ฟื้นซากตึกแถวเก่าให้กลายเป็นบ้านพักอาศัยที่กลมกลืนไปกับบริบทเมืองสงขลา

เสน่ห์อย่างหนึ่งของเมืองเก่าสงขลาคือบรรดา ตึกแถวเก่า หลากหลายยุคที่เรียงรายอยู่ตลอดสองฟากฝั่งของถนนสายเก่าแก่เริ่มตั้งแต่ยุคจีนโบราณ จีนผสมไทย ชิโน -ยูโรเปียน อาร์ตเดโค และโมเดิร์นยุคแรกจึงเป็นเมืองที่น่าศึกษาวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมเป็นอย่างยิ่ง

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Pakorn Architect

เมื่อเจ้าของร้านอาหารชื่อดัง “ร้านข้าวสตูเกียดฟั่ง” ต้องการหาที่อยู่อาศัยใหม่สำหรับครอบครัว บรรดา ตึกแถวเก่า เหล่านี้จึงเป็นที่หมายตา ก่อนจะตัดสินใจซื้อตึกแถวไม้เก่าแก่อายุกว่า 100 ปีบนหัวมุมหนึ่งของถนนนางงาม ไม่ใกล้ไม่ไกลจากที่อยู่เดิม เพื่อปรับปรุงเป็นบ้านพักอาศัยใหม่และเผื่อเป็นร้านขายข้าวสตูในอนาคต

ตึกแถวเก่า
สภาพเดิมก่อนรื้อของตึกแถวเก่า

“ด้วยสภาพที่ทรุดโทรมมาก บ้านหลังนี้ได้ถูกรื้อทิ้งไป ซึ่งขณะนั้นสถาปนิกคนแรกพยายามจะสร้างกลับมาใหม่แต่ไม่สำเร็จ ความยากอยู่ที่ถ้าสร้างใหม่ เทศบาลมีข้อกำหนดให้เว้นระยะจากถนน 2 เมตร ทำให้พื้นที่ก่อสร้างไม่เพียงพอกับพื้นที่ใช้สอยที่ต้องการ”

คุณเป้ – ปกรณ์ เนมิตร-มานสุข สถาปนิกแห่ง PakornArchitect สถาปนิกรายที่ 3 ที่เข้ามารับผิดชอบออกแบบบ้านโบราณอันทรงคุณค่า กับความท้าทายของระยะร่น 2 เมตรตลอดความยาว 2 ด้านที่ติดถนนที่ทำให้พื้นที่ก่อสร้างหายไป จนดูเหมือนว่าบ้านหลังนี้จะไม่สามารถรื้อฟื้น หรือที่เรียกว่า “Reconstruction” กลับมาได้

ตึกแถวเก่า
มุมมองจากหน้าบ้านซึ่งหันหน้าสู่ถนนหนองจิก บริเวณที่ตัดกับถนนนางงาม จังหวัดสงขลา แสดงหน้าตาของตึกแถวสองแบบที่รวมกันเป็นบ้านหลังเดียว เป็นไอเดียสร้างความขัดแย้งแต่กลมกลืนกับบริบทของเมืองเก่าในเวลาเดียวกัน

“ไอเดียที่ปิ๊งขึ้นมาก็คือทำตึกปูนครึ่งหนึ่งและตึกไม้ครึ่งหนึ่ง โดยส่วนที่เป็นตึกปูนจะเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมเต็ม และมีพื้นที่มากกว่าส่วนที่เป็นชั้น 2 ของบ้านไม้สามารถใส่ฟังก์ชันห้องนอนและห้องน้ำที่ต้องปิดทึบให้อยู่ในตึกปูนทั้งหมด ส่วนฝั่งตึกไม้ออกแบบเป็นร้านค้าที่ยังคงเอกลักษณ์เดิมอย่างชั้นลอยหรือที่เรียกว่า ‘เหล่าเต๊ง’เอาไว้ ตรงนี้ผมเรียกว่า ‘ConservationPart’ คือคงไว้ซึ่งส่วนที่เป็นหัวใจหลักของบ้าน และดึงเอกลักษณ์นั้นให้กลับมาโดดเด่น ไม่ใช่แค่ชั้นลอย หลังคาก็ยังคงสัดส่วนเดิมไว้ทั้งหมด รวมถึงดีเทลต่าง ๆอย่างการเข้าไม้ก็พยายามอนุรักษ์ไว้ให้ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด”

ตึกแถวเก่า

ตึกแถวเก่า
ส่วนรับประทานอาหารที่ชั้น 1 ใช้ประตูเหล็กยืดทาสีน้ำตาลและบานเฟี้ยมเข้ากับบรรยากาศบ้านเพื่อให้เปิดประตูออกได้สุด รองรับพื้นที่สำหรับร้านข้าวสตูที่ขยายมาจากร้านเดิมของครอบครัวซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกล

หน้าตาเดิมของบ้านหลังนี้คือตึกแถวไม้หลังคาจั่วเต็มพื้นที่พร้อมชั้นลอยหรือ “เหล่าเต๊ง” สถาปนิกตัดสินใจรื้อฟื้นตึกแถวไม้ขึ้นมาเพียงครึ่งเดียว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งออกแบบให้เป็นตึกแถวปูนเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตแบบใหม่ของเจ้าของบ้าน โดยส่วนของตึกแถวไม้นั้นอาศัยรูปถ่ายที่หลงเหลือกับแบบแปลนเดิมที่พอมีอยู่ แล้วสร้างใหม่ให้กลับมาตรงตามสัดส่วนเดิมมากที่สุดส่วนตึกแถวปูนสถาปนิกอ้างอิงสัดส่วนและองค์ประกอบของอาคาร “ชิโน – ยูโรเปียน” ที่ปรากฏในเมืองมาออกแบบให้สัดส่วนตอบรับกับบ้านไม้ กลายเป็นตึกแถวปูนสีขาว 2 ชั้น แม้จะมีหน้าตาขัดแย้งกันเองแต่กลับดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบริบทโดยรอบอย่างแยกไม่ออก

ตึกแถวเก่า

ตึกแถวเก่า
“เหล่าเต๊ง” เป็นภาษาแต้จิ๋วแปลว่าชั้นบน ตามลักษณะของอาคารเดิมเหล่าเต๊งจะมีลักษณะโปร่งโล่งและมีผนังเพียงบางส่วนคล้ายชั้นลอย

“ขอเรียกว่าปรากฏการณ์ ‘Juxtaposition’ หรือการประจันหน้ากันของสองสิ่งที่แตกต่างกันมาก ๆ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์การผสมผสานที่เกิดขึ้นในเมืองเก่าอย่างสงขลาจริง ๆ แนวคิดนี้นอกจากจะตอบโจทย์เรื่องฟังก์ชันการใช้งานใหม่และการเก็บเสน่ห์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ของอาคารเดิมไว้อย่างเต็มที่แล้ว ที่นี่ยังเข้ากับบริบทของอาคารรอบ ๆ แม้จะเด่นด้วยดีไซน์ แต่ก็ไม่แปลกแยกจนเสียภาพความเป็นเมืองเก่า”

ความแตกต่างของวัสดุทั้ง 2 สไตล์เน้นถึงลักษณะการใช้สอยที่แตกต่างความโปร่งเบาของไม้ถูกใช้กับพื้นที่สาธารณะส่วนความทึบตันของปูนถูกใช้กับพื้นที่ส่วนตัวการปฏิสัมพันธ์กันของพื้นที่ วัสดุ และสไตล์ที่ต่างกัน สร้างความแปลกใหม่ให้การใช้สอยระหว่างสองสเปชที่แตกต่าง