ซาชิโกะ การปักผ้าแบบญี่ปุ่น

ซาชิโกะ (刺し子) เป็นรูปแบบการเย็บด้วยมือของชาวญี่ปุ่นโบราณ ซึ่งใช้วิธีเย็บแบบง่ายๆ คือการด้นตะลุย (Running Stitch) เป็นลวดลายซ้ำๆ หรือสานกันเป็นลวดลายต่างๆ คล้ายงานปักด้นของชาวไทยภูเขาในบ้านเรา

สันนิษฐานกันว่ามีที่มาจากการเย็บผ้าหลายๆ ชั้นให้ติดกัน (ควิลต์) เพื่อให้ใช้งานได้ทนทาน ป้องกันความหนาวเย็น ฯลฯ เนื่องจากเนื้อผ้าที่ทอผ้าใช้ในครัวเรือนแบบดั้งเดิมไม่แข็งแรง ทนทานเช่นปัจจุบัน  ต่อมาจึงพัฒนาลวดลายออกไปมากมาย จนกลายเป็นงานเย็บปักที่แพร่หลายทั่วไป  โดยเฉพาะในหมู่สตรีที่อยู่ตามท้องไร่ ท้องนาและผู้ใช้แรงงาน ได้นำเอางานปักซาชิโกะมาใช้ซ่อมแซมเสื้อผ้าและของใช้ เช่น ฟูก หมอน ผ้ากันเปื้อน เสื้อคลุม ที่เรียกว่า Boro (แปลว่า ผ้าขี้ริ้ว) ซึ่งใช้การปะผ้าที่รอยขาดบนเสื้อผ้า ซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง เราจึงคุ้นกับงานปักซาชิโกะที่ปักด้วยด้ายสีขาวบนผ้าพื้นสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งชาวไร่ ชาวนาและคนใช้แรงงานสวมใส่กัน (ในสมัยเอโดะห้ามคนใช้แรงงานสวมเสื้อผ้าสีสด ส่วนคนในชนบทนิยมย้อมผ้าเป็นสีน้ำเงินเข้มก็เพราะทนทาน บ้างก็ว่าไล่แมลงต่างๆ)

ลายปักซาชิโกะส่วนใหญ่มักมีรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งใช้วิธีด้นตะลุยได้ง่าย ลายมีทั้งที่ดัดแปลงจากลายปักของจีน และได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติรอบตัว เช่น ลายคลื่น ลายภูเขา ลายต้นสน ลายเมล็ดข้าว ฯลฯ

การปักใช้เข็มและด้ายที่ผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะ ด้ายส่วนใหญ่ทำจากฝ้ายควั่นเป็นเส้นกลม ปัจจุบันประยุกต์ไปใช้ผ้าและด้ายปักสีต่างๆ แบบที่ใช้ปักผ้าทั่วไป เช่น DMC, Anchor,Venus ฯลฯ เบอร์ 5 , เบอร์ 25  รวมถึงออกแบบลวดลายแปลกๆ ใหม่ๆ มากมาย แต่ยังคงหลักการปักด้วยการด้นตะลุยเหมือนเดิม

เทคนิคการปักซาชิโกะ แม้จะใช้แค่การด้นตะลุย แต่ก็ต้องมีเทคนิคในการปักเหมือนกัน
การเริ่มต้นและจบการปัก สามารถใช้วิธีทำปมด้าย หรือทิ้งปลายด้ายไว้เพื่อสอดเก็บที่ฝีเข็มด้านหลัง  
การปัก ในแต่ละแพตเทิร์นมีลำดับการปัก  ได้แก่ เส้นตั้ง เส้นนอน เส้นทะแยง ตามลำดับ และใช้วิธีโยงเส้นแต่ละแนวโดยไม่ต้องตัดด้ายเพื่อขึ้นต้นใหม่  ยกเว้น ในกรณีที่ไม่ทำผ้าปิดด้านหลัง  ต้องทำปมแล้วขึ้นใหม่หรือใช้วิธีเย็บซ้อนกับฝีเข็มที่เดิม


เคล็ด (ไม่) ลับ
การปักมุม ปลายฝีเข็มต้องชนกันเป็นมุมฉาก หรือมุมแหลม ขึ้นอยู่กับแบบ
การปักที่จุดตัด จะไม่ปักตัดกันเป็นกากบาท แต่จะปักให้ปลายฝีเข็มชนกัน ยกเว้น ลายปักกากบาท
ปักด้วยฝีเข็มที่สม่ำเสมอ ขนาดฝีเข็มไม่กำหนด ขึ้นกับจังหวะของแต่ละคน ถ้าจะให้สวย 1 ซม.ควรมี 3 ฝีเข็ม สำหรับมือใหม่อาจยากนิดนึง แต่ปักสักพักจะสม่ำเสมอไปเอง
ความตึงหย่อนของฝีเข็ม เวลาดึงด้าย ไม่ต้องออกแรงมาก  ถ้าดึงตึงมาก ผ้าจะย่น ไม่สวย


ตัวอย่างการปักจากหนังสือ Sashiko งานปักผ้าแบบญี่ปุ่น บนเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน โดย เคียวโกะ คะนะซะวะ สำนักพิมพ์บ้านและสวน

Sewingmania – เขียน