มาทำความรู้จัก “ดอกบัว” กันเถอะ

บัว เป็นไม้น้ำประเภทที่อยู่เหนือน้ำคือมีรากอยู่ในดินใต้น้ำ ใบและดอกชูสูงขึ้นเหนือน้ำ บัวมีความสัมพันธ์กับมนุษย์มาช้านาน โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรม การดำรงชีวิต และศิลปะแขนงต่าง ๆ สำหรับชาวไทยเรานั้นมีการนำรูปดอกบัวมาสร้างเป็นลวดลายที่อ่อนช้อย นำเหง้าไหล และก้านดอกบัวมาประกอบอาหาร ซึ่งอุดมด้วยคุณค่าและสรรพคุณทางยา ส่วนดอกบัวก็นำมาใช้บูชาพระ  และปลูกประดับไว้ภายในบ้านเพื่อความสวยงาม

บัวมีกี่ชนิดกันนะ

บัวแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ

บัวหลวงหรือปทุมชาติ (Lotus)  เป็นบัวสกุล Nelumbo มีไหล (stolon) และเหง้า (rhizome) อยู่ใต้ดิน ใบรูปก้นปิด มีขนาดใหญ่ ก้านใบและก้านดอกมีหนามปกคลุม ดอกมีทั้งดอกซ้อนและดอกชั้นเดียว กลีบดอกกว้าง มี 3 สี คือ สีขาว ชมพู และเหลือง ใบและดอกชูขึ้นเหนือน้ำ

บัวอุบลชาติ (Water Lily) เป็นบัวสกุล Nymphaea ได้แก่  มีเหง้าใต้ดิน ใบลอยแตะผิวน้ำ มีรูปร่างหลายแบบ ไม่มีหนาม ดอกบานได้นาน 3 – 4 วัน กลีบดอกซ้อน โดยแบ่งตามถิ่นกำเนิดได้  2 กลุ่มคือ

♦ บัวที่มีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่นและเขตหนาว ได้แก่ อุบลชาติยืนต้น (Castalia Group, Hardy Type,Hardy Water Lily) หรือที่เรียกว่า “บัวฝรั่ง” มีเหง้าเลื้อยตามผิวดิน สามารถแตกหน่อได้และพักตัวในฤดูหนาว ขอบใบเรียบ ดอกมี 5 สี คือ สีขาว ชมพู แดง เหลือง และส้ม ดอกและใบลอยแตะผิวน้ำ ดอกบานตอนเช้าและหุบตอนบ่ายถึงเย็น ไม่มีกลิ่นหอม ติดเมล็ดยาก

♦ บัวที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและไม่พักตัวในฤดูหนาว เพียงแต่ออกดอกน้อยลง มีเหง้าเจริญเติบโตในแนวดิ่ง ขอบใบจักมนหรือเว้าแหลม ดอกมีหลายสี ชูขึ้นเหนือผิวน้ำ บานได้นาน 3 – 4 วัน แบ่งเป็น

บัวผันและบัวเผื่อน ดอกบานในช่วงเช้าจนถึงบ่าย และหุบในตอนเย็น กลิ่นหอมมาก ก้านใบและก้านดอกไม่มีขน ขอบใบจักแหลมหรือมนไม่เป็นระเบียบ

บัวสาย มี 3 สี คือ สีขาว ชมพู และแดงบานในตอนค่ำและหุบในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นส่วนใหญ่มักไม่มีกลิ่นหอม เว้นแต่บางชนิดมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ขอบใบจักถี่เป็นระเบียบ

จงกลนี มีเพียงชนิดเดียว ใบและดอกลอยแตะผิวน้ำ ขอบใบจักมนและแหลมไม่เป็นระเบียบกลีบดอกมีจำนวนมาก จึงดูเหมือนดอกบานตลอดวันแต่ไม่มีกลิ่นหอม

บัวกระด้ง หรือบัววิกตอเรีย (Royal Water Lily, Victoria) เป็นบัวในสกุล Victoria มีไหลสั้น ๆ เจริญเติบโตในแนวดิ่ง ใบใหญ่มาก ขอบใบยกตัวขึ้นคล้ายกระด้ง ลอยแตะผิวน้ำ บริเวณใต้ใบ ก้านใบและก้านดอกมีหนามแหลม ดอกขนาดใหญ่ สีขาวถึงชมพูเข้ม บานในช่วงกลางคืนและหุบในตอนเช้าส่งกลิ่นหอมแรง และบานอยู่ได้นาน 2 – 3 วัน

 ปลูกบัวกันไหม

ดินและอินทรียวัตถุใต้น้ำ ใช้ดินเหนียวตามท้องสวนท้องนา หรือใช้ดินปลูกบัวที่มีจำหน่ายทั่วไป แต่ไม่ควรใช้ดินถุงที่ใช้ปลูกไม้กระถาง เนื่องจากมีซากใบไม้ที่ยังไม่ย่อยสลาย อาจทำให้น้ำเน่าเสียได้ง่าย

แสงแดด ควรได้รับแสงแดดครึ่งวันถึงเต็มวัน แต่ถ้าปลูกในกระถางและได้รับแสงแดดตลอดวันต้องระวังอย่าให้น้ำแห้ง เพราะจะทำให้ใบหยาบกร้านหรือมีอาการใบไหม้ได้

น้ำ เป็นปัจจัยที่สำคัญ จึงไม่ควรเป็นกรด – ด่าง หรือเป็นน้ำบาดาลที่มีหินปูนมาก ส่วนระดับความลึก -ตื้นของน้ำขึ้นอยู่กับประเภทของบัว นอกจากนี้ความขุ่น – ใสและการไหลเวียนของน้ำยังมีผลกับการปลูกเลี้ยงในบ่อหรือสระน้ำ เพราะถ้าน้ำขุ่นและมีระดับน้ำลึกมาก  อาจทำให้เจริญเติบโตได้ไม่ดีนัก ถ้าน้ำมีการไหลเวียนตลอดเวลาอาจเป็นปัญหาทำให้ก้านบัวซึ่งบอบบาง อาจทำให้ก้านหักได้

สิ่งสำคัญคือ หมั่นเติมน้ำให้เต็มภาชนะอยู่เสมอ เด็ดใบแก่และเก็บซากใบไม้ผุในน้ำทิ้ง เพื่อป้องกันน้ำเสียอาจใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 10 – 10 – 10, 15 – 15 – 15 หรือ 16 – 16 – 16 ครั้งละ 1 ช้อนชา ทุก 1 – 2 เดือนโดยใส่ในกระดาษห่อหนังสือพิมพ์หรือใช้ดินเหนียวหุ้มเม็ดปุ๋ยแล้วฝังไว้ใต้ดิน หากเหง้าเจริญสูงขึ้นพ้นดินควรตัดเหง้าทิ้งบ้างหรือนำไปปลูกใหม่ เพื่อป้องกันรากลอย ซึ่งส่งผลทำให้ต้นโตช้าลงได้

ข้อมูลจาก คู่มือคนรักต้นไม้ ชุดที่ 5 บัวและพรรณไม้น้ำ

 

อ่านข้อมูลการปลูกบัวเพิ่มเติมได้ในหนังสือ บัว เล่มนี้ :