HACHI Serviced Apartment

HACHI SERVICED APARTMENT สร้างเอกลักษณ์ภายนอกและแบ่งที่ว่างภายในด้วยทรงจั่ว

HACHI Serviced Apartment
HACHI Serviced Apartment

HACHI Serviced Apartment อาคารที่สร้างเอกลักษณ์ภายนอกและแบ่งที่ว่างภายในด้วยรูปทรงจั่ว

กลายเป็นเรื่องชินตาไปเสียแล้วเมื่อเรานึกถึงภาพของอพาร์ทเมนท์ทั่วไป ที่คลาคล่ำไปด้วยเครื่องอัดอากาศ หรือกระทั่งราวตากผ้าที่เกลื่อนกลาดไปด้วยชุดหลากสีริมระเบียง แต่สำหรับ HACHI เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ในซอยลาดพร้าว 3 แห่งนี้คือภาพจำที่ต่างออกไปจากสิ่งที่เราคุ้นเคยเมื่อเทียบกับรูปแบบอาคารในลักษณะเดียวกัน

HACHI Serviced Apartment
ชั้นล่างของอาคารเป็นสำนักงานเช่าของสถาปนิก และห้องประชุมกึ่งส่วนต้อนรับของโครงการ

HACHI เป็นอาคาร 5 ชั้น สร้างขึ้นบนที่ดิน 400 ตารางเมตร มีพื้นที่ใช้สอยราว 1,100 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องพักขนาดตั้งแต่ 26-44 ตารางเมตร จำนวน 34 ยูนิต ซึ่งเจ้าของโครงการและสถาปนิกต่างเห็นพ้องเรื่องความสำคัญในการจัดการปัญหาความไม่เรียบร้อยของหน้าอาคารให้สวยและต่างออกไปจากอพาร์ทเมนท์อื่นๆ

ด้านหน้าโครงการหันออกสู่ทิศใต้และติดกับถนนสาธารณะ สถาปนิกจึงออกแบบให้ระแนงไม้ทำหน้าที่บดบังสิ่งไม่น่าดูอย่าง Air Compressor และราวตากผ้า รวมถึงป้องกันความร้อนจากแดดช่วงบ่าย และเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อาศัยเนื่องจากบริบทที่ล้อมด้วยหอพักรอบทิศ

คุณธาวิน หาญบุญเศรษฐ สถาปนิกแห่ง Octane Architect & Design หนึ่งในดีไซน์ไดเร็กเตอร์ของโครงการนี้ บอกกับเราว่า “เจ้าของโครงการค่อนข้างให้อิสระและมีงบประมาณสูงพอสมควร มันก็เหลือแค่เรากับงานในการเผชิญหน้ากันว่าจะทำอย่างไรในโจทย์ที่เราได้รับมาซึ่งมีอิสระแล้วทำให้มันสวย แต่ด้วยข้อกฏหมายที่บังคับเรื่องความสูงและระยะร่นของอาคารมาเป็นตัวกำหนด ประกอบกับบริบทของโครงการที่มีหอพักลักษณะคล้ายๆ กันล้อมรอบอยู่ เราจึงต้องออกแบบให้อยู่ภายใต้ความคุ้มค่าในการลงทุนให้ได้มากที่สุด เพราะเจ้าของค่อนข้างลงทุนเยอะและอาจจะคืนทุนช้ากว่าคนอื่น”

HACHI Serviced Apartment
สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้ façade อาคารเป็นรูปทรงจั่ว เพื่อสร้างความแตกต่างจากอาคารข้างเคียงและฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสทั่วไป โดยเลือกทาสีผนังอาคารภายนอกและแผงอะลูมิเนียมด้วยสีดำ เพื่อขับเน้นให้สีของฟาซาดไม้ทรงจั่วลอยเด่นสะดุดตา ส่วนองศาของไม้ระแนงบิดเข้าและบิดออกสลับกันเพื่อสร้างจังหวะที่น่าสนใจ และการเลือกตำแหน่งกรอบสูงสลับกับกรอบเตี้ยช่วยเพิ่มความหลากหลาย ซึ่งไม่ทำให้ไม่น่าเบื่อหรือดูเป็นแพทเทิร์นจนเกินไป

ในการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกอาคาร สถาปนิกมองว่าโครงการบ้านจัดสรรส่วนใหญ่มักนิยมทำรูปทรงหลังคาเป็นทรงจั่ว ซึ่งทำให้คนทั่วไปเมื่อนึกถึงอาคารสำหรับพักอาศัยที่มีความเป็นบ้านจะนึงถึงสัญลักษณ์จั่วเป็นสิ่งแรก อีกทั้งบริบทรอบด้านที่ตั้งอยู่ในย่านลาดพร้าวเองยังเป็นย่านบ้านพักอาศัยเก่าแก่ ที่มีอาคารไม้หลังคาจั่วอยู่มาก สถาปนิกจึงเลือกใช้รูปทรงจั่วในการออกแบบ facade ในลักษณะกรอบระแนงไม้รูปทรงบ้านเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้ตัวอาคาร โดยเพิ่มมิติให้แต่ละกรอบแตกต่างกันเล็กน้อยด้วยความลึกที่ต่างกัน การบิดองศาของระแนงที่หันด้านต่างกัน และคละความสูงของกรอบระแนงไม้ที่ต่างกัน ทว่าเมื่อนำมารวมกันแล้วยังคงให้ความรู้สึกเสมือนเป็นชุมชนหมู่บ้านแนวตั้ง และได้ภาพลักษณ์ที่อบอุ่นเหมือนอยู่บ้านมากกว่าอยู่อพาร์ทเมนท์

