช่น หนวดตำลึง แตงกวา ฟักทอง บางชนิดเปลี่ยนรูปจากปลายใบเช่น ปลายใบที่ม้วนงอของดองดึง เพื่อจับกับวัตถุได้  หรือเปลี่ยนรูปมาจากส่วนของลำต้น เช่น เสาวรส มะระขี้นก และบางชนิดเปลี่ยนรูปจากก้านใบเช่น เล็บวิฬาร์ หรือเหลืองชัชวาลย์  บางชนิดสร้างตะงอ (hook) ที่วิวัฒนาการจากก้านช่อดอก เพื่อเกี่ยวยึด เช่น การเวก กระดังงาจีน  หรือสร้างหนาม(stem thorn, stem spine) ที่พัฒนามาจากลำต้น กลายเป็นหนามที่โค้งงอ เช่น หนามกุหลาบ  หรือบางชนิดแตกรากพิเศษยืดเกาะกับวัตถุ เช่นตีนตุ๊กแก  พลูด่าง เป็นต้น หรือบางชนิดพัฒนาจากมือพันหรือรากพิเศษ เกิดเป็นปุ่มยึด(sticker) เช่น ปุ่มยึดของเถาองุ่น

ดองดึง ไม้เลื้อย
ดองดึง มีปลายใบม้วนงอเพื่อยึดกับสิ่งพยุง

 

แต่มีพืชอีกชนิดที่ไม่สร้างอวัยวะพิเศษแต่ปรับตัวด้วยการใช้ยอดเลื้อยพัน(twiner) เช่น  อัญชัน พวงแสด  หรือพาดพิงกับสิ่งพยุงใกล้ๆ และแตกกิ่งก้านเพื่อพยุงต้นไว้ เช่น เล็บมือนาง สายหยุด เฟื่องฟ้า เป็นต้น

สร้อยสยาม ไม้เลื้อย
สร้อยสยาม ไม้เลื้อยขนาดใหญ่ที่มีมือเกาะออกจากซอกก้านใบ

 

การเลือกปลูกไม้เลื้อยควรเลือกชนิดที่เหมาะกับพื้นที่บริเวณบ้าง หากมีพื้นที่แคบไม่ควรเลือกชนิดที่มีเถาเลื้อยขนาดใหญ่และโตเร็ว เช่น หิรัญญิการ์ การเวก ซ้องแมว รางจืด สร้อยอินทนิล ดาวประดับ ใบระบาด หากปลูกเลี้ยงควรได้รับแสงแดดตลอดวันและทำซุ้มหรือรั้วที่แข็งแรงให้เลื้อยพัน  กรณีที่มีแนวรั้วไม่ใหญ่นัก ควรเลือกชนิดที่เถาเล็กอย่าง พวงชมพู บานบุรี จันทร์กระจ่างฟ้า พวงนาก พวงแก้วมณี ผักบุ้งรั้ว มอร์นิ่งกลอรี่ หรือเป็นพืชกินได้อย่างอัญชัน  ดอกขจร  ถั่วพู ตำลึง แต่ถ้าพื้นที่เล็กและได้รับแสงน้อย ก็เลือกปลูกไม้ใบพวกพลูด่าง ฟิโลเดนดรอน หรือดีปลีก็ได้

ข้อดีของไม้เลื้อย หลักๆ ก็คือ ช่วยปกปิด หรือบดบัง รั้ว หรือสิ่งก่อสร้างให้ดูสวยงามขึ้น  ช่วยกรองฝุ่นละอองและมลพิษต่างๆ ได้ โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ใกล้กับถนน การปลูกไม้เลื้อยที่ออกดอกได้ตลอดปี เช่น พวงชมพู พวงคราม เฟื่องฟ้า บานบุรี ไว้ริมรั้ว ก็ช่วยลดดักและลดการกระจายตัวของฝุ่นละอองได้ดีเช่นกัน  บางชนิดยังให้ดอกหอมอย่างชมนาด มะลิ พวงแก้วกุดั่น  สร้อยฟ้า ราชาวดี แต่ควรหมั่นตัดแต่งทรงพุ่มอยู่เสมอ เพื่อให้ต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแน่นขึ้นก็จะช่วยกรองมลพิษได้ดีขึ้น และยังช่วยให้ออกดอกได้บ่อย  ทรงพุ่มไม่เกะกะรกรุงรังอีกด้วย

ไม้เลื้อย
ไม้เลื้อยช่วยบดบัง ผนังหรือกำแพงให้ดูสวยงามได้

 

 

พวงนาก ไม้เลื้อย
พวงนาก ไม้เลื้อยขนาดเล็กที่ปลูกเป็นไม้กระถางได้

 

ไม้เลื้อย ผักบุ้งรั้ว
ผักบุ้งรั้ว ไม้เลื้อยขนาดเล็กอีกชนิดที่ปลูกเลี้ยงง่าย เหมาะปลูกในพื้นที่เล็ก ออกดอกตลอดปี

 

ราชาวดี เป็นไม้รอเลื้อยให้ดอกหอม ทอดเลื้อยโดยลำต้นพาดกับรั้วหรือสิ่งพยุง

 

พวงคราม ไม้เลื้อยที่มีลำต้นขนาดใหญ่ ใบสากคาย ออกดอกช่วงปลายฤดูหนาว ปัจจุบันมีพวงครามออสเตรเลียที่มีต้นแคระและออกดอกดกเกือบตลอดปี

 

 ใครชอบไม้เลื้อย ลองเลือกชนิดที่ชอบไปปลูกกัน แต่อย่าลืมเลือกชนิดที่เหมาะกับขนาดพื้นที่บ้านด้วยนะคะ

ไม้เลื้อยประดับ
หนังสือ ไม้เลื้อยประดับ : Climber ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน

เรื่องที่น่าสนใจ