ซ่อมเก้าอี้ไม้

ซ่อมเก้าอี้ไม้เก่า เปลี่ยนเก้าอี้สมัยคุณป้าให้ดูน่าใช้

ซ่อมเก้าอี้ไม้
ซ่อมเก้าอี้ไม้

ซ่อมเก้าอี้ไม้เก่า เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำเพราะยุคนี้เป็นยุคแห่งการประหยัด สิ่งใดที่ทำเองได้ย่อมถือเป็นเรื่องน่ายินดี

หากมีเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าซึ่งเป็นสมบัติตกทอดมาตั้งแต่สมัยคุณปู่ย่ายังหนุ่ม ๆ และไม่ได้ใช้งานแล้วเนื่องจากเนื้อไม้แตกร้าวหรือเสียหาย แนะนำให้ลองนำมาปัดฝุ่นเพื่อซ่อมแซมหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนต่าง ๆ ดู เพราะถ้าแก้ไขได้ใกล้เคียงกับของเดิมก็เหมือนกับเราได้เฟอร์นิเจอร์ตัวใหม่มาฟรี ๆ และนี่คือตัวอย่างหนึ่งของการซ่อมเก้าอี้ไม้เก่าให้กลับมาใช้งานได้ดีดังเดิม

เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็น

  • ค้อนหงอน
  • สิ่ว
  • เกรียงโป๊สี
  • คัตเตอร์
  • แปรงทาสี
  • กระดาษทรายขัดไม้ (ทั้งแบบหยาบและแบบละเอียด)
  • กาวอุดไม้
  • เศษไม้และผงขี้เลื่อย
  • น้ำยาลอกสีและสีทาไม้

ขั้นตอนการทำงาน

ซ่อมเก้าอี้เก่า

1.นำแปรงปัดฝุ่นมาทำความสะอาดเก้าอี้ไม้ที่ต้องการซ่อมแซมเสียก่อน จากนั้นใช้น้ำยาลอกสีและเกรียงโป๊สีมาช่วยจัดการเก้าอี้ไม้เก่า(ใช้แปรงทาสีที่ไม่ใช้แล้วก็ได้)ทิ้งไว้สักครู่แล้วจึงใช้เกรียงโป๊ขูดลอกสีเก่าและสิ่งสกปรกต่างๆ  ให้หลุดออกไปจนหมด

ซ่อมเก้าอี้เก่า

ซ่อมเก้าอี้ไม้2.ซ่อมแซมชิ้นส่วนต่างๆ ที่ชำรุดเสียหายอาทิ ตีตะปูเสริมเพื่อให้โครงเก้าอี้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้นหรือถ้าเนื้อไม้มีรอยร้าวเพียงเล็กน้อยก็ให้ใช้กาวอเนกประสงค์หรือกาวร้อนมาหยอดลงที่รอยแยกของเนื้อไม้ก็ได้ และหากเนื้อไม้มีรอยแตก แต่ไม่กว้างนัก แนะนำให้ใช้ผงขี้เลื่อยผสมกับกาวแล้วคลุกเคล้าให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วจึงนำไปอุดรอยปริแตกตามจุดต่างๆ ของเก้าอี้ เพื่อช่วยป้องกันน้ำซึมเข้าเนื้อไม้

ซ่อมเก้าอี้ไม้

3.แต่ถ้าเนื้อไม้แตกหรือบิ่นมากให้หาเศษไม้ที่มีขนาดใหญ่กว่ารอยแตกมาเสริม โดยตกแต่งด้วยสิ่วหรือคัตเตอร์ให้มีขนาดพอดีกับช่องว่าง แล้วนำกลับเข้าไปใส่ในบริเวณที่เนื้อไม้หลุดหายไปแล้วยึดด้วยตะปูตัวเล็กหรือกาวอุดไม้

ซ่อมเก้าอี้เก่า

4.เมื่ออุดรอยแตกร้าวแล้วให้เริ่มขัดด้วยกระดาษทรายหยาบก่อนหนึ่งรอบ (ภาพที่ 5) จากนั้นจึงตามเก็บงานด้วยกระดาษทรายละเอียดอีกครั้งเพื่อให้ผิวของเก้าอี้เรียบเนียนเสมอกัน

ซ่อมเก้าอี้ไม้เก่า

5.เมื่อซ่อมแซมเก้าอี้ในหลายๆ จุดเรียบร้อยแล้วก็ให้ทำความสะอาดพื้นผิวอีกรอบหนึ่งเพื่อความสวยงาม และถ้าต้องการทำสีให้เฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าก็ให้ทาสีรองพื้นสัก1 – 2 รอบ เพื่อเคลือบเป็นฟิล์มป้องกันยางไม้ซึมออกมาจากนั้นจึงลงสีทับหน้า (สีจริง) ตามเฉดสีที่ชอบต่อไป

หมายเหตุ : สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการโชว์ลายไม้ให้ใช้วิธีทาสีซ้ำหลายๆ รอบ เพื่อให้ฟิล์มสีช่วยปกปิดลายไม้ที่ไม่สวยงาม หรืออาจเลือกใช้สีน้ำอะคริลิกสำหรับงานไม้โดยเฉพาะก็ได้ (ทาแล้วได้สีทึบแสง) ใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร

เรื่อง : “คันยิก้า” ภาพประกอบ : ศิลปกรรมบ้านและสวน

 


ซ่อมแซม เฟอร์นิเจอร์หลังน้ำท่วม

วัสดุทดแทนไม้ ราคาไม่แพงแถมใช้งานได้ดีอีกด้วย

รวมวิธีซ่อมเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน

เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x