ONE NIMMAN นิยามย่านจับจ่ายแห่งใหม่บนถนนนิมมานเหมินท์

ณ เวลานี้ บนสี่แยกรินคำ จังหวัดเชียงใหม่ เพิ่งปรากฏย่านจับจ่ายที่เรียกกระแสฮือฮาจากสังคมได้ไม่น้อย  เมื่อกลุ่มอาคารอิฐมากเอกลักษณ์อย่าง One Nimman ” กำเนิดขึ้นในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ใจกลางเมือง และสร้างชื่อจนเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วจากกลุ่มคนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

1.

One Nimman ตั้งชื่อตามที่ตั้ง ซึ่งตั้งอยู่ติดกับถนนนิมมานเหมินท์ซอย 1 โดยรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรม คอนเซ็ปต์ และการวางผัง ผ่านฝีมือการออกแบบโดยสถาปนิกอาวุโสอย่าง คุณองอาจ สาตรพันธุ์

โดยสถาปนิกได้ให้ข้อมูลไว้ว่า

One Nimman เป็นโครงการ Mixed-Use ในเขตชุมชนใจกลางเมืองเชียงใหม่ จุดประสงค์หลักคือการสร้างถนน และจัตุรัส (Square) สำหรับผู้คน พร้อมกับถนนคนเดินที่มีหลังคากระจก (Galleria) เพื่อบังอาคารจอดรถขนาดใหญ่ซึ่งมีอยู่เดิม โดยทางเดินนี้จะเชื่อมระหว่างจัตุรัส 2 แห่ง ที่ได้รับการออกแบบไว้เข้าด้วยกัน

“จุดเด่นของโครงการคือจัตุรัส (Public Square) และตลาดสำหรับจัดงานต่าง ๆ โดยตลาดนี้มีต้นแบบมาจาก Market Hall ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ที่สร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 13 เหตุผลที่เลือกต้นแบบนี้ก็เพราะมีความเรียบง่าย พร้อมทั้งสัดส่วนที่งดงาม โดยมีหอนาฬิกาเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญ”

สถาปัตยกรรม One Nimman ณ จังหวัดเชียงใหม่

สถาปัตยกรรม One Nimman ณ จังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ สถาปนิกยังกล่าวว่า สถานที่ได้ต้นแบบมาจากสถาปัตยกรรมที่เปี่ยมวัฒนธรรมในภูมิภาคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเนปาล จีน รวมถึงช่องทางเดินที่มีเสาเรียงรายที่เรียกว่า “Colonnade” ซึ่งมีต้นแบบมาจากถนน Rivoli ในกรุงปารีส ทั้งหมดนั้นผ่านการผสมผสานกันให้กลมกลืนลงตัว โดยต้องการให้ดูแล้วรู้สึกว่าโครงการตั้งอยู่ ณ สถานที่นี้มาเนิ่นนาน ไม่โดดเด่นออกจากชุมชนที่อยู่รอบ ๆ จนเกินไป

“ย่านนิมมานเหมินท์ขาดบุคลิก อาคารต่าง ๆ ได้รับการพยายามทำให้แปลกเพื่อเรียกความสนใจ ผลคือเกิดภาพรวมที่สับสน ระคายสายตา โครงการนี้จึงพยายามสร้างอาคารที่แม้จะแตกต่าง แต่มีวินัย ที่สำคัญคืออยู่ในแนวถนนเพื่อความเป็นระเบียบ

“เรามีความหวังว่าโครงการนี้จะเป็นตัวอย่างสำหรับการสร้างอาคารในอนาคต ที่เน้นความสำคัญกับคนมากกว่ารถยนต์ พร้อมทั้งสร้างความเป็นระเบียบให้กับเมือง”

สถาปัตยกรรม One Nimman ณ จังหวัดเชียงใหม่

สถาปัตยกรรม One Nimman ณ จังหวัดเชียงใหม่

 

 2.

