ปลูกมะเขือเทศ

เทคนิคปลูกมะเขือเทศ ให้อร่อยและออกผลเยอะ

ปลูกมะเขือเทศ
ปลูกมะเขือเทศ

มีโอกาสเยี่ยมชม โรงเรือนปลูกมะเขือเทศ ที่ MIDWINTER FARM เขาใหญ่ จึงได้ข้อมูลและเทคนิคดีๆ ในการจัดการต้นมะเขือเทศให้ได้ผลผลิตที่หวานกรอบอร่อย ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับการปลูกมะเขือเทศทั่วไปได้

โรงเรือนปลูกมะเขือเทศ ที่ MIDWINTER FARM เขาใหญ่ คุณภูษิต พันสาง ผู้จัดการฟาร์มให้ข้อมูลว่า โดยธรรมชาติแล้วมะเขือเทศชอบอากาศเย็น ที่นี่จึงมีการทดลองปลูกในโรงเรือนระบบ EVAP (Evaporative Cooling System) เพื่อลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้ต่ำกว่าด้านนอก 5-7 °c หลังจากเราลองทานมะเขือเทศที่ปลูกทั้งในและนอกโรงเรือนเปรียบเทียบกันพบว่ารสชาติต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากภายในโรงเรือนมีอากาศเย็น ส่งผลให้มะเขือเทศเนื้อแน่น น้ำน้อย และไส้น้อย ขณะที่มะเขือเทศที่ปลูกนอกโรงเรือนจะมีน้ำและไส้เยอะกว่า

 

โรงเรือนปลูกมะเขือเทศ
ปลูกมะเขือเทศในโรงเรือนโดยใช้เชือกขึงกับคานและจับต้นเลื้อยพันขึ้นไป ในโรงเรือนยังทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รี่ซึ่งเป็นพืชที่ชอบอากาศเย็นควบคู่ไปด้วย
โรงเรือนปลูกมะเขือเทศ
มะเขือเทศเป็นพืชที่มีใบหนาและใหญ่จึงทนต่อแรงลมได้ดีสามารถปลูกในโรงเรือนระบบ EVAP ได้

“อากาศเย็นทำให้มะเขือเทศค่อย ๆ โต กระบวนการสร้างเนื้อจะมากกว่าและแน่นกว่า ขณะที่ปลูกข้างนอกมะเขือเทศจะโตไว เนื้อฟ่าม มะเขือเทศเป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวต่อเนื่องได้ 6 เดือน การปลูกในโรงเรือนจึงสามารถให้ผลผลิตสม่ำเสมอตั้งแต่เดือนแรกถึงเดือนสุดท้าย”

ปุ๋ยกับมะเขือเทศ

มะเขือเทศเป็นพืชที่ทยอยออกผลผลิตให้เก็บได้ยาวนาน ในหนึ่งต้นจึงมีทั้งดอก ผลอ่อน และผลสุก การให้ปุ๋ยจึงไม่สามารถใส่ปุ๋ยตัวใดตัวหนึ่งได้ แต่ต้องใส่ทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมในสัดส่วนเท่า ๆ กัน  สำหรับการปลูกมะเขือเทศควรให้ต้นค่อย ๆ โต เพื่อให้มีอาหารสะสมภายในต้นได้มากกว่าต้นที่เร่งให้โตเร็ว สำหรับการทำโรงเรือน EVAP ยังมีประโยชน์ในแง่ของช่วยเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ อีกทั้งพืชยังได้รับแรงลมจากพัดลมด้านหลังโรงเรือนดึงอากาศผ่านแผงรังผึ้งด้านหน้าให้ไอน้ำกระจายทั่วโรงเรือน ความเร็วลมที่เหมาะสมกับพืชคือ 1-2 เมตร/ วินาที เมื่อมะเขือเทศโดนลมจะกระตุ้นการเปิดปากใบทำให้พืชคายน้ำมากขึ้น พืชจึงดูดน้ำและอาหารได้มากขึ้น

