เตรียมบ้าน สร้างสุขให้คุณตาคุณยาย

พูดกันบ่อยๆ ว่า ในราวๆ 10-20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หมายความว่า สังคมหรือประเทศของเราจะมีจำนวนผู้สูงวัยมากกว่าคนในวัยอื่นๆ ซึ่งมีผลในด้านเศรษฐกิจและสังคมหลายประการ คิดว่าหลายคนคงได้อ่านบทวิเคราะห์ต่างๆ กันมาเยอะแล้ว

เมื่อในบ้านมีผู้สูงอายุ( รวมถึงผู้ทุพพลภาพ) การจัดสรรพื้นที่ต่างๆ ให้เหมาะสมและถูกวิธี จะช่วยให้สมาชิกทุกวัยในบ้านอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

การเตรียมการมีอะไรบ้าง มาดูกัน

ทางเดินและพื้นที่ใช้งาน บางครั้งคุณตาคุณยายอาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดินหรือรถเข็น จึงควรออกแบบทางเดินและพื้นที่ต่างๆ ให้เข้าถึงได้และปลอดภัย

ระยะของรถเข็นและทางเดิน

ที่จอดรถ ที่สะดวกสำหรับรถเข็นควรกว้างอย่างน้อย 2.40 x 6 เมตร และมีที่ว่างด้านข้างที่จอดรถอย่างน้อย 1 เมตรสำหรับเข็นรถ

parking001

ทางลาด ควรทำให้ลาดชันอย่างน้อย 1:12 เช่น พื้นสูง 1 เมตร ทางลาดควรยาว 12 เมตร เพื่อให้ผู้ใช้รถเข็นสามารถเข็นรถขึ้นลงเองได้ ปูพื้นด้วยวัสดุที่ไม่ลื่น เช่น ทรายล้าง กระเบื้องชนิดผิวหยาบ และทำราวกันตกทั้งสองข้าง ถ้ามีร่องหรือรางน้ำควรทำตะแกรงปิดให้พื้นเสมอกัน

slope030 บันได ใช้วัสดุปูพื้นที่ไม่ลื่น อาจทำสีที่จมูกบันได เพื่อให้มองเห็นระดับที่แตกต่างกันได้ชัดเจน มีราวจับทั้งสองข้าง คุณตาคุณยายเป็นผู้พิการทางการได้ยิน และทางขึ้นบันไดเป็นมุมอับ อาจติดกระจกเงาที่ผนังตรงข้ามกีบทางขึ้นลง ก็จะช่วยป้องกันการเดินชนกับคนที่เดินเลี้ยวมาขึ้นบันได

ราวจับ  ควรทำจากวัสดุผิวเรียบ ติดตั้งสูงจากพื้น 80-90 เซนติเมตร และห่างจากผนัง 4-5 เซนติเมตร แต่ถ้าผนังเป็นวัสดุผิวหยาบ ควรติดตั้งห่างอย่างน้อย 6 เซนติเมตร

handle010มือจับ สำหรับคุณตาคุณยายที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อาจไม่จำเป็นต้องติดล็อกประตู เผื่อฉุกเฉินจะได้เข้าไปช่วยทัน เลือกใช้มือจับแบบก้านโยก ซึ่งจับสะดวกกว่าแบบลูกบิด อาจติดสูงระดับปกติ คือ 1-1.20 เมตรและอาจติดราวกับใต้มือจับประมาณ 10 เซนติเมตรสำหรับคนนั่งรถเข็น

ประตู ควรกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร ปิดเปิดง่าย ไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์บังคับให้ปิดเอง เพื่อให้รถเข็นเข้าออกได้สะดวก หากเป็นประตูบานเปิด ควรมีที่ว่างหน้าประตู 1.50 x 1.50 เมตร เพื่อให้รถเข็นเบี่ยงหลบบานประตูได้

door010

door020

ห้องนอน คุณตาคุณยายมักเดินขึ้นลงบันไดไม่สะดวก จึงควรจัดห้องนอนให้อยู่ชั้นล่าง และคำนึงถึงเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้

bed20001 ตู้เสื้อผ้า ราวแขวนเสื้อควรสูง 1.20 เมตรเพื่อให้คุณตาหรือคุณยายที่รั่งรถเข็นหยิบได้ด้วยตัวเอง โต๊ะแต่งตัวควรสูงไม่เกิน 75 เซนติเมตร โดยมีพื้นที่ใต้โต๊ะสูงอย่างน้อย 60 เซนติเมตร เพื่อให้รถเข็นสอดเข้าได้สะดวก

02 เตียงเสริม แนะนำให้เตียงพื้นที่วางเดย์เบดหรือโซฟาเบดเผื่อไว้ในยามเจ็บป่วย ซึ่งต้องมีผู้ดูแลนอนเฝ้า และมีมุมเล็กๆ วางขวดน้ำและยาประจำตัวให้มองเห็นได้ชัดเจนและหยิบใช้สะดวกbed010