“ไม่ใช่ห้าง และไม่ใช่คอมมูนิตีมอลล์

“ผมว่าที่นี่เป็น “Place” มากกว่า ไม่อยากนิยามว่ามันคืออะไร เราเคยคิดว่าที่นี่คือ “Village” หรือเปล่า? แต่ก็ไม่ใช่ เพราะคนที่เข้ามาเขาไม่จำเป็นต้องช็อปปิ้ง แต่เข้ามาเพราะรู้สึกว่าที่นี่น่าเข้ามา รู้สึกว่าตรงนี้สบายและน่าเดิน”

คุณร่ม สังขะวัฒนะ Managing Brand Director แห่งบริษัทออกแบบแบรนดิ้ง ROM DESIGN ผู้ออกแบบคอนเซ็ปต์ด้านแบรนดิ้งให้สถานที่แห่งนี้ ได้ให้ข้อมูลว่าต้องการนิยามภาพลักษณ์ของที่นี่ให้มีความเป็นสากลทันสมัย หรือเปรียบเหมือนเป็น “Global Destination” โดยยังคงให้ความสำคัญกับความดั้งเดิม รวมถึงผสมผสานความเป็นท้องถิ่นเข้ากับวิถีชีวิตยุคใหม่

สถาปัตยกรรม One Nimman ณ จังหวัดเชียงใหม่

สถาปัตยกรรม One Nimman ณ จังหวัดเชียงใหม่

“ที่นี่มีการปะทะกันของความเป็น “Local” กับ “Modern” จริง ๆ จะเห็นว่าพื้นที่รีเทลไม่ได้เน้นการขาย แต่เน้นการเป็นศูนย์กลางของชุมชน ส่วนในแง่ของธุรกิจนั้นอาจจะบอกว่าที่นี่ไม่ได้ตอบโจทย์ขนาดนั้น แต่สถาปนิกมีวิสัยทัศน์ที่ดีกว่า นั่นคือการมอบบางสิ่งบางอย่างกลับคืนสู่ชุมชน

One Nimman ขายเรื่องวัฒนธรรม แต่ก็คงได้ไม่มากนัก อาจเป็นเพราะโลเกชันที่ทำให้ที่นี่มีความเป็นพาณิชย์หรือ “Commercialize” ได้ง่าย เนื่องจากจริง ๆ แล้ว ถนนนิมมานเหมินท์ก็ไม่ได้มีความเป็นท้องถิ่นมากนัก แต่เมื่อได้งานสถาปัตยกรรมเข้ามา ก็ช่วยดึงบรรยากาศท้องถิ่นกลับมาได้ พร้อมกันนั้น พื้นที่ก็ยังจำเป็นต่อการค้าขาย จะเรียกว่า “LOCATION IS KING” ก็ได้ ซึ่งมันก็เป็นหัวใจของรีเทลดีไซน์อยู่แล้ว”

สถาปัตยกรรม One Nimman ณ จังหวัดเชียงใหม่

สถาปัตยกรรม One Nimman ณ จังหวัดเชียงใหม่

หากใครได้ไปเยือนสถานที่แห่งนี้ก็จะพบว่าพื้นที่ลานโล่งและทางเดินที่เปิดโล่งเป็นอิสระบริเวณชั้น 1 นั้นคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจำนวนไม่น้อยทั้งกลางวันและกลางคืน ขนาบสองข้างทางด้วยเหล่าร้านค้า และคาเฟ่ที่ผสมผสานแบรนด์ของคนเชียงใหม่ กับแบรนด์ที่เน้นศิลปะและงานดีไซน์เกาะกลุ่มอยู่รอบ ๆ

ในขณะที่ชั้น 2 ถูกวางบทบาทให้เป็นพื้นที่ช็อปปิ้งแบบ “Vat Refund” มีการจัดร้านค้าโดยแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ เช่น ร้านขายเครื่องสำอางและประทินผิว กระเป๋าเครื่องประดับ เสื้อผ้า ของที่ระลึก ปิดท้ายด้วยอาหาร ขนม และของฝาก โดยกำหนดทางเดินเป็นแบบ “One Way” จะลงกลางทางหรือถอยออกไปยังทางเดิมไม่ได้

หากเทียบกันแล้วชั้นของสินค้าที่ระลึกนี้ จึงนับได้ว่าแตกต่างจากพื้นที่บริเวณชั้น 1 โดยสิ้นเชิง รวมถึงยังมีแนวทางการเลือกสินค้าและการออกแบบเพื่อตอบสนองนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะ

สถาปัตยกรรม One Nimman ณ จังหวัดเชียงใหม่

สถาปัตยกรรม One Nimman ณ จังหวัดเชียงใหม่

สถาปัตยกรรม One Nimman ณ จังหวัดเชียงใหม่

 

3.