ทำไมต้องริดกิ่งและผลมะเขือเทศ

โรงเรือนปลูกมะเขือเทศ
หมั่นเด็ดกิ่งกระโดงระหว่างซอกใบออกเพื่อไม่ให้แย่งอาหาร
มะเขือเทศ
วิธีสังเกตว่าจะตัดผลแค่ไหนให้ดูขนาดผลที่ต่างรุ่นกันให้ตัดส่วนนั้นออก

เมื่อต้นมะเขือเทศโตเต็มที่สังเกตระหว่างกิ่งจะมีกิ่งกระโดงที่เรียกว่า “Sucker” ให้เด็ดทิ้งก่อนยาวมากกว่า 5 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้แย่งสารอาหารที่จะไปเลี้ยงผล รวมทั้งตัดแต่งใบแก่เพื่อให้มีการระบายอากาศดี ลดการเข้าทำลายของโรค โดยตัดแต่งในช่วงเช้า แสงแดดจะช่วยให้พืชรักษาแผลได้เร็วและป้องกันการเข้าทำลายของโรคผ่านทางบาดแผลได้

หากใครเคยไปฟาร์มมะเขือเทศอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องตัดผลมะเขือเทศออก แทนที่จะเก็บไว้เพื่อให้มีผลผลิตมาก ๆ ข้อนี้ได้รับคำอธิบายเพิ่มเติมว่าการจำกัดจำนวนผลของมะเขือเทศโดยตัดผลออกบางส่วน คงเหลือเพียง 12-15 ผลต่อช่อนั้น เพื่อให้ผลมีขนาดใหญ่และสม่ำเสมอ

โรงเรือนปลูกมะเขือเทศ
ช่อมะเขือเทศที่ตัดแต่งผลส่วนปลายออกทำให้ผลส่วนที่เหลือมีขนาดใหญ่ คุณภาพและรสชาติดีกว่า
โรงเรือนปลูกมะเขือเทศ

“การลิดผลทำให้เกิดบาดแผล เมื่อต้นมะเขือเทศรู้สึกกระทบกระเทือนจึงต้องส่งอาหารมาป้องกันแผล อาหารที่ส่งมาจะผ่านเข้าสู่ผลมะเขือเทศที่เหลือก่อนไปถึงยังแผล ทำให้มีผลมีคุณภาพดีขึ้น แต่หากเราปล่อยให้ผลส่วนปลายช่อโตขึ้นไปเรื่อย ๆ เนื้อเยื่อเจริญส่วนปลายยอดนี้จะมีฮอร์โมนชนิดหนึ่งสูงคือออกซิน (Auxin) ซึ่งจะยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนที่ช่วยในการสะสมและลำเลียงอาหารคือเอธิลีน (Ethylene) นึกภาพง่าย ๆ ว่าปลายช่อต้องการออกซินในการเติบโต ขณะที่ผลส่วนโคนช่อเริ่มแก่ต้องการเอทิลีนเพื่อเหนี่ยวนำให้แป้งกลายเป็นน้ำตาล ดังนั้นมันสวนทางกันหากปล่อยให้มะเขือเทศเติบโตตามธรรมชาติ ผลส่วนปลายช่อก็ลูกเล็ก ขณะที่ส่วนโคนช่อไม่หวาน สู้เราตัดลูกเล็กไปเลยเพื่อให้ได้ผลคุณภาพดีดีกว่า”

เทคนิคการเด็ดกิ่งและริดผลมะเขือเทศเป็นที่นิยมทำกันทั่วไป  ลองนำเกร็ดความรู้ง่าย ๆเหล่านี้ไปใช้กันดูรับรองว่าจะได้มะเขือเทศผลใหญ่และมีรสชาติอร่อยมากขึ้นกว่าเดิม

ขอขอบคุณข้อมูลและสถานที่ : MIDWINTER FARM เขาใหญ่ โทรศัพท์ 044-365-288

Facebook : midwintergreen

Instagram : midwintergreen

สนใจการทำโรงเรือนรูปแบบอื่น ๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน

หนังสือ Garden & Farm Vol. 10 โรงเรือนข้างบ้าน


เรื่องที่น่าสนใจ