สถาปนิกเลือกใช้ไม้เทียมจาก Casa Rocca ในส่วน façade อาคารที่ยื่นออกจากระเบียงที่ขั้นด้วยแผงอะลูมิเนียมสีดำ ซึ่งไม้เทียมที่เลือกใช้มีผิวสัมผัสที่ด้านเหมือนไม้ และมีคุณสมบัติที่เหมาะกับการใช้งานภายนอกอาคาร เนื่องจากทนต่อการเลียของแสงแดดซึ่งจะไม่ทำให้สีซีดจางเกิน 10% ในระยะเวลา 10 ปี อีกทั้งลดปัญหาเรื่องปลวกและการปิดงอของไม้อีกด้วย

ในส่วนการออกแบบภายใน สถาปนิกประยุกต์จากวิธีจัดการกับพื้นที่อยู่อาศัยระหว่างคนตะวันตกกับตะวันออก ที่เขามองว่ามีความแตกต่างกัน ในกรณีที่มีพื้นที่ใช้สอยเท่ากันและต้องการให้ดูกว้าง คนตะวันตกจะให้ space เปิดโล่งถึงกันมากที่สุด แต่คนตะวันออกจะออกแบบให้ Space แบ่งออกเป็นห้วงๆ ต่อกัน ซึ่งเขามองว่าน่าสนใจและสอดคล้องกับอาคารประเภทอพาร์ทเมนท์ จึงใช้วิธีนี้ในการออกแบบพื้นภายในทั้งหมด โดยการแยกที่ว่างออกจากกันด้วยซุ้มประตูรูปบ้านแบบเดียวกับ façade ภายนอก ทั้งในส่วนพื้นที่ระหว่างโถงทางเดินกับโถงบันได หรือที่ว่างในห้องพักส่วนห้องนอน ประตูทางเข้า และส่วนระเบียง

HACHI Serviced Apartment
ช่องทางเดินบริเวณโถงบันได สถาปนิกใช้การกรุผิววัสดุและใช้โทนสีแตกต่างกัน รวมถึงนำรูปทรงจั่วจาก facade ภายนอกเข้ามาใช้เป็นช่องประตูสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากที่ว่างหนึ่งไปยังที่ว่างหนึ่ง

HACHI Serviced Apartmentช่องทางเดินทรงจั่วที่แบ่งและเชื่อมพื้นที่ระหว่างโถงอาคารกับลิฟต์

HACHI Serviced Apartmentบริเวณโถงทางเดิน และส่วน Public Area ใช้วัสดุกรุผิวอาคารด้วยกระเบื้องยางลายไม้ที่ง่ายต่อการดูแลรักษาและทำความสะอาด ซึ่งให้โทนสีและความรู้สึกอบอุ่น สลับกับใช้กระเบื้องลายหินอ่อนที่ให้ความรู้สึกหรูหราทันสมัยในโทนสีขาวสบายตา

HACHI Serviced Apartment  HACHI Serviced Apartment

สถาปนิกเปรียบเปรยการออกแบบโครงการนี้เหมือนกับการแต่งตัว โดยเขาอธิบายว่า “เหมือนเราต้องไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงฤดูฝน เรารู้อยู่แล้วว่าจะต้องใส่ชุดที่กันฝนได้ หรือแต่งตัวโทนสีขาว แต่งานนี้คุณเหมือนได้ไปเที่ยวในที่ที่มันปลอดโปร่ง เหมือนมันเป็นความท้าทายที่คุณจะต้องแต่งชุดอะไรออกไป สถาปนิกหรือตัวคุณเองมีหน้าที่จะต้องคิดให้ได้ว่าจะออกแบบอย่างไรเพราะว่าอุปสรรคมันไม่มี ทั้งบริบทและเจ้าของโครงการมันทำให้เรามีอิสระ”

ซึ่งท้ายที่สุดผลลัพธ์ที่ได้ก็คือเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ที่แตกต่างจากบริบทที่มี โดดเด่น แต่ก็ไม่ถึงกับกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่แปลกปลอมในพื้นที่แต่อย่างใด

 

ดีไซน์ไดเร็กเตอร์ : คุณธาวิน หาญบุญเศรษฐ และ คุณกิตติชนม์ ภูเกียรติก้อง จาก WARchitect
ออกแบบ : คุณพศวัต อปริมาณ
เรื่อง : Nawapat D.
ภาพ : รุ่งกิจ เจริญวัฒน์

อ่านต่อ Property Review

oka HAUS สุขุมวิท 36 คอนโด สไตล์รีสอร์ตสำหรับคนเมือง