“ปัญหาของที่นี่คือมีความเป็นพาณิชย์ครอบอยู่บนความเป็นศิลปะ วิสัยทัศน์จริง ๆ ของที่นี่คือแหล่งรวมอาร์ติส และผลิตภัณฑ์จากชุมชน แต่เมื่อทำออกมาจริง ๆ แล้ว กลับมีความเป็นคอมเมอร์เชียลมากกว่า”

คุณร่ม สังขะวัฒนะ ให้ความคิดเห็นเรื่องความท้าทายของการสร้างพื้นที่ทางธุรกิจ หรือ Retail Space ที่เกิดการปะทะกันระหว่างศิลปะวัฒนธรรมกับการนำรายได้เข้าสู่โครงการ รวมถึงกระแสการท่องเที่ยวที่เข้ามาปะทะกับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เข้มข้นของเมืองเชียงใหม่ จนนำมาสู่คำถามที่ว่า พื้นที่แบบใดกันแน่ที่จะตอบโจทย์ได้แบบถูกต้องที่สุด

คุณร่มอธิบายว่า

Authentic – Craft – Sustainable – Ethical – Local เป็นคำจำกัดความที่เราใช้คัดเลือกร้านค้าต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในโครงการ แต่พอใช้จริงกลับไม่ค่อยลงตัว เพราะผู้ทำงานคราฟต์ หรือผู้ผลิตสินค้าที่มีความเป็นพื้นถิ่น เขากลับมองว่าไม่สามารถรับมือกับค่าใช้จ่ายอัตราสูงในการที่เข้ามาขายสินค้าในเมืองได้”

สถาปัตยกรรม One Nimman ณ จังหวัดเชียงใหม่

สถาปัตยกรรม One Nimman ณ จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อหน้าที่ใช้สอยถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างจนไม่อำนวยต่อการเปิดเป็นศูนย์กลางงานคราฟต์ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชนท้องถิ่นแท้ ๆ  สถาปนิกผู้ริเริ่มโครงการจึงตัดสินใจประกาศถอนตัวออกไป ต่อเรื่องนี้ สถาปนิกได้ให้ความคิดเห็นไว้ว่า

สิ่งสำคัญคือต้องทำให้คนในท้องที่สนใจมาเดินก่อน ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายไปที่นักท่องเที่ยว ถ้าหากคนในท้องที่ยอมรับ ที่นั่นจะเกิดบรรยากาศของความเป็นท้องถิ่น สิ่งนั้นจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเอง เพราะเขาต้องการหาประสบการณ์จากคนท้องถิ่น อยากสัมผัสว่าคนท้องถิ่นจับจ่ายอะไร บริโภคที่ไหน ไม่ได้ต้องการมาที่โครงการที่ทำเพื่อขายนักท่องเที่ยว

“เราเห็นว่าสิ่งที่ต้องคำนึงคือสร้างเอกลักษณ์และบรรยากาศให้โครงการเพื่อดึงคนเข้ามา แล้วสินค้าจะขายได้เอง ถ้าเราไม่ยัดเยียดให้เขาซื้อ ยุคนี้คนสามารถซื้อของได้หลายทาง Retail Space ควรจะทำหน้าที่โปรโมตและสร้างภาพลักษณ์ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ผู้คนสามารถสัมผัสได้ แล้วสิ่งนั้นจะช่วยให้เพิ่มมูลค่าของธุรกิจและผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น”

บทสรุปของ One Nimman ในวันนี้ ในแง่หนึ่งสถานที่จึงอาจยังเป็นส่วนผสมที่ไม่ลงตัวระหว่างแนวคิดฝั่งวัฒนธรรมท้องถิ่นกับการทำรายได้ที่มาพร้อมกับการท่องเที่ยว ที่สุดแล้ว ชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจไม่มีจริง หากจะมีข้อสรุปใดเป็นคำตอบ สิ่งนั้นคงเป็นเรื่องของ “เวลา” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า สถานที่นี้กำลังอยู่บนเส้นทางของการพิสูจน์ที่ยังคงไม่สิ้นสุด


เรื่อง กรกฎา

ภาพ ศุภกร

ภาพประกอบ ROM Design

อ่านต่อ

สถาปัตยกรรมท้องถิ่น

SUSTAINABLE DESIGN 4 สถาปัตยกรรมท้องถิ่น ที่ส่งเสริมความยั่งยืนในชุมชน

 

กลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค เป็นผู้ชนะการประกวดออกแบบ Suvarnabhumi Airport Terminal