A CLAY CAFE จุดนัดพบระหว่างความอร่อยกับงานคราฟต์

A Clay Cafe คาเฟ่น่ารัก ๆ ย่านสาทรจุดนัดพบระหว่างความอร่อยกับงานคราฟต์ เอาใจบรรดาคอกาแฟและเหล่าเซรามิกเลิฟเวอร์ทั้งหลาย

กับการรีโนเวทบ้านเก่าที่ผสานกลิ่นอายความเป็นยุโรปอายุกว่า 30 ปี ของครอบครัว คุณแหวน – พิราอร  อำนวยพรสกุล เจ้าของแบรนด์ A Clay Ceramic ให้กลายพื้นที่สร้างสรรค์และแหล่งแฮ้งเอ้าต์ใหม่ใจกลางเมือง ซึ่งประกอบด้วย 3 โซน คือ คาเฟ่ สตูดิโอ-พื้นที่เวิร์กชอปสำหรับทำเซรามิก และอาร์ตแกลเลอรี่ใช้จัดแสดงงานศิลปะของคุณแหวนและเพื่อน ๆ ศิลปิน

A Clay Cafe
หน้าร้านมีที่นั่งแบบเอ๊าต์ดอร์เอาใจคอกาแฟที่ชอบนั่งจิบกาแฟท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น

A Clay Cafe

บนพื้นที่ 250 ตารางเมตร  คุณกาจ-กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ สถาปนิกฝีมือดีจาก Physicalist คือผู้ลงมือเนรมิตบ้านเก่าหลังนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในบทบาทหน้าที่ใหม่ โดยที่ยังคงเก็บบรรยากาศความอบอุ่นของความเป็นบ้านไว้ แล้วปรับเปลี่ยนพื้นที่บางจุดให้มีฟังก์ชันเหมาะสมกับการใช้งาน เช่น ชั้นใต้ดินจากที่เคยเป็นพื้นที่ครัวและส่วนเซอร์วิสได้เปลี่ยนมาเป็นสตูดิโอและส่วนเวิร์กชอปสอนทำเซรามิก

A Clay Cafe
บรรยากาศในสตูดิโอเซรามิกบริเวณชั้นใต้ดิน มีไอเดียสุดคูลด้วยการนำวัสดุเก่ามารียูส อย่างการนำหน้าบานเหล็กดัดเก่ามาประกอบเป็นชั้นวางของในสตูดิโอ   
A Clay Cafe
พื้นที่อาร์ตแกลเลอรี่จัดแสดงผลงานของคุณแหวนและเพื่อน ๆ ศิลปิน โซนนี้เน้นตกแต่งด้วยธีมสีขาว ไม่ว่าจะเป็นผนังหรือฝ้าเพดานเพื่อช่วยขับเน้นผลงานศิลปะให้ดูโดดเด่นขึ้น

ส่วนพื้นที่ชั้น 1 และชั้นลอย เปลี่ยนจากส่วนห้องรับแขกและห้องนั่งเล่นมาเป็นคาเฟ่ และชั้น 3 จากพื้นที่ห้องนอนเดิมถูกเปลี่ยนให้เป็นอาร์ตแกลเลอรี่ เน้นให้ทุกพื้นที่สามารถเชื่อมต่อกันได้แบบพับลิค ผ่านการผ่าองค์ประกอบของบ้านเดิมให้ตอบสนองกับการเปิดเป็นคาเฟ่ โดยเฉพาะการรื้อผนังกั้นห้องเดิมออกเพื่อให้เกิดที่ว่างที่ต่อเนื่องกัน รวมถึงการสกัดพื้นด้านหลังอาคารออก เชื่อมสเปซให้เป็น Double Volume และเปิดช่องระบายอากาศให้แก่เตาเผาเซรามิก นอกจากนี้ยังสร้างคอร์ตด้านหลังที่มีเลเยอร์สานกันในเชิง Volume Space และ Activity ช่วยให้มองเห็นกิจกรรมของหลาย ๆ พื้นที่ได้ในคราวเดียว แถมยังดูปลอดโปร่งเปิดรับแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ 

A Clay Cafe

 ในขณะที่ของตกแต่งบ้านที่ยังดูสวยงามและบ่งบอกถึงยุคสมัยของตัวบ้าน ผู้ออกแบบยังคงเก็บรายละเอียดเหล่านั้นไว้เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟแชนเดอเลียร์  ช่องแสงรูปโค้งเหนือซุ้มประตูทางเข้าเดิม ราวกันตกไม้บริเวณบันได ฝ้าเพดานลวดลายนูนต่ำ ซุ้มประตูและลูกกรงระเบียงปูนปั้น รวมถึงเหล่าเหล็กดัดจำนวนมากที่รื้อมาจากห้องต่าง ๆ ก็ได้รับการนำมาดัดแปลงเป็นองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อตอบสนองการใช้งานใหม่ เช่น ชั้นวางของในสตูดิโอ หน้าบานตู้เก็บของหลังเคาน์เตอร์ และระแนงไม้เลื้อยบริเวณพื้นที่ด้านหน้าร้าน

A Clay Cafe
มุมมองจากบันไดบริเวณคาเฟ่ชั้นลอยสู่ทางเข้าหน้าร้าน ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นและสเปซโปร่งโล่ง

A Clay Cafe

A Clay
คอร์ตด้านหลังเกิดจากการสกัดพื้นออก เพื่อเชื่อมสเปซให้เป็น Double Volume และเปิดช่องระบายอากาศให้แก่เตาเผาเซรามิก เกิดเลเยอร์สานกันในเชิง Volume Space และ Activity ช่วยให้มองเห็นกิจกรรมในพื้นที่หลาย ๆ ส่วนได้ในเวลาเดียวกัน