03 ติดสวิชต์ฉุกเฉิน ไว้ในระดับที่มือเอื้อมถึง โดยติดตั้งบริเวณเตียงนอนและห้องน้ำ ซึ่งมีทั้งระบบที่ติดตั้งขณะสร้างบ้านและระบบที่ติดตั้งภายหลังได้

04 เตียงนอนสำหรับผู้สูงอายุ ควรสูงประมาณ 55-60 เซนติเมตร เพราะทำให้ลุกนั่งสะดวก

05 ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีเหลี่ยมมุมน้อย มีหน้าบานปิดเพื่อกันฝุ่น ระดับความสูงที่ยืนหยิบได้สะดวก และเลือกมือจับแบบก้านโยก เพื่อให้จับได้ง่ายกว่าแบบฝังหรือมือจับในตัว เพราะอาจเป็นเหตุให้หกล้มได้

06 เพิ่มแสงไฟบริเวณทางเดินและจุดเปลี่ยนระดับ โดยติดตั้งสูงจากพื้น 25-30 เซนติเมตร ก็จะทำให้มองเห็นได้ง่ายและไม่รบกวนสายตา

 ห้องน้ำ ตุณตาคุณยายหลายคนมักลื่นในห้องน้ำ เนื่องจากพื้นเปียก เพราะไม่แบ่งพื้นที่ใช้สอยในห้องน้ไ หรือลื่นล้มเพราะไม่มีที่ยึดเกาะ จึงควรป้องกันไว้ก่อน รวมถึงเตรียมพื้นที่สำหรับรถเข็นไว้ด้วยbath010

01 หลีกเลี่ยงพื้นต่างระดับ หากต้องทำพื้นต่างระดับ ควรทำพื้นลาดเอียง และใช้วัสดุที่มีสีหรือผิวสัมผัสแตกต่างกัน เพื่อให้สังเกตง่าย

02 ประตูเปิดง่าย ประตูแบบที่ใช้งานสะดวกที่สุดคือ ประตูบานเลื่อน ทางเข้าควรมีความกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร หากเป็นแบบบานเปิด ควรเปิดออกนอกห้องน้ำ เพราะถ้ามีคนล้มขวางอยู่ด้านในจะได้เปิดประตูได้ รวมทั้งใช้มือจับแบบก้านโยกและปุ่มล็อกที่สามารถปลดล็อกจากด้านนอกได้

03 มีพื้นที่ให้รถเข็น ให้รถเข็นสามารถหมุนตัวกลับได้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร

04 ปูพื้นด้วยวัสดุที่ไม่ลื่น เช่น กระเบื้องผิวหยาบหรือกระเบื้องโมเสกชิ้นเล็กๆ อาจเพิ่มแถบกันลื่นหรือทาน้ำยากันลื่น และทำพื้นให้เรีบไม่เป็นแอ่งขังน้ำ โดยเฉพาะในส่วนเปียก

05 ที่นั่งอาบน้ำ อาจทำเป็นคอนกรีตกรุหินหรือกระเบื้องสูง 40 เซนติเมตรลบมุม ทั้งยังใช้นั่งขัดเท้าหรือยืนพาดเท้าได้ด้วย

06 ใช้อ่างล้างหน้าแบบแขวน เพื่อให้รถเข็นสอดเข้าได้สะดวก โดยมีความสูงไม่ต่ำกว่า 75 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 80 เซนติเมตร ใช้ก๊อกน้ำแบบมีก้าน ไม่ว่าจะเป็นก้านโยก ก้านกดหรือก้านหมุนอัตโนมัติ เพื่อให้ใช้งานได้สะดวก

07 มีราวจับพยุงตัว ติดตั้งในจุดที่จำเป็น ได้แก่ บริเวณอ่างล้างหน้า โดยติดราวจับแนวดิ่งทั้งสองข้างของอ่างหรือราวจับแนวราบสูง 75-80 เซนติเมตร บริเวณโถส้วม ด้านที่ติดผนัง โดยใช้ราวจับรูปตัวแอล (L) ด้านที่ไม่ติดผนังใช้ราวจับแบบพับเก็บได้แบบแนวราบและมีระบบล็อก เพื่อให้เข้า-ออกสะดวก โดยติดตั้งสูง 70 เซนติเมตร บริเวณอาบน้ำ ควรติดตั้งราวจับทั้งแบบแนวดิ่งและแนวราบ

ข้อมูลจาก คู่มือการจัดและตกแต่ง Family home การออกแบบเพื่อคนทุกวัยในบ้าน
ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์ บรรณาธิการ   คณาธิป จันทร์เอี่ยม ภาพประกอบ

สงวนสิทธิ์ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้งจำกัด ใช้เพื่อเผยแพร่ทางอินเตอร์เนต ห้ามทำซ้ำ ดัดแปลงด้วยวิธีการอื่นใด โดยไม่ได้รับอนุญาต